อุบัติเหตุสงกรานต์’62 ลดลงเพราะอะไร?

สงกรานต์ปีนี้ “อุบัติเหตุ-คนเจ็บ-คนตาย” ลดลงจากปีที่แล้ว เพราะมาตรการของรัฐที่เข้มงวด ทั้งยึดรถ เอาผิดคนที่นั่งรถไปกับคนเมาแล้วขับ เจาะเลือดผู้ขับขี่กรณีทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

“พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ หรือ สคอ. กล่าวในรายการ”ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า สรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 2562 ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ลดลง 386 ครั้ง หรือลดลงกว่าร้อยละ 10 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช 128 ครั้ง รองลงมา เชียงราย 98 ครั้ง สงขลา 91 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 386 ราย

เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ลดลง 32 ราย หรือลดลงร้อยละ 7.6 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี อุดรธานี 15 ราย นครราชสีมา สุพรรณบุรี 14 ราย เชียงใหม่ 13 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,442 คน เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ลดลง 455 ราย หรือลดลงร้อยละ 11.6 จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 136 ราย เชียงใหม่ 126 คน ร้อยเอ็ด 99 คน สาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับ และขับรถเร็ว

สื่อหนุนมาตรการยึดรถเมาแล้วขับ แต่เสนอให้ยืดเวลายึด หรือยึดแล้วไม่ต้องคืน

ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า เมื่อดูจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ พบว่าลดลงกว่าปีที่ผ่านมา คนทำงานก็โล่งใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขั้นพอใจ โดยพบว่าสงกรานต์ปีที่แล้ว ร้อยละ 40 ของการเกิดอุบัติเหตุ ตรวจพบว่ามาจากการดื่มสุราแล้วขับรถ แต่สงกรานต์ปีนี้ ลดเหลือร้อยละ 36 ซึ่งมาตรการของรัฐน่าจะส่งผล เพราะปีนี้มีทั้งมาตรการยึดรถ มาตรการเอาผิดคนที่นั่งรถไปกับคนเมาแล้วขับด้วย การเจาะเลือดผู้ขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มีทั้งการลงโทษที่เข้มงวด มีการโหมประชาสัมพันธ์พอสมควร

นอกจากนี้ คสช.ก็เข้ามามีบทบาทในการร่วมงานกับหน่วยที่เป็นจุดบริการและจุดตรวจทั่วประเทศ ถ้าพบคนกระทำผิดคือเมาสุราก็จะยึดรถเลย ตลอด 7 วัน ยึดรถเกือบหมื่นคัน ซึ่งสื่อที่เสนอข้อมูลนี้มาหลายวันก็เห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่เห็นว่าระยะเวลายึดรถน้อยไป บางรายเสนอให้ยึด 3 เดือน บางรายบอกว่าความผิดชัดแจ้ง ไม่ต้องคืนรถ ให้ขายเอาเงินเข้าหลวง บางรายระบุว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์สำหรับการกระทำความผิด น่าจะยึดแล้วเอาไปทำลาย โดยภาพรวมในการประชุมก็รับว่าน่าจะมีการยืดระยะเวลายึดรถออกไป

เตรียมขยายเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่ทำให้เกิดเจ็บ-ตาย ครอบคลุมทั้งปี

ผู้อำนวยการ สคอ. สรุปว่าการที่มาตรการปีนี้ใช้แล้วได้ผล เนื่องจาก 1.เรามีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ตลอด 7 วัน ที่เราสั่งเจาะเลือดหาปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตอนนี้มีข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเห็นพ้องกันว่าจะขยายให้ครอบคลุมทั้งปี

และจะจัดหางบประมาณรองรับให้ครอบคลุมการทำงานตลอด 365 วัน เพื่อให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปกติว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตในอนาคต ทุกเคสจะต้องถูกเจาะเลือดสำหรับผู้ขับขี่ 2.มาตรการลงโทษสำหรับดื่มแล้วขับ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตำรวจก็เสนอให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.จราจรเพิ่มเติม ว่าอยากให้ใช้การลงโทษในขั้นสูงสุดในกรณีช่วงเทศกาล เพราะทุกคนรู้ว่าเป็นช่วงอันตราย ดังนั้นถ้าเกิดมีการฝ่าฝืนหรือละเมิด ก็น่าจะใช้โทษตามบทบัญญัติให้สูงสุด

