“คาเฟอีนในกาแฟ” เรื่องนี้…คิดว่าผู้บริโภคควรรู้!

สำหรับผู้ที่ชอบดื่มกาแฟเป็นไลฟ์สไตล์และใส่ใจต่อสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ ว่ากันว่าในยุคสมัยนี้นอกจากต้องระวังเรื่องการบริโภคน้ำตาล, ไขมัน และสารแต่งกลิ่นแล้ว ระดับคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟที่เราดื่มกันทุกวี่วัน ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดและน่าห่วงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เชื่อว่าเรื่องนี้หลายๆคนอาจนึกไม่ถึงด้วยซ้ำไป

ผลการสำรวจล่าสุดที่เปิดเผยออกมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์โดย “วิช?” (Which?) องค์กรรีวิวสินค้าชื่อดังของอังกฤษ สร้างความ “ฮือฮา” ไปทั่ววงการตลาดกาแฟเมืองผู้ดี หลังจากเข้าไปสำรวจตรวจวัดหา “ปริมาณคาเฟอีน” ในเมนูกาแฟของร้านใหญ่ๆ ระดับหัวแถวที่เปิดอยู่ตามถนนสายสำคัญๆ ในกรุงลอนดอน แล้วพบว่า เมนูกาแฟยอดนิยมที่ขายในเชนกาแฟดัง 5 ราย มีระดับของคาเฟอีนที่แตกต่างกันมาก

นอกจากนั้น ยังพบว่า เมนูคาปูชิโนไซส์กลางของร้าน “คอสต้า คอฟฟี่” (Costa Coffee) มีประมาณคาเฟอีนสูงเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบเมนูชนิดเดียวกันของร้านคู่แข่งสำคัญอย่าง “สตาร์บัคส์” (Starbucks)

เรื่องระดับคาเฟอีนที่แตกต่างกันมากในเมนูกาแฟชนิดเดียวกัน และกาแฟของร้านดังมีปริมาณคาเฟอีนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับร้านอื่นๆ ได้รับความสนใจจากบรรดาสื่อเล็กสื่อใหญ่ในอังกฤษค่อนข้างสูง พร้อมใจกันหยิบมานำเสนอให้ผู้บริโภครับรู้โดยทั่วหน้า ท่ามกลางเป็นความห่วงเป็นใยว่า คนดื่มกาแฟอาจได้รับปริมาณคาเฟอีนในร่างกายมากเกินความจำเป็น จนมี “ผลกระทบ” ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์, กลุ่มผู้บริโภคที่ไวต่อคาเฟอีน และกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์สั่งควบคุมระดับคาเฟอีน

ในคนสุขภาพดี ปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับจากการดื่มกาแฟไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัมในแต่ละวัน ภาพ : Pexels จาก Pixabay

ผู้เขียนเองไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเมนูกาแฟชนิดเดียวจะมีปริมาณคาเฟอีนมากน้อยต่างกันขนาดนี้ ดังนั้น เมื่อได้เห็นตัวเลขจากผลสำรวจครั้งนี้ เห็นว่ามีความสำคัญมากที่ “ผู้บริโภค” ควรรับรู้ว่าในแต่ละแก้วของกาแฟที่ดื่มเข้าไป ร่างกายรับคาเฟอีนมากน้อยขนาดไหน แล้วก็คิดต่อไปว่าสูตรและส่วนผสมต่างๆของร้านสาขาในไทยของเชนกาแฟดังๆ จะเหมือนหรือต่างกับสาขาในต่างประเทศหรือไม่/อย่างไร

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยและของสหรัฐ ให้ข้อมูลค่อนข้างตรงกันว่า ในคนที่มีสุขภาพดี การดื่มกาแฟปริมาณปานกลางซึ่งมีคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง และรวมทั้งวันไม่เกิน 400 มิลลิกรัม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ขณะที่ผลดีจากการดื่มกาแฟคือ ทำให้รู้สึกหายอ่อนเพลีย, สดชื่น และกระปรี้กระเปร่า ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อการเกิดโรคบางอย่าง

แต่ถ้าหากดื่มในปริมาณที่มาก ก็เกิดอาจอาการ “ภาวะพิษคาเฟอีน” หรือคาเฟอีนโอเวอร์โดส ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

