สทท. เตรียมเสนอ รมว.ท่องเที่ยว ชะลอคนไทยเที่ยวนอก เร่งจูงใจเที่ยวไทย ดึงสูงวัยใช้เงินเมืองรอง

รองประธาน สทท. เผย “บาทแข็ง” ส่งผลนักท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อยลง วอนรัฐเร่งดูแล ทำให้มีการใช้จ่ายในเมืองรอง เชิญชวน ขรก.เกษียณท่องเที่ยว กระตุ้นตลาดในประเทศ และให้ชะลอคนไทยไปเที่ยวเมืองนอก

นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกของไทย นักท่องเที่ยวขาเข้าเป็นไปตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. แถลง คือมีการเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่เพิ่มต่ำกว่าเป้าที่ ททท.วางไว้เล็กน้อย ส่วนนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามข้อมูลทั้งที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแถลง และข้อมูลที่ท่าอากาศยานก็สอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกัน คือจำนวนเพิ่มขึ้นใกล้เคียงเป้ามากคือเกือบ 7% จากเป้าที่วางไว้ 8% เพราะฉะนั้นก็ถือว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในไทยยังดีอยู่ แต่ยังดีไม่ถูกใจภาครัฐ หรือ ททท. ก็ต้องพยายามกันต่อไป โดยช่วง 6 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย 19.6 ล้านคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท

“บาทแข็ง” อาจไม่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลด แต่ค่าใช้จ่ายลดลงแน่นอน

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง ถ้ารัฐบาลใหม่มีนโยบายทิศทางเร่งแผนงานการตลาดในการปรับตัว หรือถ้ามีความจำเป็นอาจมีงบประมาณเพิ่มเติมกับการกระตุ้นตลาด ก็ยังเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรืออาจใกล้เคียง เพราะมีปัจจัยท้าทายเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะมีข่าวดีมากนัก และทิศทางค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นก็ยังไม่มีอานิสงส์ที่จะเป็นบวก และมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งยิ่งเงินบาทแข็งค่าเท่าไร ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจดูไม่ลดลงมาก แต่ตัวเลขการใช้จ่ายคงลดลงแน่นอน

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องภัยธรรมชาติ ปีนี้ขออย่าให้มีเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว และอย่าให้มีเรื่องฝุ่นละอองที่เป็นพิษในช่วงต้นปีหน้า ถ้าไม่มีอะไรมากมายนักก็น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็อยู่ในภาคธุรกิจอยู่แล้ว ก็คงมีความรวดเร็วและมีความตั้งใจที่จะเร่งรัดให้มียุทธศาสตร์แผนงานต่างๆ ในการกระตุ้นตลาดมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลง โดยปีที่แล้ว เงินมาเลเซีย 4,000 ริงกิต สามารถแลกเป็นเงินไทยได้ประมาณ 34,000 บาท แต่ปัจจุบันปีนี้ จะแลกได้ประมาณ 30,000 บาท เงินจะหายไปประมาณ 4,000 บาท

“เมื่อเงินหายไปก็ต้องประหยัดลง ยิ่งถ้าถอยหลังไป 3 ปี เอา 4,000 ริงกิตมาแลก จะได้เงินไทย 38,000 บาท เพราะฉะนั้นแน่นอนเขาก็ต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายลง อาจปรับเปลี่ยนเรื่องที่พัก การจ่ายค่าอาหาร ชอปปิง ซึ่งความต้องการมาเที่ยวไทยคงมีอยู่ แต่ต้องประหยัดมากขึ้น” รองประธาน สทท. กล่าว

รัฐบาลต้องทำให้บาทอ่อน และทำให้มีการใช้จ่ายในเมืองรอง

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำเป็นมาตรการเร่งด่วน คือ ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพในทางที่อ่อนค่าลง ซึ่งภาคการท่องเที่ยวและภาคส่งออกอยากจะเห็นค่าเงินบาทให้มีอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 31 บาท/ดอลลาร์ และต้องพยายามให้นักท่องเที่ยวมีการหมุนเวียนการใช้เพิ่มเติมจ่ายมากขึ้น เช่น มาตรการเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจต้องเพิ่มจุดคืนภาษีมากขึ้น มีจุดใจกลางเมืองที่สะดวกสบาย ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาขอคืนภาษีสามารถที่จะเอาเงินมูลค่าเพิ่มมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้ ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้มีการใช้จ่ายในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ให้มีสินค้าที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น จีน

“แม้เงินเข้าประเทศน้อยลง แต่ถ้าเข้าถึงชุมชน เข้าถึงชาวบ้านเลย ก็จะบรรเทาปัญหาไปได้ ก็จะดี ก็จะคล่องขึ้น ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะถ้าเงินกระจุกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ก็ไม่ทำให้สังคมของชาวบ้านรู้สึกว่ามันดี ถ้าปากท้องไม่ดีก็จะบ่นไปที่รัฐบาล เสถียรภาพรัฐบาลก็สั่นคลอนอีก”

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช

นายยุทธชัย กล่าวว่า ต้องทำให้มีการใช้จ่ายในภาคชนบท หรือเมืองรองมากขึ้น ซึ่งต้องคู่ไปกับการทำการตลาดให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าเมืองรองมีจุดเด่นอย่างไร เมื่อการตลาดดีแล้วก็ต้องไปที่โลจิสติกส์ การเดินทางไปเมืองรองต้องสะดวก ถนนต้องดี บางเมืองที่มีศักยภาพจะรองรับนักท่องเที่ยวได้แล้ว ก็เร่งรัดให้เปิดสนามบินเพิ่มสัก 1-2 จุด หรือใช้เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อทำให้มีจำนวนคนกระจายไปในแหล่งพื้นที่เมือง ทำให้การหมุนเวียนของเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเท่าที่ตนเองไปดูมา เมืองรองที่มีศักยภาพโดดเด่น 3-4 จังหวัด กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทยก็เร่งรัดการทำถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว การทำป้ายบอกทาง การอำนวยความสะดวกต่างๆ ดีขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือก็เป็นฝีมือคนในพื้นที่ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ และอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนานขึ้น เพราะยิ่งอยู่นานก็ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้น

