โจทย์การเมือง 1 ตุลาคม 2567 …ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ให้ได้

โดย ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

วันแรงงานหรือ May Day ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับกระทรวงแรงงานกล่าวเชิงนโยบายต้องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศภายใน 1 ตุลาคม 2567 โดยให้เป็น “นโยบายสำคัญไม่แพ้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต” คำถามคือรัฐบาลสามารถประกาศค่าจ้างขั้นต่ำล่วงหน้าได้หรือไม่เนื่องจากกฎหมายของไทยกำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา กฎหมายนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 คือใช้ต่อเนื่องกันมา 52 ปี แม้แต่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดให้การปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างโดยต้องพิจารณาตามสูตรการคำนวณเชิงเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น การมีส่วนร่วมของแรงงาน (L จังหวัด) อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพ อัตราเงินเฟ้อ ตัวแปรเชิงคุณภาพตามมาตรา 87 มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ให้ไปศึกษาและทบทวนสูตรว่ายังคงใช้ได้ดีหรือไม่ในปัจจุบัน ล่าสุดการประชุมของบอร์ดค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเห็นว่าสูตรที่ใช้อยู่ยังมีความเหมาะสมกับปัจจุบันเพียงแต่อาจเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเงินเฟ้อ

ปีพ.ศ. 2567 มีการปรับค่าจ้างไปสองครั้งคือวันที่ 1 มกราคม มี 17 อัตรา ต่ำสุด 2 บาทและสูงสุด 16 บาท อัตราเฉลี่ยค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 ต่อมาวันที่ 12 เมษายน มีการปรับค่าจ้าง 400 บาท เฉพาะจังหวัดที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวและเป็นบางพื้นที่ไม่ใช่ทั้งจังหวัดมีแรงงานประมาณ 30,000 คน ทั้งนี้สถานประกอบการที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงานทำให้ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่มาก การปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศแตกต่างกันไม่สามารถอนุมานจากการนำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยวมาใช้ได้ เหตุเพราะเกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบประกันสังคม 11.882 ล้านคนและแรงงานนอกระบบอีกประมาณ 13.733 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกไม่น้อยกว่า 3.313 ล้านคน

ฉากทัศน์ตลาดแรงงาน  ณ สิ้นปี 2566 มีสถานประกอบการประมาณ 8.504 แสนกิจการในจำนวนนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 72,699 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไปจนถึงขนาดกลาง ได้แก่ รายย่อยทุนจดทะเบียนต่ำกว่าหนึ่งล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.32 และ SMEs ทุนจดทะเบียนไม่เกินห้าล้านบาทสัดส่วนร้อยละ 29.72 บริษัทขนาดใหญ่และมหาชนรวมกันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.96 ข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อสถานประกอบการซึ่งร้อยละ 90 เป็นรายย่อยและ SMEs ส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้นผลิตภัณฑ์ขาดนวัตกรรมและแบรนด์ เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างการผลิตมีความอ่อนไหวต่อต้นทุน การปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศซึ่งจะผลักดันดีเดย์ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 มีอัตราแตกต่างกันถึง 17 อัตรา ต่ำสุด 330 บาท และสูงสุด 370 บาททำให้การปรับค่าจ้างแต่ละโซนมีความแตกต่างกันตั้งแต่อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างร้อยละ 10.2 ไปจนถึงสูงสุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งจะกระจุกอยู่ในช่วงอัตราค่าจ้างวันละ 340 – 350 บาท ซึ่งจะทำให้อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,650 บาท หากมีแรงงาน 200 คน ค้าจ้างจะปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 4 ล้านบาทต่อปี สำหรับรายใหญ่คงเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ SMEs เป็นเรื่องที่ใหญ่มีความสำคัญต่อความอยู่รอด

ผลกระทบค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นระดับนี้จะมีผลกระทบต่อต้นทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ใช้แรงงานเข้มข้น สถานประกอบการที่กระทบมากสุดคือรายย่อยไปจนถึงขนาดกลางและรายใหญ่ซึ่งใช้เทคโนโลยีต่ำแต่ใช้แรงงานมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัดอัตราการปรับค่าจ้างจะสูงกว่ากทม.และปริมณฑลโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 – 10 ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะไม่อำนวยแต่ความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาสินค้าคงไม่มีทางเลือก

การปรับค่าจ้างช่วงปลายปีสูงในระดับที่กล่าวจะทำให้ราคาสินค้าทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและผู้ประกอบการรายใหญ่จะถือโอกาสผสมโรงปรับราคาสินค้าครั้งใหญ่ สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย สำรวจกลุ่มแรงงานช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 79.5 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีปัญหาจากราคาสินค้าแพงขึ้น ในด้านมหภาคขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต้นทุนของไทยจะลดลงกระทบต่อภาคส่งออกซึ่งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกิน 1 ใน 2 เป็นอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในยุค 3.0 เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมการ์เมนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมถุงมือยางรวมถึงอุตสาหกรรมที่รับจ้างการผลิต (OEM) ในภาคบริการ ภาคก่อสร้าง ภาคโลจิสติกส์ ค้าปลีก-ค้าส่ง ฯลฯ สถานประกอบการกลุ่มเหล่านี้มีความอ่อนไหวในเรื่องต้นทุนเนื่องจากผลิตภัณฑ์ขาดนวัตกรรม-ใช้คนมาก-ผลิตภาพแรงงานต่ำและใช้เทคโนโลยีน้อยทำให้มีต้นทุนสูงขณะที่ราคาขายต้องแข่งขันอย่างรุนแรง นอกจากนี้ระยะยาวอาจกระทบต่อการลงทุนทั้งที่จัดตั้งใหม่หรือบางส่วนอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคซึ่งอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทยและอาจถูกแย่งตลาดภายในประเทศกระทบต่อตลาดแรงงานในอนาคต

ทางออกคงไม่ใช่เกี่ยวกับการนำ AI ซึ่งกำลังตื่นเต้นกับการที่ไมโครซอฟท์มีแผนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย การใช้สมาร์เทคโนโลยีประเภทเอไอ หุ่นยนต์และ/หรือระบบออโตเมชั่นยังมีข้อจำกัดทั้งลักษณะกายภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยังต้องอาศัยแรงงานมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งประเทศไทยยังติดกับดักสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานต่ำทำให้มีความอ่อนไหวด้านต้นทุนค่าจ้าง ขณะที่การขายสินค้าทั้งเพื่อส่งออกและในประเทศต้องแข่งกับประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างต่ำและ/หรือใช้เทคโนโลยีสูง นอกจากนี้การเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนในเทคโนโลยียังมีข้อจำกัด ทางออกคงไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้มีการ Reskill และ/หรือ Upskill เพราะหากนายจ้างยังเป็น Low skill และ/หรือยังเป็น Low Technology ทักษะเหล่านั้นก็อาจไม่มีประโยชน์ …


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *