เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งมั่นขับเคลื่อนเรื่องการสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ได้จัดเวทีสาธารณะ เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน Co-creating Road Safety Culture สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนแคมเปญ “ระวังหมดอายุ” ให้ถนนสาทรเป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ พร้อมบอกเล่าเรื่องการขับเคลื่อน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนชัดว่า การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ที่ว่าเป็นไปได้ยากนั้น สามารถเกิดขึ้นได้
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เปิดเผยว่า จากสถิติผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ที่ยังคงสูง คือ โดยทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างน้อย 2 คน หรือเฉลี่ยปีละมากกว่า 17,000 คน และบาดเจ็บพิการอีกปีละกว่า 5 แสนราย เพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม จึงมีการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว โดยแคมเปญหลักที่ได้มีการขับเคลื่อนต้อเนื่องมากว่า 1 ปี และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตสาทร และสำนักงานเขตบางรัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ คือ แคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE” ร่วมกันสะกิดเตือนด้วยความรัก เพื่อส่งทุกคนให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยในทุกวัน โดยได้กำหนดพื้นที่ทดลองปฏิบัติการเป็นถนนสาทร ซึ่งมีการชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบนถนนสาทร ร่วมสำรวจจุดเสี่ยง เสนอทางแก้ไข และออกแบบทางข้ามที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันสร้างการมีส่วนร่วมให้ความรู้ทักษะการใช้รถใช้ถนนให้กับเด็ก และเยาวชน ใน 7 โรงเรียนสังกัดกทม.
“หัวใจสำคัญจะต้องมีการสร้างพลังร่วมของคนในสังคม และทุกภาคส่วนต้องยื่นมือเข้ามาร่วมกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งผสานองค์ความรู้ วิทยากร ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร เพื่อสร้างกิจกรรมเชิงรุก ร่วมกับสถานศึกษา เพื่อติดกระดุมเม็ดแรก ให้เด็กและเยาวชนไทย มีทักษะการใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมถึงมีส่วนร่วม สะกิดเตือนด้วยความรัก ความห่วงใย เช่น เตือนให้สวมหมวกนิรภัยเสมอ เมื่อขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพื่อป้องกันสมอง”
ดร.อุดม กล่าวต่อว่า จากการขับเคลื่อนการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ปีที่ผ่านมาได้มีการสรุปบทเรียน 7+1 ที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนนำไปขยายผล เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคม ประกอบด้วย 1.เรื่องความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน การแก้ไขปัญหาจากต้นตอจะต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 2.ความท้าทายคือทำอย่างไรให้เกิดพลังร่วมของคนในสังคม 3.ยืนยันว่าการสร้างค่านิยม วัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน สามารถให้เกิดขึ้นได้ โดยเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ ชุมชนเล็กๆ และขยายวงกว้างออกไป หัวใจสำคัญ คือ ความต่อเนื่อง
4.เด็กและเยาวชนคือจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่น ที่ โรงเรียนวัดยานนาวา เมื่อน้องๆ นักเรียนริเริ่มรณรงค์ สะกิดเตือน ผู้ปกครองรวมถึงพี่วินมอเตอร์ไซด์ ให้ใส่หมวกกันน็อกบ่อยๆ เห็นได้ว่าจำนวนคนใส่หมวกกันน็อกมาโรงเรียนก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน 5.การผสานองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ จะทำให้การขยายเรื่องความปลอดภัยเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 6.ทุกพื้นที่สามารถนำความรู้ การสะกิดเตือน 4 ระวัง ไปใช้ คือ 1.ระวังทางแยก 2.ระวังทางข้าม 3.ระวังความเร็ว และ 4.ระวังน็อก (สวมหมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย) 7.การอบรมให้ความรู้ความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียน ไม่ใช่การจัดอบรมปีละ 1-2 วัน ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทักษะชีวิตในโรงเรียน อาจเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรของสถานศึกษา และ อีกบทเรียนสุดท้ายที่สำคัญคือ เรื่องการสื่อสาร เพื่อให้เกิดพลัง ควรจะต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ให้เป็นแคมเปญกลางร่วมกันของประเทศ หรือเป็นแคมเปญร่วมของเมือง
ด้านนางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า บทเรียนการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนของเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม สะท้อนภาพชัดเจนถึงโอกาสในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะการปลูกฝัง ติดกระดุมเม็ดแรกให้เด็กและเยาวชน มีโรงเรียนเป็นฐานและจุดจัดการสำคัญ โดยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน
นอกจากการทำงานกับโรงเรียนแล้ว ยังสามารถขยายพื้นที่การทำงานสู่ชุมชนโดยรอบโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีทัศนคติ ความรอบรู้ ทักษะ และเกิดความตระหนักที่นำไปสู่การมีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยมากขึ้น และนำไปสู่การสร้างพื้นที่ชุมชน-เขตเมือง ที่มีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เช่น มีการจัดการความเร็วหน้าโรงเรียน ชุมชน ตลาด มีการดูแลทางข้ามทางม้าลายให้ปลอดภัย และการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในผู้ใช้รถจักยานยนต์ เพื่อสนับสนุนการลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ ในเวทีสาธารณะ มีการจำลองสภาพถนน สภาพทางข้ามที่มีความไม่ปลอดภัย รวมถึงกิจกรรมสถานีความปลอดภัยทางถนน เขียน แขวน สั่นกระดิ่ง เพื่อสะกิดเตือนคนที่เรารักและคนที่รักเรา ให้มีความปลอดภัยทางถนน และมีการนำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมความปลอดภัยของนักเรียนแกนนำผึ้งน้อยเป็นหูเป็นตา จาก 7 โรงเรียน พร้อมมอบเกียรติบัตรยกย่องโรงเรียนต้นแบบ คุณครูแกนนำ และนักเรียนแกนนำสร้างความปลอดภัยนทางถนน คือ โรงเรียนวัดยานนาวา โรงเรียนวัดดอน โรงเรียนวัดม่วงแค โรงเรียนวัดแก้วแจ่มฟ้า โรงเรียนวัดหัวลำโพง โรงเรียนวัดสวนพลู และโรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม
โดยจากการดำเนินงานที่แกนนำนักเรียนได้มานำเสนอ เห็นชัดเจนถึงพลังร่วมมือ และความตื่นตัว ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ถนนที่พวกเขาต้องใช้ทุกวันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การออกแบบธงสะท้อนแสง DIY เพื่อให้การข้ามถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น การส่งต่อความรู้วินัยจราจร ป้ายจราจรและทักษะการข้ามทางม้าลายให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนทั้งโรงเรียน การทำฐานสาธิตและฝึกปฏิบัติจริง เพื่อสร้างทักษะการข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย ตลอดจนการผลิตสื่อ การทำคลิปสั้น ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหมวกกันน็อก การทำป้ายสะกิดเตือน นักเรียน ผู้ปกครอง และ พี่วิน ให้ใส่ใจความปลอดภัย เหล่านี้เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจ มีส่วนร่วมกับ เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ขับเคลื่อนและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สามารถติดตามที่ เพจ : เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม https://www.facebook.com/penhoopentar