เงินกู้สู้โควิด 4 แสนล้าน ใช้จ่ายอย่างไรให้ฟื้นเศรษฐกิจได้จริง!

ภาพจาก : bangkokbiznews.com

เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นโครงการที่ส่งเงินเข้าไปถึงฐานรากให้ได้มากที่สุด และควรเบิกจ่ายก่อนจะเริ่มงบประมาณปี 64

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 นั้น ประเด็นแรกที่จะพูดถึงคือการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย เพราะเม็ดเงินที่นำมากระตุ้นนั้นมีจำกัด คิดเป็นประมาณ 2.5% เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ ขณะที่งานวิจัยจากสถาบันต่างๆ ระบุว่า เศรษฐกิจเราจะหดตัวค่อนข้างเยอะ มองไปถึงประมาณ 8-10%

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร

ส่วนที่มีหน่วยงานรัฐเสนอโครงการเข้ามา 46,000 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาทนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีโอกาสให้เลือกเยอะ ภาครัฐจะต้องพิจารณาว่าโครงการไหนจะดีกับเศรษฐกิจมากที่สุด

หลายๆ โครงการที่เสนอมาจะคล้ายๆ กัน เช่น จะทำถนน ขุดลอกคูคลอง ซึ่งเป็นโครงการที่เขียนเสนอขอโครงการได้ง่าย เพราะมีแบบฟอร์มเก่าๆ อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ตอบโจทย์โควิด-19 เพราะเข้าถึงชุมชนได้ยาก ควรจะใช้โครงการในลักษณะนี้ไปทำในงบประมาณปกติดีกว่า ถ้าเราอยากจะช่วยเรื่องโควิด-19 ก็ต้องคิดโครงการใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะทำได้ยาก เพราะมีเวลาน้อย

ส่วนการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเพียง 5 โครงการ วงเงินกว่า 15,000 ล้านบาทนั้น ดร.นณริฏ มองว่า เนื่องจากมีโครงการเสนอเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็ต้องใช้เวลาในการกลั่นกรอง นอกจากนี้ มีข่าวเรื่องการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ซึ่งการจะอนุมัติอะไรต่างๆ ก็ต้องรอทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการ ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณา และส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไปด้วย

ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นโครงการที่ดีจะต้องเป็นโครงการที่ส่งเงินเข้าไปถึงฐานรากให้ได้มากที่สุด ซึ่งการออกแบบโครงการก็สำคัญ ควรจะเป็นโครงการที่จ่ายเงินเร็วลงไปถึงฐานราก เช่น การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน ที่เงินจะหมุนเข้าไปได้ โครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเสนอโดยสถาบันการเงินภาครัฐ เพราะโครงการอย่างนี้จะเข้าถึงได้เร็วกว่า ส่วนการสนับสนุนภาคท่องเที่ยว ก็อยากจะให้กระจายมากกว่านี้ ปัจจุบันกันเงินไว้แค่ 2 หมื่นกว่าล้านบาท คิดว่ายังน้อยไป จากนั้นค่อยมาดูโครงการอื่นๆ ที่เป็นระยะยาวต่อไป

ส่วนประเด็นที่สอง คือเรื่องไทม์ไลน์ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงิน 4 แสนล้านบาท ควรที่จะเบิกจ่ายก่อนที่จะเริ่มงบประมาณปีหน้า ซึ่งหมายถึงควรที่จะอนุมัติ ทั้งเบิกจ่าย ทั้งการอัดฉีดลงไป ควรจะเกิดขึ้นภายในปลายเดือนกันยายนนี้ เพราะหลังจากนั้น จะมีงบประมาณปี 2564 ที่จะเริ่มต้นเดือนตุลาคมมาช่วยเสริมต่อ ก็จะเกิดความต่อเนื่อง ถ้าภาครัฐสามารถทำได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ

ประเด็นที่สาม คือควรที่จะเน้นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในฐานราก มากกว่าที่จะมองไปในระยะยาว เรื่องสร้างถนน ขุดลอกคูคลอง อย่าเพิ่งทำ และใช้งบปกติทำก็ได้

ประเด็นสุดท้าย อยากให้มีการดีไซน์ที่ดี ลดการรั่วไหล และเพิ่มไปให้ยังกลุ่มที่เปราะบาง ไม่ว่าจังหวัดที่เปราะบาง คือจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวน้อยๆ ธุรกิจที่เปราะบาง คือ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดย่อม ไมโคร และคนที่เปราะบาง คือ แรงงานนอกระบบ คนพิการ ผู้สูงอายุ คนที่ตกงาน คนที่ตกงานแฝง ควรจะเข้าถึงคนเหล่านี้ทั้งหมด  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น