เอกชนกังวลส่งออกและเศรษฐกิจทรุด…อย่าเตะถ่วงตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ครบ 30 วันหลังการเลือกตั้งยังไม่สามารถประกาศรายชื่อ สส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้ 8 พรรคการเมืองโดยพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำซึ่งฟอร์มทีมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลยังมีกำแพงหลายชั้นสกัดขวางหน้าทั้งโดยกฎหมายรัฐรรมนูญที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้กลุ่มอำนาจเดิมยังอยู่ต่อ อีกทั้งมีสารพัดเงื่อนไขที่นึกไม่ถึงว่าประเทศไทย ณ พ.ศ.นี้จะยังมีอยู่ทำให้รัฐบาลใหม่อาจไม่ได้เกิดได้ในเร็ววัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลรักษาการโดยกฎหมายสามารถดันทุรังเกาะกลุ่มบริหารประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าเสถียรภาพการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจะเดินหน้าไปอย่างไร ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติที่เฝ้ามองการเมืองไทยที่ดูเหมือนยังอยู่ในโลกที่สามอย่างไม่ค่อยสบายใจ หากมีการใช้เกมส์เตะสกัดจนพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกได้คะแนนเกินครึ่งของที่นั่งในสภาไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อาจเกิดความวุ่นวายการเมืองภาคประชาชนและสารพัดม็อปจะลงถนนเหมือนในอดีตซึ่งยังเป็นภาพที่หลอกหลอนภาคธุรกิจและนักลงทุน ภาพความกังวลเห็นได้จากกองทุนตราสารต่างชาติ 80 กองทุนเริ่มมีความวิตกจนอาจมีเงินไหลออกไปแหล่งที่ปลอดภัย

ประเด็นที่อยากจะสื่อสารเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจจริงหรือ “Real Sector” ของไทยที่มีความน่าเป็นห่วงคือ “ภาคส่งออก” ซึ่งมีสัดส่วนใน GDP ประมาณร้อยละ 55 ช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาหดตัวเชิงเหรียญสหรัฐร้อยละ -5.22 ส่วนใหญ่เป็นการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมขณะที่ภาคการนำเข้าหดตัวร้อยละ -2.22 ที่น่ากังวลคือการนำเข้าสินค้าทุน-เครื่องจักรช่วงเดือนมกราคม-เมษายนหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -5.24 ขณะที่วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ -6.68 สินค้าอุปโภคและบริโภคขยายตัวเพียงร้อยละ 0.52

ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้คงฉายภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนว่าการลงทุนในรูปของเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าหดตัวอย่างต่อเนื่องและสามารถสะท้องถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 จะยังคงไม่ดีนักเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ธนาคารโลกหรือ “World Bank” ประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกปีพ.ศ.2566 จะฟื้นตัวอย่างช้าๆคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 ขณะที่เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ขยายตัวได้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.7 ผลคือภาคการส่งออกของไทยซึ่งพึ่งพิงกำลังซื้อจากตลาดโลกปีที่แล้วขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 คาดว่าปีนี้อาจหดตัวแต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มีการตั้งเป้า GDP จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภาวะความไม่แน่นอนของการเมืองไทยซึ่งยังคาดเดาไม่ได้อาจไปไม่ถึงเป้า โดยเฉพาะหากมีการนำค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาทเข้ามาอยู่ในสมการจะเห็นการลงทุนหายและการส่งออกครึ่งปีหลังจะหดตัว

จากการที่ผู้เขียนอยู่ในแวดดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการส่งออก ประเมินว่าไตรมาส 3 สถานการณ์ความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งตลาดภายในและการส่งออกจะยังคงชะลอตัว คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังนิ่งหรือชะลอออเดอร์จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังทรุดตัว กอปรกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เล่นงานเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา ยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียซึ่งเงินเฟ้อพุ่งสูงจากการขาดแคลนพลังงานและสินค้าที่จำเป็นทำให้มีคนว่างงานเป็นจำนวนมากไปจนเป็นพวกไม่มีบ้านอยู่หรือ “Homeless” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3-4 ทศวรรษ สถานการณ์ดังกล่าวสามารถสะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลงได้เป็นอย่างดี เช่น การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาปีที่แล้วเคยขยายตัวได้ร้อยละ 13.4 ช่วงเดือนมกราคม-เมษายนกลับมาหดตัวร้อยละ -5.21 โดยประเทศคู่ค้าหลัก 15 ประเทศการส่งออกหดตัวถึง 13 ประเทศ ประเทศเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออกรวมกันสัดส่วนร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมด

เป็นที่รับรู้กันว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าส่งออกลำดับสองรองจากสหรัฐอเมริกาปีที่แล้วเศรษฐกิจจีนทรุดตัวรุนแรงทำให้การส่งออกหดตัวร้อยละ -7.72 คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแต่ยังโตแบบช้าๆเหมือนหลายประเทศทำให้การนำเข้าแทบจะไม่ขยายตัว คาดว่าช่วงสามเดือนจากนี้ไปจะยังคงทรงตัว ส่วนหนึ่งผู้นำเข้าจีนที่เคยซื้อสินค้าจากไทยหันไปซื้อสินค้าจากเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งราคาถูกกว่าไทยหากมีการปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะเห็นผลกระทบที่มากกว่านี้

การเห็นภาพเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวจนส่งผลต่อการค้าโลกสามารถสะท้อนได้จากอัตราค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศหรือ “Freight Charge” เดือนมิถุนายนไปท่าเรือสำคัญของจีนปรับลดลงอย่างรุนแรงเกิดจากปริมาณสินค้าลดลงจนมีการแข่งขันด้านราคาทำให้อัตราค่าระวางเรือไปท่าเรือสำคัญของจีน เช่น ท่าเรือเซี่ยงไฮ้, ท่าเรือหนิงโป, ท่าเรือชิงเต่า, ท่าเรือฮ่องกง อัตราค่าระวางเรือลดลงร้อยละ 20-28 เทียบจากเดือนก่อนหน้านี้ สำหรับการส่งออกประเทศในอาเชียนปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 10.3 ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมากลับมาติดลบเฉลี่ยร้อยละ -7.34 สูงสุดในรอบ 3 ปี ปริมาณสินค้าที่ลดลงส่งผลทำให้ค่าระวางเรือแข่งขันกันปรับลดราคาโดยการส่งออกสินค้าไปท่าเรือโฮจิมินห์และท่าเรือไฮฟองของเวียดนามราคาลดลงร้อยละ 13-14 และท่าเรือจากาตาร์ราคาค่าระวางเรือลดลงถึงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น ข้อมูลเชิงประจักษ์ของสายการเดินเรือในรูปของค่าระวางเรือที่ลดลงอย่างมากแสดงให้เห็นถึงภาวะการหดตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศต่างๆส่งผลทำให้ไม่มีสินค้าที่จะนำเข้าหรือส่งออกซึ่งประเทศไทยก็เช่นกัน

เห็นภาพเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อกลายเป็นสุญญากาศของการเปลี่ยนผ่าน ช่วงผ่านมาหนึ่งเดือนขั้วที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นยังไม่รู้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่และยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภาวะเช่นนี้ทำให้การเมืองเป็นสุญญากาศซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น  ประเทศไทยเป็นของทุกคนที่เป็นคนไทยจึงไม่ควรผูกขาดรัฐชาติแบบของตนเอง ปัญหาทางเศรษฐกิจที่รอให้แก้ไขมีทั้งด้านการบริโภคที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่สูงจนไปกระทบกำลังซื้อ ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขนาดเวียดนามมีการปรับลดกำหนดโควต้าการส่งออกข้าว ภาคส่งออกที่ทรุดตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานและแรงงานเกินหนึ่งในสองของประเทศ

ภาวะเช่นนี้ต้องการรัฐบาลที่มาจากระบอบการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่เชื่อมั่นของคนไทยและต่างชาติ หากมีการเตะถ่วงจนตั้งรัฐบาลล่าช้าจะเป็นการซ้ำเติมความเชื่อมั่นทั้งการบริโภคและการลงทุน ภาคธุรกิจขณะนี้เผชิญปัญหาสินค้าค้างสต็อกจำนวนมากเพราะกำลังซื้อหายและรอออเดอร์ส่งออก เศรษฐกิจในประเทศกำลังซื้อยังไม่มาก การจับจ่ายใช้สอยมาเป็นช่วงๆเฉพาะในเทศกาลวันหยุดมีเพียงภาคท่องเที่ยวที่ไปได้ดีขณะที่สินค้าและสภาพคล่องลดลง ประเด็นเหล่านี้รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข ชุดเก่าอยู่มายาวจนทำลายสถิติแก้ปัญหาไม่จบควรปล่อยวางให้คนอื่นเข้ามาทำแทนบ้าง…


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น