วิช? เป็นสมาคมหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านทางการทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกกันว่ารีวิว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ซื้อหรือใช้สินค้าและบริการนั้นๆ จะมีความปลอดภัย และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม องกรค์เอกชนรายนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานทีเดียว ก่อตั้งมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1957 ปัจจุบัน ถือเป็นแบรนด์ “คอนซูเมอร์ กรุ๊ป” ขนาดใหญ่ที่สุดในอังกฤษ มีสมาชิกในรูปนิตยสารประมาณ 680,000 คน และสมาชิกแบบนิตยสารออนไลน์อีกกว่า 335,000 คน

การสำรวจตรวจหาระดับคาเฟอีนในกาแฟของคอนซูเมอร์ กรุ๊ป รายนี้ โฟกัสไปยังเชนกาแฟชั้นนำ 5 แห่ง ซึ่งมีทั้งแบรนด์จากอังกฤษเองและจากต่างประเทศ นอกจากคอสต้า คอฟฟี่ กับสตาร์บัคส์แล้ว อีก 3 แห่ง ก็ได้แก่ “คาเฟ เนโร” (Caffe Nero), “เกร็กส์” (Greggs) และ “เพร็ท เอ แมนเจอร์” (Pret A Manger) โดยสุ่มตัวอย่างจากเมนูกาแฟยอดนิยม 3 เมนู ประกอบด้วย คาปูชิโน, เอสเพรสโซ ซิงเกิ้ล ช็อต และกาแฟฟิลเตอร์ ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นเมนูที่บ้านเราเรียกกันว่ากาแฟดริป

กราฟิกเปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีนในกาแฟของร้านกาแฟใหญ่ 5 แห่งในอังกฤษ ภาพ : which.co.uk/

ในตารางเปรียบเทียบของวิช? ที่ผู้เขียนนำมาลงในบทความนี้ซึ่งประเด็นถูกสื่ออังกฤษพาดพิงมากที่สุด ก็คงไม่พ้นไปจากเมนูเอสเพรสโซผสมนมอย่าง “คาปูชิโน” จะเห็นว่า คาปูชิโนของคอสต้า คอฟฟี่ ที่ข่าวบอกว่าเป็นแก้วไซส์กลาง ใช้เอสเพรสโซ 3 ช็อต ให้ปริมาณคาเฟอีน 325 มิลลิกรัม จากแก้วหรือถ้วยขนาด 362 มิลลิลิตร เทียบกับคาปูชิโนของสตาร์บัคส์ที่มีปริมาณคาเฟอีนเพียง 66 มิลลิกรัม จากแก้วขนาด 350 มิลลิลิตร

ส่วนคาปูชิโนของคาเฟ เนโร ให้ปริมาณคาเฟอีน 110-115 มิลลิกรัม จากแก้วขนาด 355 มิลลิลิตร ขณะที่คาปูชิโนของร้านเกร็กส์ มีปริมาณคาฟอีน 197 มิลลิกรัมจากแก้วขนาด 341 มิลลิลิตร ใกล้เคียงกับร้านเพร็ทฯ ที่มีคาเฟอีน 180 มิลลิกรัม จากแก้วขนาด 350 มิลลิลิตร

สำหรับเมนู “เอสเพรสโซซิงเกิ้ล ช็อต” นั้น ปรากฏว่า ช็อตเอสเพรสโซจากร้านเพร็ทฯ มีปริมาณคาเฟอีน 180 มิลลิกรัม จากแก้วขนาด 30 มิลลิลิตร สูงเกือบ 6 เท่าเมื่อเทียบกับช็อตเอสเพรสโซของร้านสตาร์บัคส์ นอกจากนั้นแล้ว กาแฟฟิลเตอร์ของร้านเพร็ทฯ ก็มีปริมาณคาเฟอีน 271 มิลลิกรัม จากแก้วขนาด 350 มิลลิลิตร ซึ่งถือว่าสูงสุดจากการสำรวจในหมวดเมนูกาแฟฟิลเตอร์

