เปิดยุทธศาสตร์เชิงรุก สนง.การบินพลเรือนฯ ปี 63 เตรียมออกกฎใหม่ คุมเข้มโดรน&ปลดล็อค HEMS

เปิดแผนยุทธศาสตร์ CAAT ปี63 เตรียมออกกฎกติกาคุมเข้ม”โดรน” และปลดล็อค HEMS พร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินไทยสู่ความยั่งยืน

ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT กล่าวว่า CAAT ตั้งขึ้น
ในปี 2558 เพราะในขณะนั้นกรมการบินพลเรือนมีปัญหา และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO
ได้ขึ้นธงแดงประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของระบบการบินของไทย

ดร.จุฬา สุขมานพ

สำหรับภาพรวมการเติบโต ถ้าเรามองการให้บริการจากสายการบิน ถ้าเทียบคนโดยสารปีที่แล้วที่บินเข้าออกบ้านเรา ในปี 2562 ประมาณ 165 ล้านคน ซึ่งประมาณ 85 ล้านคนนั้น บินระหว่างประเทศ ขณะที่อีก 80 ล้านคน เป็นการบินในประเทศ โดยสัดส่วนของปี 2562 โตกว่าปี 2561 ที่มี 162 ล้านคน แต่การเติบโตในปี 2562 ถือว่าเติบโตในอัตราชะลอตัว ซึ่งไม่แตกต่างจากที่อื่นในโลก เพราะอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในปี 2562 ชะลอตัว

CAAT วางยุทธศาสตร์พัฒนาการบินพลเรือนของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ตัวมาตรฐานนั้นเราไม่ได้กำหนดเอง 100% แต่เรามีส่วนร่วมกับสากลผ่าน ICAO ดังนั้นยุทธศาสตร์แรกที่เราต้องทำ คือ ถ้าใครมาตรวจเรา เราต้องผ่านการตรวจมาตรฐานทั้งหมด เป็นการยกระดับระบบการกำกับดูแลให้พร้อมกับการรับตรวจ ไม่ว่าใครจะมาตัดเกรดประเทศไทยอย่างไร เราต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดไป

ยุทธศาสตร์ที่สองเป็นเรื่องการสร้างมาตรฐานภายในประเทศ เราต้องออกใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเยอะ ซึ่งเราต้องเอามาตรฐานสากลไปกำกับดูแล ไปบังคับใช้ในการออกใบอนุญาต การตรวจดู
มาตรฐานหลังได้รับใบอนุญาต ในกรณีที่ใครไม่ได้มาตรฐาน มีข้อบกพร่อง เราก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย

CAAT ยังมียุทธศาสตร์ในบทบาทโปรโมเตอร์ด้วย เพราะอุตสาหกรรมการบินในซัพพลายเชนนั้นใหญ่มาก
เราโปรโมทสนามบินให้เครื่องบินบินมา และตอนนี้เราเริ่มโปรโมทอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจะทำให้
เรามีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ทำให้เราได้เทคโนโลยี คนมีงานทำ โรงเรียนที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงก็เข้ามา
ตามห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนยุทธศาสตร์อื่นๆ จะเป็นยุทธศาสตร์ภายใน คือ การบริหารคนของเรา เพราะ ICAO ตรวจคนในสำนักงานด้วย
ดังนั้นสำนักงานมีหน้าที่แต่งตัวคนของเราให้มีคุณสมบัติครบทั้งหมดตาม ICAO ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความ
เข้มแข็ง ความยั่งยืนขององค์กรให้มีทรัพยากรบุคคลในระดับสากล

ดร.จุฬา กล่าวว่า ในปี 2563 CAAT จะเตรียมกฎกติกาสำหรับการใช้โดรนให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากในช่วง
1-2 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวใช้โดรนเยอะ และเห็นว่ากฎหมายปัจจุบันไม่ทันสมัย ซึ่งกระบวนการในการออก
กฎหมายนั้นอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง คิดว่ากฎหมายน่าจะออกได้ในช่วงปลายปีนี้

ที่สำคัญคือเรื่องคนที่จะควบคุมโดรน จะต้องมีการฝึกอบรมนักบินโดรน โดยอาจตั้งเป็นโรงเรียน เป็นสถาบัน
ซึ่งปัจจุบันคนที่รู้เรื่องโดรนดีจะเป็นฝ่ายความมั่นคง โดยกระทรวงกลาโหมมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
เราเคยไปคุยกับเขา ให้สถาบันช่วยฝึกอบรม เพราะทาง CAAT จะไม่ฝึกเอง เนื่องจากเราต้องเป็นผู้ออกใบอนุญาต

นอกจากนี้ CAAT ยังเตรียมปลดล็อกการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS
โดยให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดในสถานที่นอกเหนือจากสนามบินได้ ถ้าได้รับการเทรนมา
ให้สามารถจัดการกับเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จากเดิม
จะจอดได้เฉพาะที่สนามบินเท่านั้น

สำหรับบทบาทของ CAAT นั้นจะทำหน้าที่หลักในการกำกับดูแล และส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน เราพยายามจะผสมผสานบทบาท ทั้งการเป็นผู้กำกับและผู้ส่งเสริมเอาไว้ด้วยกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินบ้านเราโต ขณะเดียวกันก็ได้มาตรฐานสากลด้วย ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ทั้งของผู้ประกอบการและประเทศไทย นอกจากนี้ มาตรฐานที่เคร่งครัดดังกล่าวยังส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น