จับตามิติใหม่ทีวีดิจิทัลกับ 3 โมเดล ทางออกสุดท้าย

นักวิชาการด้านสื่อ ชี้ ออกมาตรา 44 ช่วยทีวีดิจิทัล เป็นการ “นิรโทษกรรมทีวีดิจิทัลสุดซอย” เสนอ 3 โมเดล พิจารณาเรื่องคืนใบอนุญาต

กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ช่วยเหลือทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ให้คืนใบอนุญาตได้, ไม่จ่ายค่าประมูล 2 งวดที่เหลือ รวม 13,622 ล้านบาท และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ให้รวมปีละ 1,960 ล้านบาทนั้น

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ถ้าเป็นวาทกรรมทางการเมืองก็เรียกว่า เป็นการ “นิรโทษกรรมทีวีดิจิทัลสุดซอย” ซึ่งจากที่ได้เคยเตือนไว้ตอนประมูลขณะนี้เป็นความจริงแล้ว โดย 5 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทต้องเลย์ออฟพนักงาน ลดต้นทุน เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น บริษัทหรือช่องยักษ์ใหญ่ที่เคยองอาจในโลกอนาล็อก ใน 1-2 ปีนี้เขาขาดทุนเป็นปีแรก จากผลกำไรระดับหมื่นล้านมาสู่แดนติดลบแล้ว เราต้องมองสภาพความเป็นจริงของการประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไม่ได้สวยหรูตามที่ กสทช.วาดฝันไว้ตั้งแต่ต้น

กสทช.วางแผนล้มเหลว แต่ผู้ประมูลก็วิเคราะห์ผิดพลาดด้วย

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า การวางแผนของ กสทช. มีคำถามมากมาย และทุกวันนี้ยังไม่ได้คำตอบว่า ทำไม กสทช.ต้องออกแบบการประมูล 24 ช่อง เอาตัวเลขมาจากไหน และทำไมต้องมีการแบ่งหมวดหมู่ในการให้บริการ เช่น หมวดหมู่เด็กและครอบครัว หมวดหมู่ข่าว ในส่วนของช่องเด็กและครอบครัวพบว่าล้มเหลวและไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์

ซึ่งในการเปิดให้บริการในช่วง 2-3 ปีแรก ประชาชนก็รู้สึกเบื่อหน่ายว่าสัญญาณยังไม่ครอบคลุม ผู้ประกอบการก็ท้วงติงเรื่องโครงข่ายที่ยังไปไม่ถึง อย่างไรก็ตาม จะโทษ กสทช.ทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครบังคับให้ผู้ประมูลเดินทางไปประมูล และหน่วยวิเคราะห์ทางธุรกิจของผู้ประมูลก็วิเคราะห์ผิดพลาดที่เข้าไปประมูลในจำนวนที่เป็นฟองสบู่เป็นจำนวนถึง 3 เท่าของเงินที่ตั้งต้น

เสนอ 3 โมเดล ในการพิจารณาเรื่องคืนใบอนุญาต

ส่วนจะมีนายทุนหลายรายคืนใบอนุญาตหรือไม่นั้น ดร.สิขเรศ ได้เสนอโมเดลที่มี 3 กลุ่มสำคัญ คือ 1.กลุ่ม Survivor คือ ช่องที่มีเรตติ้งดีอยู่แล้ว ติด Top10 , Top12 กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะไปต่อ ไม่คืนใบอนุญาตแน่ๆ อาจมีส่วนที่เขาคิดคำนวณไว้แล้วว่า ถ้ามีผู้เล่นออกไปจากตลาดเยอะ นั่นหมายถึงผลกำไรหรือส่วนแบ่งโฆษณาของเขาก็จะกลับเข้ามาในสภาวะที่เขาน่าจะพอใจ

2.กลุ่ม Exiter เป็นกลุ่มที่ต้องตัดสินใจว่าเราควรออกไปแล้ว เป็นกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และผลประกอบการค่อนข้างที่จะขาดทุนสูง และ 3.กลุ่ม Transformers เป็นกลุ่มที่อาจมีการดีลทางธุรกิจ การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น

ยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าจะมีช่องไหนคืนใบอนุญาต เพราะมีตัวแปรผกผันเยอะ

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า เมื่อมีการออกมาตรา 44 ในส่วนของกลุ่ม 2 Exiter การจะออกไปไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องจ่ายก่อนไป CFO ผู้บริหารทางด้านการเงินต้องดูว่าจำนวนเงินคงคลังของบริษัทมีขนาดนั้นหรือไม่ หรือสามารถกู้เพื่อมาดำเนินการในส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนกลุ่มที่ 3 Transformers ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นโมเดลบางส่วน เช่น มีการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มธุรกิจอื่น เช่น กลุ่ม ThaiBev กลุ่มปราสาททองโอสถ

เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมโทรทัศน์นั้นเงินหมดแล้ว แต่ธุรกิจกลุ่มอื่นยังมีเงินเยอะ และเมื่อเปรียบเทียบแล้วเขาลงทุนน้อยมาก ในการที่จะมีสื่อโดยฉับพลัน และก่อนจะมีมาตรา 44 นักลงทุนอาจมีการดีลกับบางช่องไว้แล้วเบื้องต้น แต่พอมีมาตรา 44 ทำให้ในตลาดมีสินค้ามากขึ้น นักลงทุนอาจเปลี่ยนใจไปดีลกับช่องอื่นแทนถ้าได้เงื่อนไขที่ดีกว่า

ดังนั้น ให้จับตามองเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตภายใน 30 วัน ที่มีตัวแปรผกผันจำนวนเยอะมาก และ 3 กลุ่มโมเดลสำคัญ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะมีช่องไหนบ้างที่คืนใบอนุญาต เพราะช่องที่คาดว่าจะคืนใบอนุญาตอาจไม่คืน หากมีนักลงทุนหรือพันธมิตรคนใหม่ ส่วนกลุ่ม Exiter อาจกลายเป็นกลุ่ม Transformers ก็ได้ เพราะมันมีเงื่อนไขที่จูงใจมากขึ้น @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น