ลงนามสัตยาบัน MOU … ความท้าทายเดินหน้ารัฐบาลผสมก้าวไกล

บทความพิเศษ : โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมของ 8 พรรคเพื่อฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็วหลังผ่านการเลือกตั้งเพียง 8 วัน แต่การเห็นรัฐบาลใหม่คงต้องยืดยาวออกไปจนกว่า กกต.จะประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นอยู่กับว่าจะประกาศวันใดแต่คงไม่เกินภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งหวังว่าคงไม่จำเป็นจะต้องรอยาวขนาดนั้น ถึงแม้รัฐบาล(ลุงตู่)ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการแต่ช่องว่างที่เป็นสุญญากาศทางการเมืองยังอึมครึม ในเวลาเช่นนี้การเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้งบประมาณมีข้อจำกัดค่อนข้างมากโดยเฉพาะข้าราชการหน่วยงานรัฐต่างๆ เข้าเกียร์ว่างรอนายใหม่ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในระดับประเทศ

ภาคเอกชนอยากเห็นการตั้งรัฐบาลเร็วไม่สะดุดหากล่าช้าจะมีความเสียหายต่อการเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองซึ่งภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซาทั้งจากภาคส่งออกที่ประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐอเมริกา อียูรวมถึงประเทศจีนเศรษฐกิจทรุดตัวทำให้การว่างงานสูงกระทบคำสั่งซื้อ อีกทั้งการท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง “Low season” ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐไม่สามารถอนุมัติโครงการใหม่ ทั้งหมดเป็นปัจจัยทำให้การบริโภคจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ค่อนข้างเงียบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงานและส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลเดิมที่เป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่งต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่เก้า รัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นขั้วพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรเป็นแบบแนวคิดเสรีนิยมหรือเสรีนิยมอ่อนๆ ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายและรูปแบบการบริหารประเทศที่ต่างไปจากเดิมทำให้ต่างชาติหรือแม้แต่นักลงทุนไทยอาจต้องเฝ้าคอยความชัดเจน

การบรรลุข้อตกลง(MOU)จนนำไปสู่แถลงการในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งถือเป็นรัฐบาลป้ายแดงเนื่องจากแกนนำพรรคก้าวไกลตั้งแต่หัวหน้าพรรคไปจนถึงลูกแถวเป็นแต่ฝ่ายค้านไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ดูเนื้อในของเอ็มโอยูที่ภาคเอกชนค่อนข้างฝากความหวังไว้โดยขอยกประเด็นที่สำคัญได้แก่

ประเด็นการผลักดันปฏิรูประบบราชการและกระบวนการยุติธรรมซึ่งภาคเอกชนต้องการให้แก้ไขระบบราชการในหลายกระทรวงที่ค่อนข้างไม่ตอบสนองต่อยุคสมัย ระบบราชการส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงถึงจะนำระบบดิจิทัลแต่ข้างหลังก็ยังเป็นอนาล็อกที่ใช้ดุลยพินิจของคนเป็นสำคัญ ประเด็นแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน ตรงนี้เอกชนสนับสนุนเต็มที่ขอให้แก้ได้จริงๆ เพราะคอร์รัปชั่นของไทยสะสมยาวนานจนเป็นวัฒนธรรมและอยู่ในดีเอ็นเอตั้งแต่ฐานรากคือการซื้อเสียงเลือกตั้งทุกระดับไปจนการจัดซื้อ-จัดจ้างของหน่วยงานรัฐและโครงการเมกะโปรเจ็กของรัฐจนประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคอร์รัปชั่นติดอันดับโลก ส่วนหนึ่งงบประมาณของประเทศรั่วไหลไปเป็นหลักแสนล้านบาทการแก้ปัญหานี้คงไม่ได้แก้ได้ง่ายๆ

ประเด็นการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero based budgeting) เป็นการปฏิรูประบบงบประมาณโดยไม่อ้างอิงจากการจัดงบในปีก่อนหน้าเป็นหลักแต่ใช้ความเร่งด่วนและปัญหาที่ต้องเผชิญในแต่ละปีเป็นสำคัญทำให้มีความคล่องตัวปรับเปลี่ยนเพิ่ม-ลดไปตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยใช้มาก่อนทำให้การงบประมาณมีประสิทธิภาพความท้าทายคือจะฝ่าด่านอรหันต์ของข้าราชการประจำซึ่งเป็นกำแพงยักษ์เคยชินกับระบบเก่าๆ จะทำได้อย่างไร

ประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ประชาชน ประเด็นนี้เห็นด้วยแต่ไม่มีรายละเอียดขอให้พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงนามเอ็มโอยูไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์และโรดแมพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ชัดเจนและมีรูปธรรม

