หอการค้าไทยระบุนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรฐกิจ “Unrealistic”

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ ในรายการ “ลับคมธุรกิจ” เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง ว่า  ยังไม่สามารถจับความชัดเจนในเชิงนโยบายได้ ไม่ออกมาในลักษณะของรูปธรรมจริงๆว่า จะขับเคลื่อนกันอย่างไรในเชิงเศรษฐกิจ

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วย 4 เครื่องยนต์หลัก คือ การส่งออก การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ  การลงทุน ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงการลงทุนในตลาดทุน เหล่านี้ คือ เรื่องหลักๆของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหา แล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร มีทิศทางอย่างไร

“อย่าลืมว่า เรายังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังล่อแหลมมาก จากวิกฤติโควิด ตอนนี้เริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ดีนัก เศรษฐกิจของคู่ค้าก็ค่อนข้างมีผลกระทบจากโควิดอยู่ เมื่อบวกกับผลกระทบของซัพพลายเชนที่ยังขาดอย่างรุนแรง ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนไหว  เงินเฟ้อสูงมาก กำลังผู้บริโภคก็ยังไม่ดี  ท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมาเต็มที่ วันนี้เราจะเห็นแล้วว่า ต้นปีมาการส่งออกเราติดลบ” ดร.พจน์ กล่าวและว่า ในด้านเศรษฐกิจ จึงอยากทราบว่า จากความขัดแย้งของแต่ละประเทศตอนนี้ ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาเศรษฐกิจทั้งหลาย รัฐบาลใหม่ มีแผนงานอย่าไร ที่จะขับเคลื่อนการผลิตและการส่งออกให้แข่งขันได้ แล้วสรุปออกมา รวมถึงเครื่องยนต์สำคัญ คือการท่องเที่ยว มีแผน กลยุทธ์อย่างไรในการขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเร็วที่สุด และสร้างรายได้กับประชาชนให้มากขึ้น

ส่วนเรื่องนโยบายประชานิยม ในบางจังหวะมีความจำเป็น อย่างในช่วงโควิด เศรษฐกิจชะงัก มีความจำเป็น แต่พอคลี่คลายแล้ว ประชานิยม จะต้องทำในส่วนจำเป็นกับ กลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ

“ประชานิยม เป็นวัคซีนแค่ชั่วคราวที่ฉีดระงับตรงนั้นที่มีปัญหา แต่ถ้าฉีดทุกวัน สุดท้ายคนที่โดนฉีดจะแพ้ คือ จะแพ้ยา สุดท้ายนอนง่อยเปลี้ยเสียขาดร.พจน์ กล่าว

ส่วนการลงทุน จะต้องเข้าไปดู ว่าจะปรับปรุงให้มันเติบโตขึ้น มั่นคงขึ้น เสถียรภาพมากขึ้นย่างไร ในเชิงเศรษฐกิจ ต้องการได้รับทราบนโยบายในเชิงประจักษ์ ที่สามารถจับต้องได้

วันนี้การลงทุนสำคัญว่า คือ รัฐบาลอนาคตจะมีนโยบายอย่างไร ที่จะจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนมากขึ้น และจะทำอย่างไรจูงใจให้นักลงทุนไทยลงทุนมากขึ้น ส่วนที่ลงทุนไปแล้ว จะทำอย่างไรที่จะผลักดันปรับปรุงให้มีความทันสมัย เหมาะกับยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะความรู้ความชำนาญเรื่องเทคโนโลยี ควรเป็นนโยบายภาครัฐที่จะเข้าไปสนับสนุน หรือ ภาคเกษตรจะทำอย่างไร กับเกษตรกรให้เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ง วิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่จะทำอย่างไร  การจัดสรรพื้นที่ปลูก การเอาตลาดมานำการผลิตจะทำอย่างไร ฯลฯ

ส่วนนโยบายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่อ่อนแอมาจากวิกฤติ โควิด ซึ่งสุดท้ายไม่ใช่ช่วยเหลือแค่เงิน ยังมีเงื่อนไขปล่อยเงินอีก แล้วข้อสำคัญคือ Knowhow ต้องมีแผนรองรับหมดสำหรับเอสเอ็มอี

รองประธานหอการค้าไทย กล่าวถึง เรื่องแรงงาน ที่หลายพรรค มีนโยบายออกมา แต่จริงๆแล้ว ปัญหาแรงงาน เรื่องค่าแรง จะนำไปใช้หาเสียงไม่ได้ มันผิดทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผิดทั้งไอแอลโอ  ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในความเป็นจริง แรงงานไทยนั้น ได้ปรับขึ้นไปสูงกว่าที่พูดกัน ฉะนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คนไทยอาจไม่ได้ประโยชน์ สิ่งสำคัญ แรงงานไทยต้อง Up-Skill และ Re-Skill เพื่อมารับค่าแรงอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็น Skill Labor

“โดยสรุป ต้องออกนโยบายแบบจริงใจหน่อย มองความเป็นจริง แล้วพูดในสิ่งที่คิดว่าทำได้จริง ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือ นโยบายออกกันมามากมาย แต่ทำไม่ได้ และถ้านำนโยบายที่หาเสียงไว้ในหลายๆเรื่อง  ไปบริหารบ้านเมืองจริงๆ ผมว่าเป็นไฟ ในเชิงเศรษฐกิจ หลายอย่าง Unrealistic จับต้องไม่ได้  คือ เรื่องของบ้านเมืองใหญ่กว่าเรื่องของพรรค แล้วก็ใหญ่กว่าเรื่องของการที่ได้มาของ ส.ส. เรื่องของบ้านเมืองมันใหญ่กว่าเยอะ จะต้องเดินในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นไปได้”


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น