“New normal Marketing!! การตลาดรถยนต์หลังวิกฤติโควิด-19”

การทำการตลาดรถยนต์หลังวิกฤติโควิด-19 จะปรับวิธีการนำเสนอและแนวทางในการเลือกซื้อรถผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น หลังผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อรถยนต์บนออนไลน์มากขึ้น

ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถิติการขายรถยนต์เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หายไป 65% โดยมีปัจจัยลบหลายด้าน ซึ่งวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ การชะลอการซื้อ หรือแม้กระทั่งกำลังซื้อเอง รวมทั้งอาจมีปัจจัยเรื่องการอนุมัติสินเชื่อ เพราะรถยนต์บ้านเรายังคงใช้การเช่าซื้อรถยนต์ จัดไฟแนนซ์เป็นสัดส่วนเกือบ 100%

ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์

วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดรถยนต์ทั่วโลก ประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือจีน เดือนแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายในจีนตกไป 80% ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 65% ในยุโรปก็มีตัวเลขที่น่าสนใจ ที่อังกฤษ เดือนแรกที่มีผลกระทบของโควิด-19 ตัวเลขของการขายรถยนต์ลดต่ำลงไปกว่า 90%

สำหรับมาสด้า ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง เม.ย. เรามียอดจำหน่ายอยู่ที่ 11,000 คันโดยประมาณ ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วประมาณ 50% และถ้าดูที่เดือน เม.ย. ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด ตัวเลขลดลงไป 80% มาสด้าเป็นแบรนด์ที่ขายรถในกทม.เป็นสัดส่วนที่เยอะมาก เราเน้นในกลุ่มของรถยนต์นั่งและรถเอสยูวี โดยปกติลูกค้ามีกำลังซื้อและมีโปรไฟล์ที่แข็งแรง แต่อาจมีการชะลอการซื้อรถออกไป เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจมากขึ้นรับกับสถานการณ์ในอนาคต

ตัวเลขที่เราเห็นจากเดือน เม.ย. ผ่านมาจนถึงครึ่งเดือนของ พ.ค. เราก็เห็นแนวโน้มที่ตัวเลขจะดีขึ้นอย่างน่าตกใจพอสมควร ในเดือน พ.ค. ความสนใจในการซื้อเริ่มกลับมา ตัวชี้วัดคือตัวแทรฟฟิกบนเว็บไซต์ของเรา หรือบนดิจิทัลแพลตฟอร์มของมาสด้าเอง ก็มีตัวเลขที่ค่อนข้างที่จะกลับมาเกือบจะเท่ากับตัวเลขในสถานการณ์ปัจจุบัน

ธีร์ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการเลือกซื้อรถของผู้บริโภคเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่คนส่วนใหญ่ Work from Home ทำให้ผู้คนมีประสบการณ์ในการใช้อินเตอร์เน็ตกลั่นกรองข้อมูล หาข้อมูล เลือกรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น รวมถึงอีคอมเมิร์ซด้วย

ตรงนี้ก็เอามาประยุกต์กับคนที่จะซื้อรถเช่นกัน ผู้บริโภคพยายามเข้าหาช่องทางทางอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นทางการของบริษัท แพลตฟอร์ม เอสเอ็มเอสต่างๆ ของบริษัทผู้ขายหรือผู้ผลิต จะมีการบริโภคข้อมูลโดยตรง อย่างของมาสด้าเราก็เริ่มที่จะมีการสั่งจองรถออนไลน์มาสักพักแล้ว ดูแล้วผู้บริโภคก็หันมาเลือกซื้อรถยนต์บนออนไลน์มากขึ้น

ส่วนโชว์รูมเราก็ปรับหน้าที่บทบาทให้เป็นเรื่องของการออกรถ การให้บริการ การทดสอบรถ ทดลองขับ โดยมาสด้าจะเน้น Virtual Showroom ซึ่งลูกค้าสามารถไปสร้างประสบการณ์กับแพลตฟอร์มดิจิทัลของมาสด้าที่มีให้เลือกในหลากหลายช่องทาง เป็นการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้เห็นในสื่อดิจิทัลต่างๆ ของเรา ตอนนี้มีทางเลือกให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น

