ท่องเที่ยวเรื่องใหญ่ อะไรควรสานต่อยอด

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” ให้กำลังใจ รมว.ท่องเที่ยวคนใหม่ เผย ต้องเจอปัญหาสารพัด ที่ผ่านมา ได้วางรากฐานก่ออิฐเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขึ้นกับคนใหม่จะมาสานต่อ หรือรื้อทิ้ง

ระหว่างที่รอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีพรรคใดเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคการเมืองใดจะได้ดูแลกระทรวงใดบ้าง รวมทั้งใครจะได้เป็นรัฐมนตรี “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ฝากถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ ดังนี้ 1.อยากจะให้กำลังใจ เพราะงานนี้เป็นงานที่ซับซ้อนและจุกจิก เพราะรัฐมนตรีท่องเที่ยวจะต้องดูแลนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีมากถึง 38.5 ล้านคน และน่าจะแตะถึง 40 ล้านคนได้

ซึ่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวจะต้องรับรู้ได้รับรายงานทั้งเรื่องนักท่องเที่ยวเสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุ ของหาย รวมทั้งต้องดูแลนักท่องเที่ยวไทยด้วย ซึ่งมีถึง 150 ล้านคน-ครั้ง และปีนี้จะพิ่มเป็น 166 ล้านคน-ครั้ง

2.งานของรัฐมนตรีท่องเที่ยวเป็นภารกิจประเภทต้องใช้กำลังกาย ต้องเดินทางตลอด นอนดึก ตื่นเช้า เพื่อไปประชุม ไปร่วมงานต่างๆ ดังนั้น สุขภาพต้องแข็งแรง 3.ไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ที่สำคัญคือจะกระจายเขาไปยังพื้นที่หลัก พื้นที่รอง และให้เขาไปใช้จ่ายให้ถึงมือชาวบ้าน

มีปัญหาสารพัดที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวจะต้องดูแลแก้ไข

“วีระศักดิ์” กล่าวว่า สารพัดปัญหาที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวจะต้องดูแล ซึ่งตนเองได้ให้แต่ละจังหวัดจัดทำเป็นแผนบริหารความเสี่ยงว่าในพื้นที่ของตัวเองมีอะไรเป็นเหตุที่เกิดซ้ำๆ จะได้ระวังไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และอะไรที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุ เป็นจุดที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดย พ.ร.บ.ฉบับแรก ทำเสร็จแล้ว รอทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็บังคับใช้ได้ คือ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มีการจัดระบบแบบใหม่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และออกประกาศให้เขตพื้นที่นั้นๆ เป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยว

ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยวนั้นจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และ พ.ร.บ.อีกฉบับเพิ่งเริ่มทำ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะยกร่างต่อไป คือ พ.ร.บ.ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว ส่วนพวกที่ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งพวกที่ชอบไปรบกวนนักท่องเที่ยว พวกรถแท็กซี่ รถรับจ้าง ที่ไม่กดมิเตอร์ โขกราคานักท่องเที่ยว

ที่ผ่านมาได้ให้นโยบายปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่จับกุม ซึ่งยังต้องจับอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของเรือ ก็ได้ส่งทีมไปสุ่มตรวจเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยต้องตรวจทั้งสภาพเรือและคนขับเรือว่าอยู่ในสภาพเหมาะสมหรือไม่

ดึง อพท.มาสังกัดกระทรวงท่องเที่ยว พร้อมเสนอให้อำนาจการสอบสวนกับตร.ท่องเที่ยว

ในส่วนของโครงสร้างกระทรวง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ได้ไปนำหน่วยงานที่ควรจะอยู่กับกระทรวงมาอยู่ได้สำเร็จแล้ว คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จากที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล มาอยู่ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แล้ว ส่วนสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.นั้น ไม่ใช่เรื่องของการท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องธุรกิจ จึงให้อยู่กับทำเนียบฯ ต่อไป

เพราะต้องทำงานใกล้ชิดกับบีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดนักธุรกิจไปสู่การลงทุน ส่วนตำรวจท่องเที่ยวทั้งหมดรับเงินค่าตอบแทนจากกระทรวงท่องเที่ยว แต่ตำแหน่งอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวจะต้องสนับสนุนในสิ่งที่ตำรวจท่องเที่ยวจะต้องมี อย่างไรก็ตาม อยากให้พิจารณาเรื่องการให้อำนาจในการสอบสวนกับตำรวจท่องเที่ยวบ้าง เพราะขณะนี้เมื่อตำรวจท่องเที่ยวจับคนร้ายแล้วต้องส่งท้องที่ แต่บางทีนักท่องเที่ยวก็ต้องเดินทางต่อ ไม่สามารถอยู่ต่อทำคดีได้

วางรากฐานเรื่องความยั่งยืนไว้แล้ว ขึ้นกับรัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่จะมาสานต่อหรือรื้อทิ้ง

“วีระศักดิ์”กล่าวว่า ตนเองอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวประมาณ 16 เดือน ไม่สามารถแก้ไขได้หมดทุกเรื่อง แต่ได้วางรากฐานเรื่องความยั่งยืน วางอิฐไว้ให้พอสมควร แต่ยังไม่ได้ก่อกำแพงขึ้นไปสูงๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมาต่อ มาถึงก็จะเห็นอิฐที่เรียงไว้ จะรื้ออิฐก็ได้ หรือจะเรียงต่อก็ได้ถ้าท่านอ่านตัวสะกดการเรียงอิฐว่าเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากพรรคไหน ตนเองยินดีให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้แยกเรื่องการท่องเที่ยวกับกีฬาออกจากกัน เพราะตอนเกิดกระทรวงนี้เกิดโดยอุบัติเหตุ เขาไม่ได้ตั้งใจเอา 2 กระทรวงนี้มารวมกัน ตอนนั้นเขาอยากให้เกิดกระทรวงกีฬา ไม่ได้อยากให้เกิดกระทรวงท่องเที่ยว ก็เลยไปเอากรมพลศึกษามาตั้งเป็นกระทรวง แต่เป็นกระทรวงกีฬาเฉยๆ ก็ดูเล็กไป ก็เลยต้องเอาเรื่องท่องเที่ยวเข้ามารวมด้วย ก่อนหน้านี้เราไม่มีข้าราชการเพื่อการท่องเที่ยวเลย จึงต้องใช้เจ้าพนักงานรัฐวิสาหกิจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่เขามีสำนักงานเพียง 30 กว่าแห่งทั่วประเทศ เมื่อเราทำนโยบายเมืองหลักเมืองรอง ก็มีคนทำงานไม่เพียงพอ จึงฝากไว้เป็นอีก 1 การบ้านให้รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่เข้ามาแก้ปัญหา @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น