ประเด็นที่เอกชนกังวลคือการเพิ่มรายได้ประชาชน-ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าจะไปปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดประมาณร้อยละ 27-30 โดยไม่มีที่มาที่ไป โดยอนุมานว่าขึ้นค่าจ้างสูงๆทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเศรษฐกิจจะดีและขยายตัวตามค่าจ้าง คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะผลกระทบไปถึงโครงสร้างต้นทุนของประเทศที่ต้องแข่งขันด้านการส่งออก ค่าจ้างสูงกระทบต่อราคาสินค้า ที่สุดภาระตกไปอยู่กับประชาชนในรูปเงินเฟ้ออีกทั้งผู้ประกอบการไทยร้อยละ 95 เป็นขนาดเล็กส่วนหนึ่งอาจปิดกิจการกระทบการจ้างงานแม้แต่ธุรกิจโรงแรมและภาคท่องเที่ยวก็กังวลในเรื่องนี้

ประเด็นยกเลิกผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ข้อนี้สนับสนุนแต่ความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะประเทศไทยปล่อยให้มีการผูกขาดทางการค้าจนแทบไม่เหลือช่องว่างธุรกิจขนาดกลางหรือเล็กจะเข้าไปแทรกและแข่งขันได้ ยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจค้าส่ง-ปลีกผูกขาดกันเพียงไม่กี่ตระกูล บางรายเจ้าของรายเดียวมีสาขามากกว่า 1.45 หมื่นสาขาตั้งแต่ถนนใหญ่ไปจนถึงท้ายซอยจะไปแทรกกันตรงไหน แม้แต่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่กินมาร์เก็ตแชร์มากกว่าครึ่งของประเทศ ประเด็นผูกขาดนี้ยังไม่กล่าวถึงถึงธุรกิจค้าสุรา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่กี่ตระกูลผูกขาดเป็นเจ้าสัวกันมาอย่างช้านาน เงินเหลือเข้าไปซื้อเกือบทุกกิจการโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ดินสวยๆอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้เกือบหมด เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบต้องทำกันอย่างจริงจังไม่ใช่แค่ไปปลูกกล้วยแค่ไม่กี่ต้นถือว่าเป็นที่ดินเกษตรไม่ต้องเสียภาษี

นอกจากที่กล่าวก็ยังมีหลายประเด็นที่เอกชนเห็นด้วย เช่น การดำเนินนโยบายต่างประเทศรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ประเทศไทยต้องมีความยืดหยุ่นต่อการแข่งขันของประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน การแก้ปัญหาฝุ่นพิษและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Net Zero, รวมถึงการแก้ปัญหายาเสพติดและการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษซึ่งค่อนข้างมีความท้าทายเพราะขณะนี้กระจายตัวไปอยู่ในทุกที่รายเล็กรายน้อยลงทุนไปแล้วจะทำอย่างไร

MOU หรือข้อตกลงร่วมการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งได้ลงนามไปแล้วเป็นเพียงก้าวแรกของรัฐบาลผสมซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลจะไปถึงฝั่งได้จริงหรือไม่ ข้อตกลงร่วมส่วนใหญ่เป็นหลักการที่ดีเพียงแต่ในทางปฏิบัติจะทำได้มากน้อยเพียงใดเพราะทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยคะแนนสูสีในทางรัฐศาสตร์รัฐบาลผสมเสียงก้ำกึ่งความขัดแย้งจะสูงเพราะต่างแย่งชิงไหวชิงพริบ ความกังวลของเอกชนคือ “ข้อตกลงที่เป็น MOU เป็นแค่กระดาษใบเดียว” ไม่มีกติกาว่าต้องทำหรือเลิกแต่ละพรรคมี “Agenda” ภาคเอกชนถึงขนาดทำเป็นสัญญาก็ยังบอกเลิกหรือไม่ทำตามสัญญาเป็นคดีอยู่ในศาลมากมาย

ภาคธุรกิจคาดหวังว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลควรดำเนินไปอย่างเร่งด่วนประชาชนฝากความหวังไว้มาก ประเทศไทยเป็นสังคมพหุนิยมประกอบด้วยความหลากหลายทางความคิด ความเป็นห่วงคือรัฐบาลที่เดินก้าวหน้าเร็วกว่าความคิดความอ่านของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งอาจต้องสะดุดจำเป็นที่ต้องมีความรอมชอม อะไรเร็วไปหรือแรงไปอาจต้องค่อยๆผ่อนมิฉะนั้นอาจล้มก่อนที่จะได้เดินด้วยซ้ำไป


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น