แม่ทัพ บสย. ประกาศความพร้อม 2024 พิชิตเป้าหมาย “SMEs Digital Gateway” ตามแผน Transform ขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Technology สำเร็จตามเป้า ในงานประชุมพนักงานทุกระดับครั้งที่ 1/2567 (The 1 st Townhall Meeting 2024) มั่นใจพลังทีมคนรุ่นใหม่ ร่วมต่อยอดความสำเร็จ กองหน้า กองกลาง กองหลัง ยกระดับองค์กรสู่ศูนย์กลางเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาส ช่วย SMEs แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศความพร้อมองค์กร พิชิตเป้าหมาย “SMEs Digital Gateway” และการยกระดับองค์กรที่พร้อมขับเคลื่อนด้วย Digital Technology ในการจัดประชุมพนักงานทุกระดับครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 (The 1st Town Hall Meeting 2024) ภายใต้แนวคิด “TCG Carnival” มหาสงกรานต์ ต่อยอดความสำเร็จผลดำเนินงาน 2566 จากพลังความร่วมมือ ทุ่มเท และการบูรณาการทำงานหนักเพื่อผู้ประกอบการ SMEs สู่องค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพิ่มสมรรถนะองค์กรเสริมแกร่งแบบเชิงรุกด้วยพลังคนรุ่นใหม่
สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ปีที่ผ่านมาได้สร้างสถิติใหม่ด้านการช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อของ บสย. หรือ SMEs Penetration Rate เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จาก 24.58 % เป็น 25.64% (เทียบกับจำนวน SMEs ทั้งประเทศ กว่า 3.3 ล้านราย ) ช่วย SMEs ได้สินเชื่อใหม่ 99,298 ราย และมียอด SMEs สะสมรวม 817,144 ราย อนุมัติวงเงินค้ำรวม 114,025 ล้านบาท เติบโต 120% ผ่านโครงการรัฐมีสัดส่วน 45% ตามด้วยโครงการ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู สัดส่วน 38% และโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง 17% โดยผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโครงการ PGS 10 คือค้ำประกันกลุ่ม Smart Biz คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% หรือราว 30,000 ล้านบาท
ผลสำเร็จดังกล่าวมาจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วนงาน ทีมงาน คือพลังส่งต่อความสำเร็จ ทำให้เป้าหมายองค์กรสู่การเป็น “SMEs Digital Gateway” ประสบผลสำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี นับตั้งแต่การประกาศยุทธศาสตร์องค์กรในปี 2565 ต้องขอขอบคุณ พลังทีมงานและเพื่อนพนักงานที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง และผู้บริหารทุกฝ่ายงานที่ร่วมกันก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินภารกิจตามนโยบายรัฐบาลเรื่องการแก้หนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยผู้ประกอบการ SMEs หลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ ด้วยผลสำเร็จจากการดำเนินงานโครงการ “บสย. พร้อมช่วย” ช่วยลูกหนี้อย่างยั่งยืน ประสบผลสำเร็จดีเยี่ยม ภายใต้มาตรการ หนี้ลด หมดเร็ว ปลดหนี้ ช่วยลูกหนี้เข้ามาตรการประนอมหนี้ คิดเป็นมูลหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้กว่า 4,700 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้ช่วยลูกหนี้ บสย. ให้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ
นายสิทธิกร เชื่อมั่นว่าพลังคนรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยต่อยอดความสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์องค์กร 2567 ภายใต้แผนและกลยุทธ์ บสย. กองหน้า กองกลาง กองหลัง ได้แก่ 1.เสริมแกร่งบทบาทและการพัฒนา บสย. F.A. Center สู่การเป็น Credit Mediator ภายในปี 2568-2569 2.การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกัน ลดต้นทุนธุรกิจ 3.การช่วยลูกหนี้แก้หนี้อย่างยั่งยืน 4.การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ต่อเนื่องอย่างเข้มแข็ง ภายใต้ SMEs Digital Gateway เชื่อม Platform ค้ำประกันสินเชื่อกับ Eco System ด้วยบริการใหม่จาก Line OA และนำ Data มาใช้ในการพัฒนา New Business Model
ปี 2567 ยังมีโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย โดยผลดำเนินงาน บสย. 2 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) มียอดอนุมัติค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2 ช่วย SMEs กว่า 22,822 ราย ส่วนความท้าทายใหม่ในปีนี้มีแน่นอน ทั้งด้านแนวทางการพัฒนายกระดับองค์กรด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี ในเฟส 2และ 3 และการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินการบริหารหนี้ ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี