นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง…ประชานิยมค่าจ้าง 600 บาท/วัน

บทความพิเศษ : สายงานเศรษฐกิจ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI)

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำถูกพรรคการเมืองนำมาเป็นนโยบายประชานิยมหาเสียงก่อนเลือกตั้งซึ่งคาดว่า อาจอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี พ.ศ.2566 จากการแสดงวิสัยทัศน์ของประธานคณะที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจหากเข้ามาบริหารประเทศต้องการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี

การผลักดันส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงานด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาทและเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขั้นต่ำอยู่ที่ 25,000 บาท/เดือน ภายในปี พ.ศ.2570 โดยนำไปผูกกับว่าค่าแรงที่สูงจะทำให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเกียรติซึ่งประเด็นนี้ยังกังขาว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ก่อนหน้านี้ปี พ.ศ.2555-2556 พรรคเพื่อไทยสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 141 บาทหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 70-88 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออกชะลอตัว

ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งประกาศใช้ 1 ตุลาคม พ.ศ.2565 มี 9 อัตราแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันสูงสุด     วันละ 354 บาท (มี 3 จังหวัด) ต่ำสุดวันละ 328 บาท (มี 5 จังหวัด) กทม.และปริมณฑลอัตราค่าจ้าง 353 บาทอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นประเด็นหาเสียงคือวันละ 600 บาทภายในปีพ.ศ. 2570 หากใช้อัตราค่าจ้างของกทม.และปริมณฑลเป็นฐานจะทำให้ค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้นภายในห้าปีข้างหน้าวันละ 247-250 บาทหรือเฉลี่ยขึ้นปีละ 50 บาท ซึ่งค่าจ้างที่กล่าวก็ไม่ได้ระบุว่าเท่ากันทั้งประเทศหรือไม่ หากใช้เหมือนเมื่ออดีตคือเท่ากันทุกจังหวัดจังหวัดที่กระทบมากสุดคือกลุ่มจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์เศรษฐกิจ เช่น ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่านและอุดรธานีซึ่งได้รับค่าจ้างวันละ 328 บาทจะต้องปรับค่าจ้างในอัตราที่สูง

ตารางการปรับค่าจ้างตามนโยบายประชานิยม

โดยใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กทม.และปริมณฑล ปี 2565

พ.ศ. อัตราค่าจ้าง

ก่อนปรับ (บาท)

อัตราการปรับ/วัน

(บาท)

อัตราค่าจ้าง

หลังปรับ (บาท)

%
2566 353 50 403 14.16
2567 403 50 453  12.4
2568 453 50 503 11.03
2569 503 50 553   9.94
2570 553 47 600 8.5

จากตารางข้างต้นเป็นการสมมติฐานโดยใช้ค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างห้าปีเพื่อให้ถึงเป้าหมาย              600 บาท/วัน กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าวปัจจุบันมีจำนวน 2,408,716 คน ขณะที่แรงงานไทยที่รายได้ไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 1 ใน 3 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมดก็จะได้รับอานิสงส์เคยมี    การสำรวจของสนง.สถิติแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อนมีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ 2.11 ล้านคนหรือมากกว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็ก (Micro Enterprise) ซึ่งลูกจ้างไม่เกิน 9 คน ผลกระทบของนายจ้างแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและการปรับใช้เทคโนโลยี

นโยบายหาเสียงโดยใช้ค่าจ้างขั้นต่ำแบบประชานิยมไม่ใช่มีแต่พรรคเพื่อไทย ช่วงเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐเคยชูนโยบายปรับค่าจ้าง 425 บาทแต่ไม่ได้นำมาใช้จริงเพราะมีการเปลี่ยนผู้บริหารพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทยผู้ที่นำเสนอแนวคิดเป็นเพียงวิสัยทัศน์ของประธานคณะที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมไม่ใช่หัวหน้าพรรคคงต้องดูว่าทางพรรคจะประกาศเป็นนโยบายหาเสียงอย่างเป็นทางการหรือไม่ อย่างไรก็ตามจากนี้ไปคงเห็นหลายพรรคออกนโยบายหรือแนวคิดหาเสียงเชิงประชานิยมปรับค่าจ้างเพื่อชิงคะแนนเสียงจากผู้ใช้แรงงานในภาคเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบประมาณ 24 ล้านคน (ไม่รวมแรงงานเกษตร-ประมง 12 ล้านคน) จำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องติดตามว่าจะมีการนำมาใช้จริงหรือไม่และต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์

