“4 คาถาเศรษฐี” ช่วยเอสเอ็มอี

การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 วงเงิน 3.16 แสนล้านบาทนั้น

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท เพื่อ 1.แก้ปัญหาผลกระทบให้เกษตรกรหลายกลุ่มจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับข้าว 2. พยายามช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย คือผู้ที่อยู่ในกลุ่มสวัสดิการแห่งรัฐ

และ 3.ส่งสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะมีมาตรการช่วยเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ ถ้ามีผู้ประกอบการรายใดที่มีเกษตรกรหรือคนที่มีรายได้น้อยถูกผลกระทบ ก็น่าจะได้รับการช่วยเหลือในช่วง 2 เดือนนี้ ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นการช่วยเหลือบรรเทา เป็นสิ่งที่รัฐบาลปฏิบัติตามภารกิจหลังจากแถลงนโยบาย เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาเป็นชุดๆ

มาตรการที่ออกมานี้ถือเป็นมาตรการชุดแรก ซึ่งมีทั้งการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วงนี้เป็นหน้าฝน และเป็นช่วงเปิดเทอม คนไม่ค่อยจะออกไปท่องเที่ยว รัฐบาลจึงโอนเงินให้เป้าหมายให้คน 10 ล้านคน ออกไปท่องเที่ยวใช้จ่าย ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และมีการจำกัดให้เอาไปใช้จ่ายในจังหวัดที่เราลงทะเบียนภายใน 14 วัน

และหากใช้จ่ายครบ 3 หมื่นบาท ก็จะมี cash back กลับคืนมา 15% นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ช่วยเหลือเรื่องโครงการซื้อบ้าน ดอกเบี้ยจะต่ำมากไม่ถึง 3% ผ่อนได้ยาวถึง 40 ปี ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ 25,000 ล้านบาท กับธนาคารออมสิน 27,000 ล้านบาท วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท

ในส่วนของเอสเอ็มอี รัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลือโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เอสเอ็มอีกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าระบบธนาคารได้ ก็ให้กู้เงินจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ทำให้คนที่ถูกธนาคารปฏิเสธ ยังพอที่จะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

และอีกกลุ่มคือ เอสเอ็มอีทั่วไป ที่สามารถกู้เงินจากธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4%ต่อปี

อดีต CEO SME Development Bank มองว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมา น่าจะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ประมาณ 0.5-0.6% เพราะรัฐยังมีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ นั้น มีเงินมากว่างบประมาณแผ่นดินเสียอีก

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การก่อสร้างรถไฟฟ้า รฟม. การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดงานต่อเนื่องในต่างจังหวัดได้

มงคล ยังกล่าวถึง “คาถาเศรษฐี” ซึ่งเป็นคาถาที่อยู่ในพุทธคติ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เมื่อ 2,600 กว่าปี ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้เอสเอ็มอี ให้คนทำสัมมาอาชีพถือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดพลัง กำลังใจ สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าท้อถอย

โดยคาถาเศรษฐี ประกอบด้วย 1. ต้องขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ ที่สำคัญจะอยู่รอดได้ต้องแสวงหาความรู้ เมื่อรู้แล้วต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ส่วนใหญ่รู้แล้วไม่ทำ

ยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงโดยแท้ ใครที่ทำเหมือนเดิม จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ทั้งทำเล วิธีการขาย รวมทั้งสินค้า จะต้องเปลี่ยนทั้งหมดให้เข้ากับยุคสมัย ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่

2.การอดออม รู้จักคุ้มครองทรัพย์ไม่ให้รั่วไหล ใช้เงินให้เกิดประโยชน์และงอกเงย และลงทุนไม่เกินกำลังที่เรามีอยู่ เช่น วันนี้ เงินเราฝากธนาคารเฉยๆ เงินหาย เพราะดอกเบี้ยหลังจากนี้ไปจะติดลบ และมีหลายประเทศที่ตอนนี้ใครฝากเงินธนาคารจะต้องเสียค่าฝาก ดังนั้น ทุกคนต้องหาทางมาลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย หลายคนบอกเศรษฐกิจไม่ดี เอาเงินฝากธนาคารดีกว่า แต่ไม่ถูกต้อง

ช่วงที่เศรษฐกิจดี เอาเงินฝากธนาคารได้ เพราะดอกเบี้ยดี เงินเฟ้อสูง แต่ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเป็นโอกาสของคนมีเงิน ที่ต้องคิดมาลงทุน ต้องหาซื้ออะไรที่ทำให้เงินงอกเงย เช่น ที่ดิน ทองคำ หุ้น หรือถ้าทำการค้ายุคนี้ ค่าก่อสร้างก็ถูก เพราะอุปกรณ์หลายอย่างที่ซื้อจากต่างประเทศจะไม่แพง เพราะเงินบาทแข็งค่า

3. มีเพื่อนที่ดีและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเพื่อนที่ไม่ดี จะเป็นคนปอกลอก เอาแต่พูด จะคิดริษยาให้ร้าย ทำให้เราเสียหาย พาไปกินเหล้า เล่นการพนัน ส่วนเพื่อนที่ดีจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะเราก็ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญทุกเรื่อง วันใดวันหนึ่งเราก็ต้องพึ่งพาเพื่อนได้

เพราะฉะนั้นเรามีเพื่อนน้อย ดีกว่ามีเพื่อนมากแต่เป็นเพื่อนที่ไม่ใช่กัลยาณมิตร ดังคำโบราณที่บอกว่า “มีเกลือน้อยนิด ดีกว่ามีน้ำเค็มเต็มทะเล” การไปทำสัมมนา ทำเวิร์คชอป ทำแมชชิ่ง จะทำให้เราจะไปเจอคนที่มีความตั้งใจเหมือนกับเรา คนที่มีความขยัน แสวงหาความรู้ อดออมได้ เพราะฉะนั้นต้องไปแสวงหาเพื่อนในที่ดีๆ

4. เลี้ยงชีพตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ อย่าไปอายถ้าเราทำเรื่องสุจริต และต้องรู้จักกำหนดรายรับรายจ่าย จัดทำข้อมูลและรายงานเอาไว้ให้ชัดแจ้ง ซึ่งก็คือการทำบัญชี ที่จะต้องทำบัญชีเพียงเล่มเดียว แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ รายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน โดยจะต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า เหมาะสม และต้องรู้จักฉลาดคิดด้วย @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น