ความแตกต่างของปริมาณคาเฟอีนในกาแฟชนิดเดียวกันของทั้ง 5 ร้านนั้น เว็บไซต์ www.which.co.uk ระบุเอาไว้ว่า ไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านปริมาณกาแฟที่ใช้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากชนิดของสายพันธุ์กาแฟที่ใช้ด้วย นั่นคือ อาราบิก้ากับโรบัสต้า โดยมล็ดกาแฟหลัก 2 ประเภทนี้ให้ปริมาณคาเฟอีนที่แตกต่างกัน รวมถึงรสชาติก็แตกต่างกันด้วย และอย่างที่ทราบกันดีอาราบิก้ามีปริมาณคาเฟอีนต่ำว่าโรบัสต้าประมาณครึ่งหนึ่ง

คาปูชิโนไซส์กลางของคอสต้า คอฟฟี่ ให้ปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าร้านคู่แข่ง ภาพ : juliachancejc จาก Pixabay

ตัวเลขคาเฟอีนในเอสเพรสโซช็อตเดียวของคอสต้า คอฟฟี่ อยู่ที่ 100 มิลลิกรัม ก็น่าจะอนุมานได้ว่าคาปูชิโนที่เป็นเมนูเอสเพรสโซผสมนมของแบรนด์นี้ ใช้เอสเพรสโซถึง 3 ช็อตด้วยกันตามที่ข่าวบอก เพราะให้คาเฟอีนเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 3 เท่า เป็น 325 มิลลิกรัม จึงเป็นกาแฟที่หนักและแรงตัวหนึ่ง อาจจะ “ได้ใจ” คอกาแฟบางกลุ่มที่ชอบของแรงๆ แต่นั่นก็หมายความว่าปริมาณคาเฟอีนที่นักดื่มได้รับจากการดื่มคาปูชิโนของคอสต้า คอฟฟี่ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้ระดับ 400 มิลลิกรัม ซึ่งเป็น “เพดาน” ที่คนปกติไม่ควรบริโภคเกินในแต่ละวัน

โดยปกติ กาแฟโรบัสต้าในหนึ่งเมล็ด ให้คาเฟอีนประมาณ 3% ส่วนเมล็ดกาแฟอาราบิก้าจะมีปริมาณของคาเฟอีนอยู่ที่ 1.5% จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดสำหรับกาแฟที่ว่าหนักและดีดแรงโดยเฉพาะเอสเพรสโซ่นั้น มีการ “เบลนด์” กันระหว่างกาแฟสองชนิดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระดับคาเฟอีนในกาแฟจะมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณกาแฟที่ใช้และสายพันธุ์กาแฟเพียง 2 ปัจจัย ยังมีสภาพแวดล้อมอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น ระดับการคั่ว, อุณหภูมิน้ำที่ใช้ชง, ประเภทเมนูกาแฟ, ชนิดเครื่องชง, ระยะเวลาในการชง, คุณภาพของการบด และอื่นๆ

กาแฟของสตาร์บัคส์มีปริมาณคาเฟอีนต่ำสุดจากการสำรวจกาแฟ 3 เมนูยอดนิยม ภาพ : Fabian Holtappels จาก Pixabay

ที่จริงเรื่องนี้ก็น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย แต่วันนี้ขอโฟกัสเฉพาะปริมาณคาเฟอีนในเมนูกาแฟยอดนิยมตามที่ปรากฎเป็นข่าวจากอังกฤษ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับนักบริโภคกาแฟหรือผู้ที่ติดกาแฟงอมแงมในบ้านเรา

อีกประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจก็คือ ตอนที่ลงข่าวผลสำรวจของวิช? สื่ออังกฤษอย่างเว็บไซต์เดอะ การ์เดี้ยน ก็หยิบเอาปริมาณคาเฟอีนในคาปูชิโนของคอสต้า คอฟฟี่ ไปเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มให้พลังงานแบรนด์ “เรดบูล” (Red Bull) ในรูปแบบกระป๋องขนาด 250 มิลลิลิตรซึ่งมีปริมาณคาเฟอีน 80 มิลลิกรัม เหมือนพยายามชี้ชัดให้เห็นว่าตัวเลขคาเฟอีนในกาแฟของคอสต้า คอฟฟี่ สูง “แซงหน้า” เครื่องดื่มให้พลังงานไปแล้ว

จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน เคยมีข่าวไปทั่วโลกทำนองว่า เครื่องดื่มให้พลังงาน (energy drink) ของหลายๆเจ้ารวมไปถึงเรดบูล ถูกเพ็งเล็งจากหน่วยงานในสหรัฐและอังกฤษว่า มีระดับ “คาเฟอีน” และ “น้ำตาล” สูงจนอาจสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กวัยรุ่น จึงมีความพยายามเดินหน้าผลักดันกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มพลังงานให้กับเด็กวัยรุ่นออกมา

ผลสำรวจพบว่าร้านเพร็ท เอ แมนเจอร์ มีปริมาณคาเฟอีนมากสุดในเมนูเอสเพรสโซและกาแฟฟิลเตอร์ ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/Zhangyang

แต่ก็โดนสวนกลับมาจากผู้ผลิตเครื่องดื่มให้พลังงานว่า เรื่องนี้ไม่ยุติธรรม…คาเฟอีนมีอยู่ในเครื่องดื่มหลายประเภท เช่น น้ำอัดลม, ชา และกาแฟ โดยเฉพาะร้านกาแฟบางแห่ง เสิร์ฟกาแฟที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าเรดบูลกระป๋องเสียอีก!

ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า เรื่องปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ มีประเด็นอะไรที่เราเพิกเฉยหรือมองข้ามไปหรือเปล่า?

ดูเหมือนจะตกเป็นเป้าจับจ้องไม่น้อยทีเดียวสำหรับ “คอสต้า คอฟฟี่” ถึงขั้นต้องให้โฆษกบริษัทออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าปริมาณคาเฟอีนของกาแฟในแต่ละแก้ว ขึ้นอยู่จำนวนเมล็ดกาแฟและขนาดของเครื่องดื่มที่ลูกค้าสั่ง แล้วกาแฟดีแคฟและเครื่องดื่มที่ปราศจากคาเฟอีน ร้านเราก็มีจำหน่ายอยู่นะ ขณะที่ข้อมูลคาเฟอีนทั้งหมดสามารถหาได้จากในร้านหรือผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

“ที่ผ่านมา ร้านได้กระตุ้นให้ลูกค้าตระหนักถึงปริมาณคาเฟอีนในกาแฟคอสต้า เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในระดับเหมาะสมกับข้อกำหนดด้านการบริโภคในแต่ละวันหรือเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน” โฆษกคอสต้า คอฟฟี่ กล่าวทิ้งท้าย

ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์ของเมล็ดกาแฟ , วิธีการคั่ว และประเภทเมนูกาแฟ เป็นต้น ภาพ : Nathan Dumlao on Unsplash

ข้อมูลคาเฟอีนที่คอสต้า คอฟฟี่ บอกว่ามีอยู่ในเว็บไซต์บริษัทนั้น ผู้เขียนพยายามเข้าไปค้นหา อยากรู้ว่า “ตรง” หรือ “ต่าง” กับผลสำรวจข้างต้น แต่หาไม่เจอ เจอแต่ข้อมูลด้านโภชนาการของแต่ละเมนูเครื่องดื่ม ท่านใดรู้ว่าอยู่ตรงไหน ช่วยแจ้งมายังผู้เขียนด้วยครับ จะขอบคุณมากๆ ผู้เขียนอาจพลาดหรือแสกนไปไม่ทั่วถึง

เอาเข้าจริงๆ ประเด็นระดับคาเฟอีนในเมนูกาแฟไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ดื่มมากแล้วไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าคุณดื่มกาแฟตามร้านวันละหลายแก้ว หรือต้องการควบคุมการบริโภคคาเฟอีน หรือตั้งครรภ์ หรือมีอาการไวต่อสารคาเฟอีน อาจต้องถึงครามาปรับแนวทางเสียใหม่ตอนออร์เดอร์กาแฟตามคาเฟ่มาดื่ม คิดให้เยอะขึ้นนิดนึงในความรักสุขภาพว่า กำลังสั่งเมนูอะไร? จากร้านไหน แล้วมีคาเฟอีนอยู่เท่าไหร่

เรื่องนี้หากว่าร้านกาแฟแจ้งให้ลูกค้าทราบหรือนำมาเปิดเผยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ไม่ต้องรอให้ถูกสุ่มสำรวจตรวจหาเข้าเสียก่อน ก็ถือว่าชนะใจลูกค้าและได้ใจผู้บริโภคไปเต็มๆ ครับ


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น