“คนตกงานพุ่ง” โจทย์ใหญ่ รมว.แรงงาน จัดการอย่างไรไม่บานปลาย

รัฐมนตรีแรงงานคนใหม่เจอโจทย์ยาก ทั้งตลาดแรงงานหดตัว และปัญหาดิสรัปต์จากเทคโนโลยีที่มีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ช่วงครึ่งปีหลังน่าเป็นห่วง ภาคอุตสาหกรรมจะเลย์ออฟคนออก ต้องอัดฉีดเงินอีกรอบ เพื่อสร้างงานชั่วคราว

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า สถานะของตลาดแรงงานขณะนี้มีความเปราะบางที่สุดในรอบกว่า 20 ปี นับจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 อันเนื่องมาจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังสู้กับโควิด-19 ที่ยังระบาดหนักอยู่ เศรษฐกิจโลกยังหนักอยู่ และยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร

ธนิต โสรัตน์

เศรษฐกิจประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ปีนี้ส่งออกหดตัว 7-8 แสนล้านบาท ส่วนเรื่องท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติหายหมด ตัวเลขที่หายไปน่าจะ 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่การลงทุนทางตรงปีนี้ก็ติดลบ ทำให้เงินพวกนี้หายไปในพริบตาเดียว 3.4 ล้านล้านบาท ผลก็คือ โรงงาน ธุรกิจ สถานประกอบการที่อยู่ในภาคส่วนพวกนี้ได้รับผลกระทบกันเป็นลูกระนาด และกระทบไปถึงการจ้างงาน เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเฟส 5 และเฟส 6 ทำให้มีคนกลับเข้าไปในสถานประกอบการ แต่กลับไปไม่หมด จะตกค้างประมาณ 3-4 ล้านคน เนื่องจากหลายโรงงานได้หยุดงานชั่วคราว

ช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ตอนนั้นภาคอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบ แต่ช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มหลังจากนี้ไป ส่งออกได้รับผลกระทบแล้ว เพราะตัวเลขส่งออกเดือน พฤษภาคม -21% เดือนมิถุนายน -23% ส่วนการนำเข้าเครื่องจักร เดือนพฤษภาคม -25% เดือนมิถุนายน ลบเกือบ 10% ขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ติดลบเฉลี่ย 23%

ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังเริ่มมีปัญหา ที่เป็นห่วงก็คืออุตสาหกรรมจะเริ่มเลย์ออฟคนออก เมื่ออุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังซัพพลายเชน โลจิสติกส์ พวกบริการต่างๆ ดังนั้น เราอย่าประมาท ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟก็บอกให้ระวังช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมจะกระทบอย่างไร ปัญหาใหญ่ของเราตอนนี้คือกับดักสภาพคล่อง เงินไม่มี ตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายย่อย

ธนิต กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่จะเข้ามา เจอโจทย์ยากคือกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ภายใต้เครื่องมือต่างๆ ที่ไม่ค่อยจะพร้อม เรื่องการอัดฉีดเงิน 4 แสนล้านบาท ถือว่าไม่มากพอ จะต้องมีเฟส 2 เพื่อไม่ให้สถานประกอบการเจ๊ง เราต้องพยายามสร้างงาน ตอนนี้เราก็ใช้ 4 แสนล้านบาทที่อัดฉีดลงไป และหวังว่าจะเกิดการจ้างงานหลายตำแหน่ง แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวอยู่ได้ 3 เดือน หลังจากนั้นเงินก็หมดแล้ว

“ถือเป็นความท้าทายของรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ที่จะเข้ามาเจอเรื่องตลาดแรงงานหดตัว และยังมีปัจจัยเร่งการผลิตโครงสร้างตลาดครั้งใหญ่ ที่มีเรื่องดิจิทัล และเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มาก่อนโควิด-19 แล้ว แต่มาเร่งตัวในช่วงโควิด-19 มีการใช้คิวอาร์โค้ดสแกนจ่ายแทนเงินสด มีการซื้อของออนไลน์ ซื้ออาหารผ่านแกร็บ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการลดตำแหน่งงาน”

พร้อมมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ ดังนี้ 1.ต้องทบทวนเรื่องกฎหมายแรงงาน ให้มีความยืดหยุ่น เพราะมีทั้งแรงงานพาร์ตไทม์ ฟรีแลนซ์ รายชั่วโมง ที่ไม่ต้องไปทำในออฟฟิศมากขึ้น แต่กฎหมายแรงงานบอกว่าต้องตอกบัตร ต้องทำงาน 8 ชั่วโมง ซึ่งไม่รับกับงานใหม่ในปัจจุบัน

2.เรื่องเงินสมทบประกันสังคม ที่ลดมาเหลือ 1% น่าจะต่อไปถึงสิ้นปี 3.ต้องดูเรื่องธุรกิจบริการด้วย ทำอย่างไรให้ธุรกิจบริการจ้างงานมากกว่าอุตสาหกรรม 2-3 เท่าตัว ธุรกิจบริการพวกนี้ไม่ค่อยมีใครดูแล กระทรวงแรงงานต้องเข้าไปดูแลเต็มที่ ในเรื่องของสภาพคล่อง 4.กระทรวงแรงงานต้องเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองด้วย ต้องเป็นกระทรวงเชิงรุก

ปัจจุบันกระทรวงแรงงานทำหน้าที่เชิงสังคม ต้องปรับตัวเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพราะเกี่ยวกับการจ้างงาน ก็ต้องไปเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงสถาบันการศึกษาด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นภาระของกระทรวงแรงงาน หากผลิตเด็กที่ไม่ตรงกับความต้องการ ออกมาแล้วก็ตกงาน ดังนั้นจะต้องมีการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน

ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล รัฐมนตรีคลังคนใหม่ที่เข้ามาอาจจะเก่งจริง แต่ต้องดูว่าจะมีบารมีมากพอที่จะเชื่อมโยงบูรณาการการทำงานของกระทรวงเศรษฐกิจหรือไม่ หากบารมีไม่มากพอ ก็อาจต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั่งหัวโต๊ะเศรษฐกิจ เพราะปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้หนักมาก แล้วก็เชื่อมโยงไปทั้งหมด ขณะที่การเมืองก็ไม่นิ่ง มีปัญหานอกสภา มีการเรียกร้อง มีปัญหาเยอะแยะ จึงเป็นโจทย์ที่ยาก ก็เห็นใจรัฐบาล

ธนิต ฝากไปถึงทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลว่า ปัญหาสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพยุงการจ้างงาน ต้องแก้ไขกฎหมายแรงงาน และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น