“ที่ราบสูงโบลาเวน” บนเส้นทางสู่ “กาแฟพิเศษลาว”

หลังจากที่สตาร์บัคส์ เชนกาแฟชื่อดังของสหรัฐ ได้ฤกษ์เปิดร้านสาขาแรกในประเทศลาวไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ภาพของธุรกิจกาแฟในลาวถูกจับตามองด้วยความสนใจเป็นพิเศษจากชาวโลกอีกครั้ง พร้อมกับที่มีการตั้งคำถามว่า นอกจากเป็นไปตามแผนปูพรมปักหมุดเครือข่ายสาขาทั่วเอเชียแล้ว สตาร์บัคส์คาดหวังอะไรจากประเทศที่มีประชากร 7 ล้านคน  ขณะที่ธุรกิจร้านกาแฟก็ยังมีมูลค่าน้อยมากอยู่

สำหรับคำถามข้างต้นคงต้องให้ผู้บริหารสตาร์บัคส์มาตอบเองเพื่อความชัดเจนในรายละเอียด แต่ผู้เขียนใคร่ขอเรียนว่า วลีเดิมๆ ที่ว่า กาแฟลาวสู่ตลาดโลก ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของรัฐบาลและผู้ประกอบการกาแฟลาวนั้น  มาบัดนี้ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้ทันยุคทันเหตุการณ์ เป็น กาแฟพิเศษลาวสู่ตลาดโลก!

…แขวงทางตอนใต้ของลาว “จำปาศักดิ์” ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นลาวกับเวียดนาม ครอบคลุมบางส่วนของแขวงสาละวัน, เซกอง, และอัตตะปือ  ระดับความสูงของที่ราบสูงแห่งนี้อยู่ในช่วงประมาณ 1,000–1,350 เมตร  เหนือระดับน้ำทะเล เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย มีน้ำตกสวยงามหลายแห่ง

และแน่นอนว่า  “ที่ราบสูงโบลาเวน” (Bolaven Plateau) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจำปาศักดิ์ คือชื่อของแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกมานาน

ผลกาแฟสุกหรือเชอร์รีกาแฟ จากไร่กาแฟในลาว ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/Thomas Schoch

ที่ราบสูงโบลาเวน หรือบอละเวน เป็นเขตดินภูเขาไฟทางภาคใต้ของลาว บริเวณนี้มีการปลูกกาแฟกันมาตั้งแต่ค.ศ.1920 สมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แม้ทางตอนเหนือของลาวก็มีการปลูกเหมือนกันแต่น้อย แต่ไร่กาแฟถึง 95% ของลาวอยู่ในเขตที่ราบสูงแห่งนี้ โดยมีเมือง “ปากซอง” (Paksong) เป็นศูนย์กลางธุรกิจกาแฟในลาว

ด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 18–22 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี แร่ธาตุในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำจากธรรมชาติมีเพียงพอ ทำให้ราบสูงโบลาเวนปลูกกาแฟได้คุณภาพระดับสูง กลายเป็น “ผลผลิตทางการเกษตร” ที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าลาวเฉียดๆ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปี ผ่านทางการส่งออกรวม 26 ประเทศ ทั้งในยุโรป, อเมริกาเหนือ และเอเชีย

เป็นที่ทราบกันดีว่า กาแฟจากลาวส่วนหนึ่งถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยในหลายช่องทาง แต่ส่วนใหญ่ใช้กันในเซกเมนต์ตลาดแมส ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือในระยะหลัง ผู้ประกอบการไทยหลายรายเริ่มนำสารกาแฟคุณภาพสูงในแบบ กาแฟพิเศษ (specialty coffee) จากฝั่งลาว มาคั่วจำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุง และนำมาเบลนด์กับกาแฟจากแหล่งปลูกอื่นๆ  โดยเฉพาะเมนูกาแฟสายนม เช่น เดอร์ตี้ คอฟฟี่ เป็นต้น

น้ำตกตาดฟาน หนึ่งในมรดกทางธรรมชาติ บนที่ราบสูงโบลาเวนของลาวใต้ ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/Sebomann