โปรโมชั่นของรถยนต์ในช่วงนี้จะต้องมีความยืดหยุ่น เป็นทางเลือกของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เช่น อาจดาวน์น้อย หรือดอกเบี้ยคิดถูกในระยะยาว หรือเป็นการผ่อนที่สามารถมีค่างวดที่สะดวกสบายได้ หรือการยกเว้นการผ่อนชำระในช่วงที่สถานการณ์วิกฤติในช่วงนี้ แล้วไปเริ่มผ่อนชำระอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็เป็นออปชั่นในการจัดแคมเปญให้กับลูกค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19

สำหรับการจัดงานมอเตอร์โชว์ หากมีการจัดขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ มาสด้ายืนยันว่าจะเข้าร่วมแน่นอน เพราะเป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่ทุกคนรอคอย และงานมอเตอร์โชว์จะเป็นงานที่จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจ หรือกระตุ้นให้เกิดการนำเสนอสิ่งดีๆ แคมเปญดีๆ ให้ลูกค้าได้พิจารณา อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 เราก็คงต้องมีมาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันในเรื่องของสาธารณสุขด้วย ก็คงจะเป็น New Normal อีกอันหนึ่งของวงการรถยนต์ที่จะจัดงานมอเตอร์โชว์ในสถานการณ์อย่างนี้

การทำการตลาดผ่านออฟฟิเชียลเว็บไซต์นั้น มาสด้าเริ่มทำตั้งแต่ปี 2015 และพยายามปรับปรุงฟีเจอร์ต่างๆ ฟังก์ชั่นต่างๆ ความเสมือนจริงของ Virtual Showroom ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นว่าแทรฟฟิกหรือผู้คนที่ไปโชว์รูมของมาสด้ามีจำนวนลดลง แต่คนที่เข้าเว็บไซต์ของเรา ที่เรียกว่าเว็บแทรฟฟิกของเรามีจำนวนเพิ่มขึ้น มีคนสนใจเข้ามาดูรถรุ่นต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในเวลาเดียวกัน หรือเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้

“เรามองว่าความสะดวกสบาย หรือข้อมูลที่สามารถเลือกสรรได้ตามใจตัวเองจะเข้ามาดูเมื่อไรก็ได้ ยังเป็นจุดแข็งของออนไลน์ แล้วความสนใจของผู้บริโภคเองยังมีค่อนข้างเยอะพอสมควร จากตัวเลขแทรฟฟิกของเว็บไซต์ หรือออฟฟิเชียลแพลตฟอร์ม ที่เข้ามาตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ จะเห็นว่าตัวเลขค่อนข้างดี แต่ความต้องการซื้อ กับกำลังความสามารถในการซื้อ อาจไม่ได้มาในเวลาเดียวกัน แต่มีความสนใจในการเลือกซื้อรถผ่านช่องทางเว็บไซต์ของเรา”

ธีร์ กล่าวว่า การซื้อรถยนต์จะเป็นอีก New Normal ที่เราเห็นง่ายๆ คือการใช้ฐานข้อมูล หรือการใช้ดาต้าต่างๆ ที่เราสามารถจะรับรู้ตัวตนของลูกค้า หรือข้อมูลที่เราให้ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เราสามารถที่จะนำดาต้าเหล่านั้นมาทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเลือกช่องทางที่ลูกค้าสะดวกผ่านช่องทางดิจิทัล เรื่องแคมเปญหรือการจัดเช่าซื้อรถยนต์ ไฟแนนซ์ ก็สามารถเข้าไปดูแคมเปญ ข้อเสนอ ค่างวดต่างๆ ในเว็บไซต์ของเราได้

คนไทยมีความคุ้นเคยกับการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ใช้ช่องทางให้เกิดความสะดวกกับชีวิตมากขึ้น ตรงนี้น่าจะเป็นพฤติกรรมของการซื้อรถซึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ การตลาดเองมีหน้าที่ที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบาย ขณะเดียวกันเราก็สามารถที่จะวิเคราะห์ข้อมูลโปรไฟล์ลูกค้า หรือความต้องการของลูกค้า เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงเว็บไซต์ของเราให้ดีขึ้นไปอีกในอนาคต คิดว่าน่าจะเป็นการปรับวิธีการนำเสนอและแนวทางในการที่จะเลือกซื้อรถผ่านช่องทางออนไลน์ให้ได้มากยิ่งขึ้น  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น