“หอมละหนา” สร้างแบรนด์จากข้าว แตกไลน์ เพิ่มคุณค่า “สินค้าชุมชน”

สัมภาษณ์: คุณวริษา จิตใหญ่ (แม่หลวงเล็ก) ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านแป้นใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

วริษา จิตใหญ่ (แม่หลวงเล็ก) อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านแป้นใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ในชุมชน เป็นแกนนำพาชุมชนปลูกข้าวพันธุ์หอมล้านนา ที่มีความแตกต่างจากข้าวทั่วไป มีเมล็ดสีม่วงอมน้ำตาล บรรจุถุงจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “หอมละหนา” และข้าวกรอบแท่งผสมธัญพืช สบู่แบรนด์ Varis ล้วนต่อยอดมาจากข้าวหอมล้านนา นับเป็นแบรนด์ สินค้าชุมชน ที่มีเรื่องราวน่าสนใจยิ่ง

ดร.นงค์นาถ : ข้าวหอมพันธุ์ล้านนา เกิดขึ้นได้อย่างไร

คุณวริษา : เป็นพันธุ์ข้าวที่ทาง SCG นำมาให้ทาง ชุมชนบ้านแป้นใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ปลูกในพื้นที่นาที่แต่เดิมมีการปลูกข้าวทั่วไป ข้าวกล้อง ส่วนข้าวหอมพันธุ์ล้านนา เป็นข้าวที่พัฒนาสายพันธุ์ระหว่างข้าวหอมนิล และข้าวป่าออไรซานิวารา พัฒนาโดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โดยปลูก 2 แห่ง ที่บ้านสามขา อ.แม่ทะ และบ้านแป้นใต้ อ.แจ้ห่ม ข้าวหอมพันธุ์ล้านนา นี้มีเมล็ดสีม่วง – แดงอมน้ำตาล มีสารแอนโทไซยานินสูงกว่าข้าวหอมมะลิถึง 7 เท่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านและชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย มีกากใยอาหารสูง มีวิตามินสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ รับประทานแล้วไม่อ้วน มีจุดเด่นมากมาย ที่นำไปต่อยอดได้

ดร.นงค์นาถ : “แม่หลวงเล็ก” นำข้าวหอมล้านนา มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างไร มีอะไรบ้าง

คุณวริษา : เดิมที เรามีแค่ข้าวใส่ถุงธรรมดาขาย ต่อมามีบรรจุถุงสุญญากาศ และเราได้เข้าร่วมโครงการพลังชุมชนของเอสซีจี ในปี พ.ศ.2561 ตอนเข้ามาแรกๆ ก็ไม่คิดว่าจะต่อยอดได้อีกหลายๆ อย่าง แต่หลังจากการอบรมกับ ดร.พีระพงษ์ หรือ อาจารย์รี่ ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่ เราก็ได้มีการทำเป็นข้าวกรอบธัญพืช มีรสธรรมชาติ รสโกโก้ สามารถที่จะเอาไปทำเป็นท็อปปิ้งใส่ในอาหารอะไรต่างๆ ได้ ต่อจากนั้นก็จะมีข้าวกรอบแท่ง เป็นข้าวกรอบผสมธัญพืชหลายๆ ชนิด มีถั่ว งา น้ำผึ้ง เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายอีกด้วย

ดร.นงค์นาถ : เริ่มต้นสร้างแบรนด์ “หอมละหนา” อย่างไร

คุณวริษา : “หอมละหนา” ได้ชื่อแบรนด์มาจาก ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นผู้ตั้งให้ ซึ่งคำว่า “ละหนา” เป็นคำสร้อยที่แสดงถึงความเป็นลำปาง และคำว่า “หอม” นี้ ตื่นเช้ามาส่วนมากชาวบ้านก็จะหุงข้าว กลิ่นอายของข้าวก็จะหอมมาจากในครัวเรือน จึง เป็น “หอมละหนา”

ดร.นงค์นาถ : ภายใต้แบรนด์ “หอมละหนา” ล่าสุด มีแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์อะไรอีกบ้าง

คุณวริษา : มีข้าวกรอบธัญพืชที่เป็นแบบร่วนๆ ใส่กระป๋อง เหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ รับประทานกับนมหรือน้ำเต้าหู้ หรือ เป็นท็อปปิ้งใส่อย่างอื่นก็ได้ มีอีกรสหนึ่งคือ โกโก้ สำหรับบางท่านที่ชอบรสหวานหน่อย ก็จะเป็นรสโกโก้ ต่อยอดมาอีก ก็จะเป็นพวกสบู่ เนื่องจากที่เรามีสารแอนโทไซยานินที่ช่วยชะลอวัย เราก็ได้นำสารตัวนี้มาทำเป็นสบู่ข้าวหอม มีสบู่เหลว และสบู่ก้อน ช่วยดูแลบำรุงผิวไปด้วย นอกจากนี้ยังมีสบู่จากสมุนไพรอีก เช่น สบู่ฟักข้าวซึ่งเป็นสบู่สมุนไพรตามฤดูกาล สบู่ขมิ้นน้ำผึ้ง

ดร.นงค์นาถ : สบู่นี่เป็นอีกแบรนด์ ใช่ไหม

คุณวริษา : ใช่ สบู่เป็นแบรนด์ Varis มีทั้งสบู่เหลว และสบู่ก้อน และจากที่ในชุมชนมีสมุนไพรมากมายจึงเกิดเป็น ผลิตภัณฑ์ลูกประคบ ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เราก็ได้มาตรฐาน มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) แล้ว

ดร.นงค์นาถ : จำหน่ายผ่านทางช่องทางไหนบ้าง

คุณวริษา : จำหน่ายทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ หลังจากโควิดส่วนใหญ่ก็เป็นออนไลน์ ออฟไลน์ก็จะฝากตามสหกรณ์ ธ.ก.ส. และขายในตลาดประชารัฐของธ.ก.ส.ทุกวันจันทร์กับวันศุกร์ และมีกลุ่มไลน์ในชุมชน มีเพจช้อปช่วยชุมชน เพจ “หอมละหนา ข้าวกล้องพันธุ์หอมล้านนา” เพจ “สบู่สมุนไพร Varis’s soap” และมี Facebook “Varisa Jityai” ข้าวกล้องเรามี 3 ขนาด 1,000 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม มี 500 กรัม และมี 250 กรัม 250 กรัมนี้ส่งที่วัดร่ำเปิง ที่เชียงใหม่ เพราะก็จะมีคนไปทำบุญ ทำบุญข้าวสาร ส่งขายที่สหกรณ์ของวัด

ดร.นงค์นาถ : ราคาสินค้าขายอย่างไรบ้าง

คุณวริษา : สบู่ Varis ขวดหนึ่ง 85 บาท เราขายไม่แพง มีบวกค่าส่งตามจริง

ดร.นงค์นาถ : หลังจากมี วิกฤตโควิด ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

คุณวริษา : ตอนแรกๆ ก็มีผลกระทบ จากการที่เราขายออฟไลน์ตามร้านค้า พอเจอโควิดเราก็ชะงักไป แต่ก็พอมีภูมิคุ้มกันบ้าง เพราะเราได้เข้าโครงการพลังชุมชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการขายศาสตร์ต่างๆ ที่อาจารย์สอนมา ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ท้องถิ่น ศาสตร์สากล และศาสตร์พระราชา เราก็ได้นำมาปรับใช้ในผลิตภัณฑ์ของเรา และความรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่ธุรกิจ และเราก็มีเครือข่ายจาก โครงการพลังชุมชน คอยช่วยเหลือกัน ทำให้อยู่รอดได้


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น