“ยูนนาน”ขนกาแฟล็อตแรกเข้ายุโรป รับเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน

เส้นทางรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021  มีความยาวจากเวียงจันทน์ถึงคุนหมิง 1,035 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง  ช่วยย่นเวลาเดินทางจากเดิมที่ใช้รถยนซึ่งกินเวลากว่า 30 ชั่วโมง มาเหลือไม่ถึง 10 ชั่วโมง ถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน หลังจากนั้นอีก 6 เดือนต่อมา กาแฟล็อตแรกจากแหล่งผลิตใน “ยูนนาน” ก็ถูกส่งไปยังยุโรป

สารกาแฟ (green bean) จำนวนมากกว่า 300 ตันในตู้สินค้า เดินทางออกจากเมือง “ผู๋เอ่อร์” ในยูนนาน มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาศัยเส้นทางรถไฟลาว-จีนไปยังสถานีปลายทางคุนหมิง แล้วเชื่อมต่อด้วยรถไฟสินค้าจีน-ยุโรปสายใหม่เมื่อเดินทางไปถึงนครฉงชิ่ง พาดผ่านหลายประเทศในเอเชียกลาง ตามเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ใช้เวลา 22 วันก็เข้าสู่ “เวโรน่า” ของอิตาลี ประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องวัฒนธรรมการดื่มกาแฟระดับโลก

…นี่เป็นกาแฟล็อตแรกจากไร่กาแฟในเมืองผู๋เอ่อร์ที่ขนส่งไปยังยุโรปผ่านทางขบวนรถไฟลาว-จีน 

“ยูนนาน” ขนกาแฟล็อตแรกเข้ายุโรป รับเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ภาพ : Photo by Couleur/pexels

ในอดีตนั้น การขนส่งเมล็ดกาแฟจากผู๋เอ่อร์ไปยังยุโรปล้วนอาศัยการเดินทางโดยรถยนต์และเรือเดินสมุทร ทว่าหลังจากรถไฟลาว-จีนเปิดบริการ ช่วยทำให้การขนส่งเมล็ดกาแฟถึงปลายทางเร็วขึ้นถึง 30% ทีเดียว

“เนสท์เล่ ตงกวน” (Nestle Dongguan) เครือข่ายของเนสท์เล่ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆจากเส้นทางรถไฟลาว-จีนที่กลายเป็นช่องทางใหม่ในการส่งสินค้า และเนื่องจากการขนส่งที่สะดวกและเร็วขึ้น จึงทำให้ในปีนี้ บริษัทมีออร์เดอร์ส่งออกเข้ามามากขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตั้งแต่ปีค.ศ. 1988 “เนสท์เล่” ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารสัญชาติสวิส เริ่มต้นเข้ามารับซื้อกาแฟจากเกษตรกรชาวไร่ในมณฑลยูนนาน เพื่อผลิตเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปหรือเบลนด์เข้ากับกาแฟอื่นๆ พร้อมกันนั้น เนสท์เล่ได้นำกาแฟสายพันธุ์ “คาติมอร์” เข้าไปปลูกเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์ ต่อมาได้เลือกเมือง “ผู๋เอ่อร์” เป็นศูนย์พัฒนากาแฟของแบรนด์เนสท์เล่ในแดนมังกร ด้วยเห็นว่าพื้นที่เหมาะสมมากๆต่อการเติบโตของต้นกาแฟ

ขบวนรถไฟสายลาว-จีน เปิดบริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 ภาพ : Laos – China Railway Company Limited

ล่วงเข้าสู่ปีค.ศ. 2016 เนสท์เล่ได้ก่อตั้งศูนย์กาแฟขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมเมืองผู๋เอ่อร์ ในพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร  เป้าหมายคือ ฝึกอบรมการปลูกกาแฟให้กับเกษตรกรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพ มีการตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดกาแฟ และคลังสินค้าที่รองรับเมล็ดกาแฟได้กว่า 8,000 ตัน

จากเมืองเล็กๆที่ปลูกชามาก่อน ผู๋เอ่อร์ได้รับสมญาว่าเป็น “เมืองหลวงกาแฟ” ของประเทศจีน