ผลกระทบจากนโยบายประชานิยมหาเสียงค่าจ้างขั้นต่ำ

1.ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนคือค่าจ้างแท้จริงของลูกจ้างสูงขึ้น ค่าจ้างแท้จริงคือรายได้ที่หักเงินเฟ้อเพื่อจะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง แต่ในอดีตพบว่าค่าจ้างที่ก้าวกระโดดจะตามมาด้วยเงินเฟ้อราคาค่าของที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกันและมีข้อมูลว่าแรงงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กและภาคเกษตร-ประมงถึงแม้ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายก็ยังคงเป็นกลุ่มตกหล่นไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่ม

2.กระทบฐานค่าจ้างและขีดความสามารถในการจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างขั้นต่ำเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้งภาคการผลิต, การบริการ, ก่อสร้าง, โลจิสติกส์, ท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, ที่พักอาศัย, ลูกจ้างในครัวเรือน, แรงงานเกษตรและประมงรวมถึงแรงงานต่างด้าว การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดจึงส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่เคยเกิดในอดีตปี พ.ศ 2555-2556

3.การปรับค่าจ้างชี้นำ 600 บาทเป็นการทำลายโครงสร้างไตรภาคี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาค่าจ้าง ขั้นต่ำในการพิจารณาของไตรภาคีถึงแม้บางครั้งภาคการเมืองจะเข้ามาก็ต้องชี้นำอยู่ในไตรภาคี                     การประกาศนโยบายเช่นนี้จะทำลายโครงสร้างค่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างและความเดือดร้อนของลูกจ้าง

4.ค่าจ้างของผู้จบปริญญาตรีเป็นทางเลือกของนายจ้าง การชี้นำค่าจ้างแรงงานผู้จบปริญญาตรีจาก 15,000 บาทเป็น 25,000 บาทภายในห้าปีหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2,000 บาท หากเป็นการรับแรงงานใหม่ที่ไม่ต้องการคุณสมบัติที่ต้องการใช้ทักษะระดับปริญญาเป็นทางเลือกของนายจ้างที่อาจเลือกแรงงานในระดับที่ต่ำกว่าซึ่งค่าจ้างถูกกว่า

5.กลุ่มนายจ้างที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น

-นายจ้างในภาคเกษตรและประมงซึ่งผลผลิตราคาต่ำทำให้ผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าค่าจ้าง ร้อยละ 7-11

-กิจการโรงแรม, ร้านอาหาร ก่อสร้างที่ต้องใช้คนจำนวนมาก

-อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต (OEM) เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, รองเท้ากีฬา, เครื่องหนัง, อาหารแปรรูป

-อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน

6.ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบ ทั้งอุตสาหกรรมรับจ้างการผลิต อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรรวมถึง SME ขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากกว่าขนาดใหญ่ เคยมีการศึกษาผลกระทบค่าจ้างแบบก้าวกระโดดหลังจาก 1 ปีการจ้างงานของบริษัทขนาดเล็กเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดและ อาจมีผลทำให้มีผลกระทบสัดส่วน GDP ลดลงร้อยละ 2.5 (ที่มา: https://workpointtoday.com)

7.กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดทำให้เกิดเงินเฟ้อจากค่าจ้าง “Wage Price Spirals” ส่งผลทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคสูงกระทบไปถึงประชาชน การลงทุนทางตรง (FDI) และการลงทุนในประเทศในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจะลดลง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะย้ายฐานการผลิต (Re-Location) โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ประเทศไทยที่ผ่านมาขีดความสามารถการแข่งขันการลงทุนลดน้อยถอยลงเสียแชมป์การลงทุนและการส่งออกให้กับประเทศเวียดนาม อีกทั้งสินค้าที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาต่ำจะเข้ามาตีตลาดภายในประเทศ ปัจจัยทั้งหมดส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต

อาจสรุปได้ว่าการคิกออฟของประธานคณะที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ในการปรับค่าจ้างวันละ 600 บาทและปริญญาตรี 25,000 ภายในระยะเวลาห้าปีอาจไม่ชัดเจนว่าเป็นนโยบายของพรรคหรือขัดต่อกฎหมายกกต.ที่แทรกแซงไตรภาคีคณะกรรมการค่าจ้างหรือไม่

แต่อาจทำให้หลายพรรคการเมืองนำไปใช้ หากเป็นจริงประเทศไทยอาจสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออก ผลดีจะตกไปอยู่กับประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งจะส่งสินค้าราคาถูกกลับเข้ามาขายในประเทศ

การว่างงานคงไม่ใช่ประเด็นเพราะไทยอัตราการเกิดต่ำและขาดแคลนแรงงานแต่หากอุตสาหกรรมย้ายออกไปลงทุนต่างประเทศและ/หรืออุตสาหกรรมในประเทศได้รับผลกระทบสินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านผลกระทบมากน้อยคงต้องติดตามต่อไป


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น