สวทช.เจาะพื้นที่ อีอีซี ต่อยอดธุรกิจ ด้วยวิทยาศาสตร์&เทคโนโลยี

สวทช. เปิดรับสมัครโครงการ TechStartup@EECi นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และงานวิจัย ต่อยอดธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในพื้นที่ EEC

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรานั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อต่อยอดธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง “ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์” ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. มีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยากจะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปทำเป็นธุรกิจ หรือคนที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีอยู่แล้ว ที่เราเรียกว่า เทคสตาร์ทอัพ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และช่วยขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงเข้ากับอุตสาหกรรมของไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในโลกได้

ขณะที่พื้นที่ EEC ก็เป็นศูนย์รวมชั้นนำของอาเซียนอยู่แล้ว การใส่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาพื้นที่แถบนั้น เพื่อรองรับการเติบโตที่บริษัทใหญ่ๆ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ใช้นวัตกรรมจะมาลงในพื้นที่แถบนั้น เราก็จะได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาภูมิทัศน์แถบนั้น ทั้งเรื่องของบริษัทเล็กๆ และบุคลากรในพื้นที่นั้นให้คุ้นชินกับเรื่องทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และพร้อมรับกับตัว EECi ที่จะสร้างเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย

 

พร้อมนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และงานวิจัยไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

“ศันสนีย์” กล่าวว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินงานมานาน 16 ปีแล้ว สร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยี หรือ เทคสตาร์อัพ ที่เมื่อก่อนเราเรียกว่า “เทคอองเทรอเพรอเนอ” ก่อนที่จะมีคำว่า”สตาร์ทอัพ” เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว โดยเรามี 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติที่พร้อมจะเชื่อมโยงไปที่งานวิจัยด้านไบโอเทค ด้านแมททีเรียล ด้านอิเล็กทรอนิกส์ และด้านนาโน ไปให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เราไปเปิดพื้นที่ลงที่ EECi เราก็ได้ช่วยผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ทำสบู่แบบมีศิลปะ ต่างชาติเห็นก็อยากนำไปใช้ในสปาในยุโรป แต่เวลาขนส่งออกไปเขากลัวเรื่องเชื้อโรค เชื้อรา ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนสบู่เหล่านี้ต้องฆ่าเชื้อ แต่สบู่เป็นวัสดุที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างง่ายเมื่อถูกความร้อน ตรงนี้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้เข้าไปช่วยคงสภาพของสบู่ ทำให้กลิ่นหอมยังคงอยู่ รูปร่างและสีสันยังสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบการผลิตสบู่อยู่ที่ จ.ระยอง

นอกจากนี้ เรายังได้เชื่อมโยงงานวิจัยมาช่วยผู้ประกอบการรายหนึ่งใน จ.ระยอง ในการนำเมล็ดพริกไทยมาสกัดเป็นเซรั่มบำรุงผมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราจะช่วยดูว่าเงินที่ลงทุนไปในการวิจัยตรงนี้กับการขายจะเป็นจริงได้ในเชิงธุรกิจหรือไม่ ทำออกมาแล้วจะขายได้หรือไม่ มีตลาดรองรับหรือไม่

 

ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ถ้าสนใจให้สมัครเข้าโครงการ TechStartup@EECi

ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวด้วยว่า ถ้าผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็น SME หรือโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ถ้ามีความสนใจอยากนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปเพิ่มมูลค่า ขยายธุรกิจ หรืออยากใช้ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ก็ขอเชิญให้มาสมัครโครงการ TechStartup@EECi ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/bic หรือเสิร์ชคำว่า “ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.” หรือ โทร 081 054 2588 จะปิดรับสมัครวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ เราอยากจะให้มีธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว เพราะนี่คือการต่อยอดธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ถ้ามีความคิดฝันอยากทำธุรกิจเทคโนโลยีก็ลองมาคุยกันได้ เพราะยังมีโครงการอื่นที่ไม่ใช่ในพื้นที่ EECi และเรามีที่ปรึกษาทางธุรกิจ เรายินดีที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยง เป็นเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจเทคโนโลยี @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น