ในลาว มีพื้นที่ปลูกกาแฟเกือบ 600,000 ไร่ ให้ผลผลิตต่อปี 161,200 ตัน สายพันธุ์กาแฟในลาวมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน หลักๆประมาณ 75% ก็เป็นโรบัสต้า, 20% เป็นอาราบิก้า ที่เหลือก็เป็นทิปปิก้า, คาติมอร์, คาทูร์รา และจาวา ชาวลาวเรียกกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ทิปปิก้าว่ากาแฟน้อย เรียกโรบัสต้าว่ากาแฟกลาง ส่วนกาแฟใหญ่ไม่รู้ว่ามีการเรียกกันด้วยหรือไม่

ตอนหลังมีการนำสายพันธฺุ์ดังและแพงอย่าง “เกอิชา/เกชา” เข้ามาปลูกในบางไร่ของที่ราบสูงโบลาเวน  แม้ว่ายังมีปริมาณน้อย แต่ก็ได้รับความสนใจจากบริษัทกาแฟต่างชาติสูงทีเดียว

ราว 20 ปีก่อน ผู้เขียนเคยนั่งรถตู้จากฝั่งไทยเข้าไปเที่ยวลาวใต้ที่อุดมด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม เช่น น้ำตกตาดฟาน, น้ำตกตาดเยื้อง, น้ำตกตาดผาส้วม, น้ำตกหลี่ผี, สี่พันดอน และปราสาทวัดพู ตอนนั้นจำได้ว่าชาวบ้านนำ “เมล็ดกาแฟคั่วเข้ม” ใส่ถุงพลาสติกมัดด้วยหนังยาง มาวางขายตามแหล่งท่องเที่ยว ถุงละ 1 กิโลกรัม ขายในราคาไม่กี่สิบบาท ผู้เขียนยังหอบหิ้วกลับมาเป็นของฝากของกำนัลให้เพื่อนฝูงหลายคนที่เป็นคอกาแฟ แล้วตอนไปพักตามรีสอร์ทต่างๆ จะมีการเสิร์ฟ“กาแฟสดรสชาติดี” พร้อมอาหารเช้า เทียบกับบ้านเราแล้ว ตอนนั้นโรงแรม/รีสอร์ทส่วนใหญ่ยังเสิร์ฟกาแฟอินสแตนท์ให้ลูกค้าอยู่เลย

ในรอบ 10-15 ปีทีผ่านมา มีนักธุรกิจต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปลงทุนทำไร่กาแฟในลาว หนึ่งในนั้นได้แก่ “ทีซีซี กรุ๊ป” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขณะเดียวกัน เอ็นจีโอต่างประเทศหลายสายหลายแขนงทยอยเข้าไปทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายเล็กๆผ่านทางความร่วมมือกับรัฐบาลลาว ในรูปแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ, การปลูก, การบำรุงดิน และการโพรเซศรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟ และสร้างมูลค่าทาฃการตลาด

เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงผลิตจากไร่ในโบลาเวน พลาโต ของแบรนด์ลาว เมาเท่น คอฟฟี่ ภาพ : facebook.com/laomountain

อันเป็นไปตามหลักการที่ว่า ถ้า “ต้นน้ำ” ดีแล้ว “ปลายน้ำ” ก็ย่อมดีตามไปด้วย

ทุกวันนี้ ธุรกิจกาแฟในลาวพัฒนาไปไกลพอสมควรทีเดียว นอกจากกาแฟจะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญแล้ว ยังมีเชนกาแฟชั้นนำหลายแห่งจากต่างประเทศพาเหรดกันเข้าไปเปิดร้านสาขา ในจำนวนนี้ก็มีแบรนด์กาแฟจากประเทศไทยเราด้วยเช่นกัน

ขณะที่ในตลาดกาแฟของลาวเองก็มีหลากหลายเซกเมนต์ทั้งสินค้าในตลาดแมส,ตลาดพรีเมี่ยม และตลาดกาแฟพิเศษที่กำลังเติบโตขึ้นทุกขณะ นอกจากนั้น  ยังเต็มไปด้วยคนกาแฟจากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดร้าน ,รับซื้อสารกาแฟ,สร้างโรงคั่ว ,จัดจำหน่ายแบบขายปลีกและขายส่ง และพัฒนาช่องทางการตลาดการขายทางออนไลน์