“อยู่ที่เขาจะไปสรรหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าอย่างไร จัดงานประเพณีวัฒนธรรมอย่างไร ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าไปตรงนั้นแล้วคุ้มค่าเงิน ที่สำคัญคือ ได้รับมิตรจิตมิตรใจของเจ้าของบ้านจนเขารู้สึกประทับใจ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยตรงนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของเรา แต่ที่อื่นในอาเซียน ในเอเชียเขาก็มีเหมือนกันในเรื่องของมิตรจิตมิตรใจ ดังนั้นเราต้องพยายามรักษาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเราให้ดี แล้วพยายามอย่าให้สิ่งอื่นมาทำให้จุดเด่นของชุมชนเราเปลี่ยนแปลงไป เหตุเพราะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในชุมชนเรา เพราะฉะนั้นผู้นำชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ต้องเรียนรู้ที่จะขายจุดแข็งในชุมชน แล้วรักษาไว้ให้ดี”

นายยุทธชัย กล่าวว่า จุดแข็งที่ตนเองเห็นคือคนไทยยิ้มหวานกว่าคนชาติอื่น แม้จะโดนต่อรองราคา แม่ค้าก็ยังยิ้มหวานอยู่ ดังนั้น ต้องรักษาจุดแข็งนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมดต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องที่ขับแท็กซี่รถยนต์สาธารณะ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงก็ต้องยิ้มต้อนรับ ช่วยเขายกกระเป๋า พาถึงที่หมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ขับรถวนอ้อมไปอ้อมมา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเรื่องของขนส่งสาธารณะเมืองไทยยังไม่ได้อยู่ในลำดับคะแนนต้นๆ ว่าให้บริการที่ดี ต้องพยายามปรับปรุง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ต้องเตรียมรับข้อเสนอภาคเอกชนต่างๆ ทั้งเรื่องมาตรฐานการขนส่ง มาตรฐานรถประจำทาง รถบัสนักท่องเที่ยว เรือนักท่องเที่ยว คงรอให้ท่านมาปรับเปลี่ยนการให้บริการให้เข้าสู่ระดับโลกให้สอดคล้องกับการที่เมืองไทยมีแหล่งท่องเที่ยวติดระดับโลก

เสนอมาตรการต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวขาเข้าเป็นไปตามเป้า

สำหรับข้อสรุปเบื้องต้นที่ สทท. จะเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ 1. เร่งให้นักท่องเที่ยวขาเข้ามีจำนวนเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมาตรการที่ สทท.จะนำเสนอ เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการทำการตลาดมากขึ้น สนับสนุนภาคเอกชนในการทำโรดโชว์ประเทศเป้าหมายที่เป็นตลาดสำคัญของไทยเรา ให้เพิ่มความสะดวกในการเข้าออกประเทศของเรา โดยเฉพาะท่าอากาศยาน และการกระจุกตัวของท่าอากาศยานบางแห่งเรื่องการรอคิวของนักท่องเที่ยวนาน มาตรการขอต่ออายุฟรีวีซ่าไปถึงสิ้นปี มาตรการในการส่งเสริมให้มีการขับรถยนต์เข้ามาจากนักท่องเที่ยวเอเชียเข้ามาในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น

เชิญชวน ขรก.เกษียณออกไปเที่ยว เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ

2. ภาคท่องเที่ยวในประเทศ จะมีการกระตุ้นตลาดด้วยการนำเสนอโครงการเร่งให้มีการใช้จ่ายการออกเดินทาง เช่น การให้เงินสนับสนุนข้าราชการที่จะเกษียณ ก่อนจะเกษียณอายุ โดยให้เงินก้อนอาจสัก 5,000 บาท เขาก็อาจพาครอบครัวไปเที่ยว หรือคนในแผนกที่เลี้ยงส่ง เมื่อมีเงินกองกลาง ในแผนกก็อาจรวมเงินอีกนิดหน่อยแล้วไปเที่ยวที่ต่างจังหวัด ก็จะมีการเคลื่อนย้ายคนในการท่องเที่ยวในระยะสั้นๆ ถึงหลักแสนคน มาตรการเชิญชวนให้ข้าราชการที่เกษียณอายุไปท่องเที่ยว น่าจะเป็นมาตรการเร่งรัดกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในระยะสั้นได้อย่างหนึ่ง และถ้าทำเป็นเรื่องถาวรได้ก็จะช่วยกระตุ้นตลาดในประเทศได้ดีขึ้น

ชะลอคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ หันมาเที่ยวไทยด้วยมาตรการจูงใจของรัฐ

3. ต้องพยายามชะลอการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งข้อมูลตอนนี้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ 10 ล้านกว่าคน ใช้จ่ายตัวเลขประมาณ 3 แสนล้านบาท จะทำอย่างไรให้ชะลอการไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วหันมาเที่ยวในประเทศโดยมาตรการจูงใจของรัฐ หรือถ้าจำเป็นอาจทำเหมือนในรัฐบาลยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีการเก็บภาษีขาออก เพราะตอนนี้เงินบาทแข็ง ทำให้การไปใช้จ่ายในต่างประเทศราคาถูกลงมาก และปีนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเราไม่ดี จึงควรออกมาตรการมาชะลอในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจไม่นานมากนัก @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น