บสย. เปิดสูตร 3 เร่ง “เร่งค้ำ เร่งพัฒนา เร่งยกระดับ” สู่เป้าหมาย SMEs Gateway

สัมภาษณ์ คุณกิตติพงษ์ บุรณศิริ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากวิกฤตโควิด ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ในภาวะแบบนี้ บสย.เร่งเดินแผนกลยุทธ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างไร ในครึ่งปีหลัง 2566 นี้ มีแผนอะไรบ้าง

ติดตามจากบทสัมภาษณ์ คุณกิตติพงษ์ บุรณศิริ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ดร.นงค์นาถ : ในครึ่งปีหลัง 2566 บสย.มีทิศทางและแผนงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างไรบ้าง

คุณกิตติพงษ์ : สำหรับทิศทางการดำเนินงาน บสย. ครึ่งปีหลัง ยกระดับค้ำประกันด้วย Digital Technology สู่การเป็น SMEs Gateway ตามแนวทาง TCG Fast & First  รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้ได้มากที่สุดในช่วงฟื้นประเทศ โดยเน้นการทำงาน  3 เร่ง  “เร่งค้ำ เร่งพัฒนา เร่งยกระดับ”

1. เร่งผลักดันการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย. มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS 10 รองรับราว 25,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) มีวงเงินรองรับราว 50,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบัน ระยะที่ 7 มีวงเงินรองรับราว 15,000 ล้านบาท

2. เร่งพัฒนาโครงการพัฒนานวัตกรรม บสย. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Digital Platform และพัฒนา Line @tcgfirst เพื่อการเข้าถึงบริการใหม่ อาทิ การจองคิวปรึกษา “หมอหนี้” ผ่าน Line @tcgfirst ตลอด 24 ชั่วโมง

การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และเทรนด์ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในกลุ่ม Start up กลุ่มธุรกิจรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อม Green Business  กลุ่ม ESG การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน   โครงการพัฒนากระบวนการจัดการการเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารหนี้ และโครงการพัฒนาระบบ TCG Data Management Platform เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งภายในและภายนอก

3. เร่งยกระดับการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา หมอหนี้ บสย. โครงการพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาทางการเงิน ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) และโครงการการให้บริการ Credit Mediator เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

ดร.นงค์นาถ : ย้อนกลับไปครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2566) บสย.ได้ให้การช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาทางการเงินกับ SMEs มากน้อยแค่ไหน มีประมาณกี่ราย ด้วยมาตรการอะไรบ้าง

คุณกิตติพงษ์ : บสย. ประสบความสำเร็จในการให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center)  จำนวนผู้ใช้บริการลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาและเข้าอบรมมากกว่า 14,076 ราย   ขณะที่โครงการช่วยลูกหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” มาตรการเชิงรุก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืนได้รับผลสำเร็จ โดยสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านโครงการประนอมหนี้ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว “ผ่อนน้อย เบาแรง” ได้มากถึง 10,208 ราย คิดเป็นวงเงิน  3,745 ล้านบาท  โดยมีมาตรการผ่อนน้อย เบาแรง ชำระครั้งแรก 10% ผ่อนนาน 7 ปี ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ดอกเบี้ย 0% มีสัดส่วนสูงถึง 84%

ดร.นงค์นาถ : โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่โดดเด่นในรอบ  6 เดือนที่ผ่านมา มีอะไรบ้าง

คุณกิตติพงษ์ : โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่โดดเด่นในรอบ  6 เดือน ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs เข้มแข็ง (PGS 10) อนุมัติค้ำประกันได้ถึง 24,766 ล้านบาท (จากวงเงินที่ได้รับอนุมัติเมื่อเดือน ก.พ.2566 จำนวน 50,000 ล้านบาท) จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ทั้ง 5 Segments คือ      1. Smart Biz (สัดส่วนค้ำ 62%) วงเงินค้ำเฉลี่ยต่อราย 5.17 ล้านบาท  2. Smart One (25%) วงเงินค้ำเฉลี่ยต่อราย 2.72 ล้านบาท 3. Small Biz (13%) วงเงินค้ำเฉลี่ยต่อราย 0.09 ล้านบาท 4. Smart Green (0.14%) วงเงินค้ำเฉลี่ยต่อราย 3.82 ล้านบาท  5. Start up (0.01%) วงเงินค้ำเฉลี่ยต่อราย 0.07 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 40,254 ราย และโครงการค้ำประกันดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 5,450 ราย อนุมัติค้ำ 30,280 บาท

ดร.นงค์นาถ : ช่วยสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน  (ม.ค.-มิ.ย. 2566)

คุณกิตติพงษ์ : ผลดำเนินงาน ของบสย. ประสบความสำเร็จ ในด้านต่างๆ โดยในส่วนของการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ  6 เดือน  (ม.ค.-มิ.ย. 2566) บสย. ได้อนุมัติวงเงินรวม  67,987 ล้านบาท  ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 51,427 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 280,786 ล้านบาท สร้างสินเชื่อสู่ระบบ 76,049 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 493,552 ตำแหน่ง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ  4 โครงการ ได้แก่

1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 30,280 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของวงเงินรวม ช่วย SMEs 5,450 ราย

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs เข้มแข็ง (PGS 10) วงเงิน 24,766 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 36% ของวงเงินรวม ช่วย SMEs 40,254 ราย

3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน ระยะที่ 7 (BI7) วงเงิน 8,634 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% ของวงเงินรวม ช่วย SMEs 4,453 ราย

4.โครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ (PGS Renew และ PGS 5 ขยายเวลา) วงเงิน 4,307 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% ของวงเงินรวม  ช่วย SMEs 1,702 ราย

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

1.ภาคบริการ สัดส่วน 31% ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ภัตตาคาร ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจโรงแรมและหอพัก ธุรกิจท่องเที่ยว และ ธุรกิจแวร์เฮ้าส์

2.ภาคเกษตรกรรม สัดส่วน 11% ได้แก่ ธุรกิจผัก-ผลไม้  ธุรกิจชา กาแฟ  ธุรกิจข้าว และพืชไร่ ธุรกิจสินค้าเกษตร ธุรกิจปศุสัตว์ และธุรกิจประมง

3.ภาคการผลิตและสินค้าอื่น สัดส่วน 10% ได้แก่ ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก ตลาดสด และแผงลอย ธุรกิจค้าของเก่า ธุรกิจจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์ ธุรกิจการค้า ธุรกิจการผลิตอื่นๆ


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น