ในตลาดแมสและพรีเมี่ยม ต้องนับว่าแบรนด์กาแฟเจ้าถิ่นอย่าง “ดาว คอฟฟี่” (Dao Coffee) ของ “มาดามเหลื้อง ลิดดัง” เป็นบิ๊กเนม ซึ่งแบรนด์นี้คนไทยเรารู้จักกันดี เพราะ เข้ามาบุกตลาดกาแฟไทยหลายปีแล้ว ทั้งผลิตภัณฑ์ก็มีจำหน่ายอยู่ตามเว็บค้าปลีกต่างๆในบ้านเรา ขณะที่บุญเฮือง ลิดดัง ลูกสาวของมาดามเหลื้อง ปัจจุบันก็นั่งเก้าอี้ประธานสมาคมกาแฟลาวอยู่ด้วย

ส่วนเจ้าใหญ่ดั้งเดิมอย่าง “กาแฟสีสนุก” (Sinouk Coffee) ที่มี “สีหนุก สีสมบัด” อดีตประธานสมาคมกาแฟลาว เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งในตอนหลังขยับเซกเมนต์จากตลาดแมส เข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมกับตลาดกาแฟพิเศษแบบเต็มตัว

เนื่องกาแฟคุณภาพสูงหรือกาแฟพิเศษมีราคาสูงกว่ากาแฟเซกเมนต์อื่นๆ ช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ เกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟในลาวจึงพุ่งเป้าไปที่ตลาดกาแฟพิเศษ เพื่อรองรับกระแสความคลั่งไคล้ของคนรุ่นใหม่ ติดตามมาด้วยการเปิดร้านกาแฟพิเศษขนาดกลาง-เล็กตามเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยว มีทั้งคนลาวและชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ เช่น เลอ ทริโอ (Le Trio Coffee), ยูนิ คอฟฟี่ (Yuni Coffee), เมือง เซียง คอฟฟี่ (Mueang Xieng Coffee), แซฟฟรอน คอฟฟี่ (Saffron Coffee), คอมมา คอฟฟี่ (Comma Coffee), ลาว เมาเท่น คอฟฟี่ (Lao Mountain Coffee)  และสหกรณ์ผู้ผลิตกาแฟที่ราบสูงโบลาเวน (Bolaven Plateau Coffee Producers’ Cooperative)

ปรากฎการณ์นี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการผลิตกาแฟ ทั้งการโพรเซส,การคั่ว และการชง รวมไปถึงการจัดหาเมล็ดกาแฟคุณภาพแบบซิงเกิ้ล ออริจิ้น มาป้อนตลาดทั้งในและนอกประเทศ

สตาร์บัคส์ เปิดร้านสาขาแห่งแรกที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภาพ : Facebook/Suchitara Sailomteepanmaa Wongviggit’s

ต้นเดือนพฤศจิกายนมานี้เอง  “สตาร์บัคส์” (Starbucks) เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลก เข้าไปเปิดร้านสาขาที่ศูนย์การค้าใจกลางนครเวียงจันทน์  ภายใต้โมเดลการขายสิทธิ์บริหารให้กับ “คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ลาว)”​  ถือเป็นสาขาแห่งแรกในประเทศลาว ส่งผลให้ลาวกลายเป็นประเทศที่ 17 ในเอเชีย และประเทศที่ 84 ในโลกที่เชนกาแฟรายนี้เข้าไปเปิดร้านสาขา อันที่จริง สตาร์บัคส์เตรียมเปิดสาขาที่ลาวไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ติดขัดตรงสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้ต้องเลื่อนมาเป็นปีนี้แทน

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า กาแฟจากที่ราบสูงโบลาเวน ของ “ลาว เมาเท่น คอฟฟี่”  ไปคว้ารางวัลชนะเลิศ 2 รางวัลซ้อนในการแข่งขันประกวดกาแฟรายการเวิลด์ คอฟฟี่ ชาเลนจ์  ที่ประเทศสเปน โดยรางวัลแรก เป็นเมล็ดกาแฟพีเบอร์รี่ มาเป็นที่ 1 ในประเภทคอนติเนนตัล อะวอร์ด ฟอร์ เอเชีย อีกรางวัลนั้น แม่โขง ไรซิ่ง (Mekong Rising) เข้าวินเป็นอันดับแรกในประเภทเอสเพรสโซเบลนด์ งานนี้มีผู้ปลูกกาแฟมากกว่า 34  ประเทศ จากเอเชีย, แอฟฟริกา,ละติน อเมริกา และโอเชียเนีย เข้าร่วมงาน เป้าหมายคือโปรโมทกาแฟคุณภาพสูง

