สัมภาษณ์ : คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล
ดร.นงค์นาถ : โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ที่เพิ่ง MOU กับ 18 สถาบันการเงิน มีรายละเอียดอย่างไร
คุณสิทธิกร โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 1 “บสย. SMEs ยั่งยืน” บสย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงินเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล มาเป็นประธาน ในกรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดย บสย. ได้จัดสรรวงเงิน ระยะที่ 1 จำนวน 25,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมตามภายใต้ยุทธศาสตร์ IGNITE THAILAND และธุรกิจที่ดำเนินในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ESG/BCG และการปรับตัวเข้าสู่สังคม Carbon ต่ำ
ดร.นงค์นาถ : ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มีโครงการย่อยอะไรบ้าง
คุณสิทธิกร : มีโครงการย่อยๆ อีกหลายโครงการ เรามี โครงการ Smart Gen ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 2 ปีแรก ช่วยเหลือผู้ประกอบการ รายย่อยที่เปิดกิจการใหม่ (อายุไม่เกิน 3 ปี) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น บสย. ค้ำประกัน 10,000 – 500,000 บาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี และภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 2 ปีแรก
โครงการ Small Biz
ช่วยเหลือผู้ประกอบการ รายย่อยกลุ่ม Micro กลุ่มฐานราก บสย. ค้ำประกัน 10,000 – 200,000 บาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี และภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 2 ปีแรก
โครงการ Ignite One
ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็น “บุคคลธรรมดา” ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม บสย. ค้ำประกัน 200,000 – 5,000,000 ล้านบาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี และภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 3 ปีแรก
โครงการ Ignite Biz
ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็น “นิติบุคคล” ที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม บสย. ค้ำประกัน 2000,000 – 10 ล้านบาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.5% ต่อปี และภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 3 ปีแรก
โครงการ Smart Green
ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ดำเนินกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) และธุรกิจเพื่อสังคม (ESG) บสย. ค้ำประกัน 1 – 40 ล้านบาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.5% ต่อปี และภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมใน 4 ปีแรก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือใครที่คิดหรือวางแผนเริ่มต้น หรือกำลังหาแนวทาง ทำธุรกิจ สามารถขอคำปรึกษาทางศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs และ สำนักงานเขต 11 สาขาทั่วประเทศ เรามีผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาทุกด้าน ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ วิเคราะห์สินเชื่อ หรือสอบถามที่ บสย. Call Center 02-890-9999 บสย. เพิ่มความสะดวกให้กับทุกท่านผ่านช่องทาง LINE OA @tcgfirst สามารถแอ็ดไลน์เข้ามากันได้ครับ ตรวจสุขภาพทางการเงินก่อนก็ได้ครับ ลงทะเบียนฟรี 24 ชั่วโมง
ดร.นงค์นาถ : โครงการ PGS11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้เท่าไร
คุณสิทธิกร : คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบให้เข้าถึงสินเชื่อ จากสถาบันการเงินทุกแห่งได้ง่ายขึ้น โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท (4.13 เท่า) มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 77,000 ราย (เฉลี่ย 0.65 ล้านบาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 60,000 ล้านบาท (1.2 เท่า) รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 550,000 ตำแหน่ง (7.2 ตำแหน่ง/ราย)
ที่ผ่านมา เราพบว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. สามารถช่วยพลิกฟื้น SME ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (ณ 30 มิถุนายน 2567) สามารถช่วยผู้ประกอบการมากถึง 437,000 ราย คิดเป็นเม็ดเงินค้ำประกันมากกว่า 6.6 แสนล้านบาท ในนั้นเป็นกลุ่ม Micro SME ถึง 86% (มากกว่า 375,000 ราย และสินเชื่อเฉลี่ยรายละ 90,000-120,000 บาท)
ดร.นงค์นาถ : ในช่วง 7 เดือนของปีนี้ บสย. นอกจากการ MOU กับสถาบันการเงิน เติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการปล่อยสินเชื่อ และค้ำประกันฯ ทราบว่า บสย. ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ อย่างไรบ้าง
คุณสิทธิกร : บทบาทสำคัญของ บสย. คือการเป็น SMEs’ Gateway นอกจากเชื่อมโยงผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว บสย.ยังเป็นสะพานเชื่อมโยง ผู้ประกอบการ SMES กับ เครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของหน่วยงานเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
โดยในช่วง 6 เดือนแรก บสย. ได้ขยายเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก อาทิ
บสย. MOU ไปรษณีย์ไทย โครงการส่งเสริมบริการผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยใช้เครือข่ายพี่ไปรฯ หรือบุรุษไปรษณีย์ เสริมศักยภาพการให้บริการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ SMEs
บสย. MOU “พีทีจี เอ็นเนอยี” หรือ PTG ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs หนุนค้ำประกันฯ แฟรนไชส์ “กาแฟพันธุ์ไทย”
บสย. MOU กฟน. “เพื่อยกระดับธุรกิจด้วยการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานของผู้ประกอบการSMEs ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการให้คำปรึกษารวมถึงการเสริมศักยภาพทางธุรกิจและการเงิน”
บสย. MOU กองทุน TED Fund สนับสนุนผู้ประกอบการกองทุนฯ TED Fund ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ดร.นงค์นาถ : บสย.มีพันธมิตรล่าสุด อีก 2 ราย คือ MOU กับ การไฟฟ้านครหลวง และกองทุน TED Fund จะนำไปสู่เป้าหมายส่วนใด
คุณสิทธิกร : การไฟฟ้านครหลวง มีเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้ “พลังงานสะอาด” สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเทคนิค การติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าในธุรกิจ ตลอดจนการดูแลให้คำแนะนำในการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และความรู้ทางการเงินในการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบพลังงาน เช่น การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) และการลงทุนในธุรกิจเครื่องชาร์จไฟฟ้า EV (EV Charger)
ทั้งนี้ ทาง กฟน. จะให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค การประมาณการค่าใช้จ่าย และการประเมินความคุ้มทุน ด้วยทีมที่ปรึกษามืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจไฟฟ้า มีมาตรฐานการติดตั้งที่ปลอดภัย และขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ บสย. จะให้คำแนะนำด้านการเงิน และการทำธุรกิจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อม SMEs ก่อนยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน
ปัจจุบัน บสย. มีวงเงินค้ำประกันโครงการ Smart Green ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มุ่งให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการนำแนวคิดเรื่อง BCG และ ESG มาปรับใช้ ภายใต้เงื่อนไขโครงการที่มุ่งช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนมากยิ่งขึ้น โดย บสย. ค้ำประกันได้สูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย อัตราค่าธรรมเนียม 1.5% ต่อปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปีแรก โดยภาครัฐช่วยสนับสนุน
ส่วนการ MOU กับ กองทุน TED Fund หรือ สำนักงานกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund โดย บสย. และกองทุน TED Fund จะทำหน้าที่เป็น Funding Gateway เพื่อเติมเงินทุน และเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ปัจจุบัน บสย. มี โครงการ Smart Gen ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ที่ร่วมกับสถาบันการเงินทั้ง 18 แห่ง ในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เปิดกิจการใหม่ (อายุไม่เกิน 3 ปี) รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่เน้นพัฒนานวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จำเป็นต้องใช้งบลงทุนจำนวนมาก
จากจำนวนผู้รับทุนของกองทุน TED Fund ต่อปี เฉลี่ยปีละ 120-130 โครงการ บสย. คาดว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 300 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 360 ล้านบาท
ทาง บสย. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ วันนี้ บสย. พร้อมให้คำปรึก ษาและคำแนะนำ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และให้ความรู้ทางการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินของ บสย. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถจองคิวขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ฟรี! ได้ที่ LINE OA : @tcgfirst