ซึ่งสะท้อนการทำงานในเทศกาลนี้ คือ ข้อสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สั่งการไปยังพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ก็ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ จำนวนการดำเนินคดี จำนวนการส่งเรื่องฟ้องขึ้นชั้นศาลมากขึ้น มีผู้ถูกคุมประพฤติเมาแล้วขับกว่า 12,000 คดี รวมทั้งมีผู้ถูกศาลสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)

นอกจากนี้ยังมีการคาดโทษ คือ 1.บันทึกลงในประวัติการกระทำความผิด 2.ช่วงเวลาที่ห้ามออกจากบ้านยามวิกาล โดยเฉพาะหลัง 22.00 น. 3.ต้องมารายงานตัวสม่ำเสมอ และถ้ามีการทำผิดซ้ำ ในคดีถัดไป การพิจารณาโทษจะไม่มีการคุมประพฤติอีก จะกลายเป็นจำคุกทันที เป็นวิธีการเอาคนที่ทำผิดซ้ำลงโทษให้มากขึ้น

เตรียมหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง 30 เม.ย.นี้ ประเด็นการดื่มเท่ากับ”เจตนาฆ่า”

ผู้อำนวยการ สคอ. ยังกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาการลงโทษผู้กระทำผิดจะเปลี่ยนจาก”ประมาท” เป็น”เจตนา”ได้หรือไม่ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการพูดคุยของหลายฝ่าย ซึ่งในการหารือของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะนำประเด็นเรื่องการดื่มเท่ากับเจตนาฆ่ามาคุยกันว่าการเปลี่ยนจากโทษประมาท มาเป็นเจตนาฆ่าต้องทำอย่างไร

ถ้าเอามาใช้กับ พ.ร.บ.จราจร ต้องเขียนให้เชื่อมโยงกันอย่างไร เพราะถ้าดูตามประมวลกฎหมายอาญา คำว่า”เจตนา”จะมีหลักคิด 2 ประเด็น คือ 1.การประสงค์ต่อผล จะเน้นไปที่มีการตระเตรียมล่วงหน้า 2.เล็งเห็นผล ซึ่งภาคสังคมตีความว่าน่าจะเข้าข่าย เพราะเสมือนรู้แต่ก็ยังทำ เพราะในแต่ละเทศกาล รัฐบาลก็ออกมาทำงานชี้ให้เห็นว่าเทศกาลมันอันตราย เพิ่มทั้งกำลังคนทั้งประเทศ สนับสนุนงบประมาณ เพื่อดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งมีนโยบายดื่มไม่ขับ และสื่อก็รายงานทุกวันว่าเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นจะอ้างว่าไม่รู้คงไม่ได้

ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะ”ดื่มไม่ขับ-ไม่นั่งรถไปกับคนที่ดื่มแล้วขับ”

ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องทำเพิ่มคือ มาตรการจะขยับจากเดิมให้เข้มข้นมากกว่าเดิม และหลังจากนี้เราต้องทำงานเชิงวัฒนธรรมให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ต้องช่วยกันส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น เวลาจะเดินทางทุกคนต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องรถและคน

รวมทั้งวัฒนธรรมการขับขี่ช่วงเวลาคับขัน ไม่ควรเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือเปลี่ยนเลนโดยไม่จำเป็น การขับตามกันไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า และอีก 2 วัฒนธรรมที่ต้องแก้ไขโดยด่วนคือ การดื่มแล้วขับ ถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อครอบครัวเราเองและต่อประเทศชาติ ต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ ไม่ให้ยอมรับพฤติกรรมนี้ และที่ต้องสร้างไปพร้อมกันคือ ไม่นั่งรถไปกับคนที่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับ @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น