ทั้งนี้ ลาว เมาเท่น คอฟฟี่ เป็นร้านและโรงคั่วกาแฟในนครเวียงจันทน์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2001  มีเครือข่ายไร่กาแฟประมาณ 80 ไร่  เจ้าของและผู่ก่อตั้งชื่อว่า สตีฟ เฟลด์ชไนเดอร์

เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงจากหลายโพรเซสของจริงใจ คอฟฟี่ โคอ็อป ภาพ : facebook.com/JingJhaiCoffee

ย้อนกลับไปเมื่อกลางปีที่แล้ว  กลุ่มเอ็นจีโอหลายประเทศ นำโดยสถาบันคุณภาพกาแฟ (Coffee Quality Institute) ร่วมกับรัฐบาลลาว จัดการ “ประกวดสารกาแฟ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศลาว มีบริษัทกาแฟลาว ยูนิ คอฟี่ เป็นผู้สกรีนสารกาแฟในเบื้องต้น งานนี้กระทรวงเกษตรฯสหรัฐเป็นผู้ออกทุนให้ทั้งหมด ส่วนคณะกรรมการตัดสินก็เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสวิส,สหรัฐ และอินเดีย มาประเมินและจัดอันดับ การประกาศผลก็มีขึ้นที่งานสเปเชียลตี้ คอฟฟี่ เอ๊กซ์โปร์ ในนิวออร์ลีนส์ แลัวก็เปิดประมูลขายกันทางออนไลน์ด้วย

ผลปรากฎว่า กาแฟที่ชนะเลิศ 5 อันดับแรก มาจากบริษัทกาแฟลาว 3 แห่ง คือ “จริงใจ คอฟฟี่ โคอ็อป” (Jing Jhai Coffee Coop) จากปากซอง, “โรงงานดาว คอฟฟี่”  (Dao Coffee Factory) และ “โบลาเวน ฟาร์มส์” (Bolaven Farms) โดยท็อปสกอร์สูงสุด 85.35 คะแนน เป็นกาแฟอาราบิก้าที่แปรรูปด้วยวิธีเนเชอรัลโพรเซสของจริงใจ คอฟฟี่ฯ ส่วนโรบัสต้านั้น สกอร์สูงสุดอยู่ที่ 84.31 คะแนน จากโบลาเวน ฟาร์มส์

แอรอน อัลวิส ซูเปอร์ไวเซอร์แผนกตรวจสอบคุณภาพกาแฟของสตาร์บัคส์ พูดถึงกาแฟลาวในการประกาศผลการแข่งขันครั้งนี้ว่า กาแฟลาวให้กลิ่นหลากหลายทีเดียว เช่น ผลไม้สีแดง,ไวน์,น้ำตาลทรายแดง,กระวาน และอบเชย ส่วนกลิ่นรสนั้น ประกอบด้วย กลิ่นดอกไม้,น้ำผึ้ง,เกรฟฟรุ๊ต,วนิลลา และกลิ่นยาสูบ ทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์ในการเซนซอรี่จริงๆ

แชฟฟรอน คอฟฟี่ หนึ่งในร้านกาแฟพิเศษอันดับต้นๆของลาว ภาพ : facebook.com/SaffronCoffee

ได้ข่าวว่า ปีนี้ก็จะมีการจัดประกวดกันอีกปีหนึ่ง ตามโปรเจ๊กต์ระยะ 4 ปี แต่ผู้เขียนยังไม่เห็นผลการตัดสิน

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจกาแฟพิเศษในตลาดประเทศลาวแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักไม่น้อยทีเดียว  เชื่อว่าในอนาคต “ที่ราบสูงโบลาเวน” ทำเลทองในการปลูกกาแฟอีกแห่งหนึ่งของโลก จะผลิตกาแฟคุณภาพสูงออกป้อนตลาดโลกในจำนวนที่มากขึ้นและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ตามระดับการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะสายพันธุ์เกอิชา/เกชา หนึ่งในกาแฟที่แพงที่สุดในโลก ที่ขณะนี้ไร่กาแฟในโบลาเวนเริ่มนำออกสู่ตลาดระหว่างประเทศกันไปบ้างแล้ว


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น