จากกาแฟคาติมอร์ ก็มีสายพันธุ์อาราบิก้าเข้ามาปลูกเพิ่มเติม ได้แก่ ทิปปิก้า, คาทูร่า ,เบอร์บอน และอื่นๆ

จากจุดเริ่มต้นที่แปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป ก็ขยับขยายบทบาทเข้าสู่เซกเมนต์ “กาแฟพิเศษ” (speacialty coffee)  มีแบรนด์กาแฟชั้นนำรวมไปถึงโรงคั่วกาแฟ เริ่มบุกเข้าไปปักธงตามไร่ขนาดเล็กๆ ควานหากาแฟดีมีคุณภาพ เพื่อนำกาแฟจีนไปเสิร์ฟให้ลูกค้าทั่วโลก ในรูปกาแฟพิเศษแบบซิงเกิล ออริจิ้น หรือกาแฟสายพันธุ์เดียวที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว

แต่ไม่ใช่เนสท์เล่ที่นำกาแฟเข้าสู่แผ่นดินจีนเป็นครั้งแรก เพราะกาแฟยูนนานนั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่าร้อยปี

กาแฟยูนนานครองสัดส่วนกว่า 90% ของการผลิตในจีน ภาพ : www.instagram.com/fourkilofish

เรื่องราวต้องย้อนกลับไปในปีค.ศ.1904 บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้นำต้นกาแฟจำนวนหนึ่งเข้ามาปลูกยังพื้นแผ่นดินยูนนาน เพื่อบริโภคส่วนตัว แล้วจุดที่บาทหลวงฝรั่งเศสนำกาแฟเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกนั้น ในปัจจุบันคือ “หมู่บ้านจูขู่ลา” (Zhukula) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจินชา บนหุบเขาลึกในอำเภอปินฉวน เขตเมืองโบราณต้าหลี่

เพียงไม่กี่ปีต่อมา การปลูกกาแฟก็ขยายตัวไปยังจุดต่างๆตามไหล่เขาและบนเทือกเขาสูงของยูนนาน เป็นไร่ขนาดเล็กๆ ทำแบบชงดื่มกันเองภายในหมู่บ้าน ปริมาณจึงไม่มาก ขณะเดียวกันปัญหาความวุ่ยวายของจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคนั้น ทำให้กาแฟยูนนานแทบไม่มีการพูดถึงกัน เปรียบดั่ง “เสือซุ่มมังกรซ่อน” ที่รอวันเผยโฉม จนถึงยุคทศวรรษ 1990 เมื่อราคากาแฟทั่วโลกเริ่มสูงขึ้น เกษตรกรท้องถิ่นยูนนานกลับมาปลูกกาแฟอีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทต่างชาติ

จากนั้น เนสท์เล่เข้ามาใช้เมืองผูเอ่อร์ เป็นฐานการผลิตกาแฟและส่งเสริมการทำไร่กาแฟเพื่อส่งออก ยังผลให้เมืองนี้กลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลยูนนานไปในที่สุด

โดยภาพรวม “กาแฟยูนนาน” ครองสัดส่วนถึง 98% ของการผลิตกาแฟในจีน มีกำลังการผลิตกว่า 100,000 ตันต่อปี จากจำนวนไร่ 300,000 ไร่ ตัวเลขส่งออกเมล็ดกาแฟในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 18,000 ตัน มีมูลค่า 82.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า และ 3.8 เท่า ตามลำดับ  อันที่จริงก่อนหน้าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19นั้น  ยอดส่งออกกาแฟของยูนนานสูงถึง 83,000 ตัน เมื่อปีค.ศ. 2015

เมืองผู๋เอ่อร์ ย่านปลูกกาแฟที่สำคัญของยูนนาน ภาพ : www.instagram.com/fourkilofish

สำหรับผู๋เอ่อร์เพียงเมืองเดียวนั้น ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ระบุว่า เมืองผู๋เอ่อร์มีเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟประมาณ 70 ราย ในจำนวนนี้ได้รับสิทธิส่งออก 12 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟรวม 118,000 ไร่ ผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 55,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของการผลิตกาแฟในจีน

กาแฟยูนนานส่วนใหญ่ยังคงจัดอยู่ในเกรด “คอมเมอร์เชียล” เน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก มักถูกนำไปเบลนด์เข้ากับกาแฟจากแหล่งปลูกอื่นๆ เพื่อความได้เปรียบจากการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของการผลิตในรูปแบบกาแฟพิเศษอย่างจริงจังนั้น เพิ่งเกิดขึ้นราว 10 ปีมานี้เอง จากการขับเคลื่อนโดยแบรนด์ดังระดับโลกหลายๆบริษัท เช่น “สตาร์บัคส์” (Starbucks) แห่งเมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้กาแฟยูนนานในปัจจุบัน มีการเพิ่มทั้งปริมาณและเพิ่มคุณภาพ

แม้จะเข้ามาบุกเบิกตลาดกาแฟจีนภายหลังเนทส์เล่ แต่สตาร์บัคส์ก็สนใจมณฑลยูนนานมานานแล้ว ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่สำคัญของจีน และเคยซื้อขายเมล็ดกาแฟกันมาก่อนบุกตลาดจีน

กาแฟแบรนด์ “สีหนุก” ของลาว มองเห็นลู่ทางจากรถไฟสายลาว-จีน ภาพ : www.facebook.com/sinoukcoffeeofficial

ราวปีค.ศ. 2012 สตาร์บัคส์เปิดศูนย์สนับสนุนผู้เพาะปลูกกาแฟขึ้นในเมืองผู๋เอ่อร์ เป็นศูนย์รูปแบบนี้แห่งแรกของเอเชียและแห่งที่ 6 ของโลก เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการปลูกกาแฟและยกระดับคุณภาพของเมล็ดกาแฟในมณฑลยูนนาน ถือเป็นปีเริ่มต้นของการพัฒนากาแฟของมณฑลยูนนานตามมาตรฐานของสตาร์บัคส์อย่างจริงจัง

ต้นปีค.ศ.2017 สตาร์บัคส์ได้เปิดตัวเมล็ดกาแฟพิเศษจากแหล่งเพาะปลูกเดียวของมณฑลยูนนาน เป็นเมล็ดกาแฟซิงเกิลออริจิ้นรุ่นแรกจากไร่กาแฟจีน จากนั้นก็มีซีรีย์กาแฟยูนนานออกมาอีกหลายตัว  โดยเฉพาะ “ไชน่า โคแม็ค เอสเตท” กาแฟยูนนานที่ผ่านกระบวนการคั่วจาก Starbucks Reserve Roastery  ในเซี่ยงไฮ้ เปิดจำหน่ายในทุกสาขาของสตาร์บัคส์ประเทศจีน

ไม่นานนัก เมล็ดกาแฟยูนนานก็ถูกบริษัทใหญ่ๆจับไปนำเสนอเป็นกาแฟพิเศษ ในจำนวนนี้รวมไปถึง “ซูคาฟิน่า” (Sucafina) บริษัทซื้อขายเมล็ดกาแฟจากสวิส และ “ลา โคลอมเบ” (la colombe) โรงคั่วกาแฟอเมริกัน

ในจำนวนพื้นที่ปลูกกาแฟกว่าหนึ่งแสนไร่ของเมืองผู๋เอ่อร์นั้น มีอยู่ถึง 67,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองจากแบรนด์ดังๆ เช่น เนสท์เล่ และสตาร์บัคส์

ปีค.ศ. 2019 หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี รายงานไว้ว่า ราวครึ่งหนึ่งของกาแฟยูนนานที่ส่งออกไปต่างประเทศนั้นเป็นของประเทศใน “สหภาพยุโรป” (อียู) ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ดื่มกาแฟสูงสุดในโลก เพราะบริโภคกาแฟถึง 32.5% ของการผลิตกาแฟทั่วโลกในฤดูกาล 2020-2021

เหตุที่กาแฟยูนนานส่งออกไปยุโรปมาก ก็อาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของทางรถไฟสายคุนหมิงไปยังร็อตเตอร์ดัม เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เปิดบริการวิ่งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ใช้เวลาขนส่ง 15 วัน

เส้นทางรถไฟสายลาว-จีน จากเวียงจันทน์ไปคุนหมิง ระยะทาง 1,035 กิโลเมตร ภาพ : www.tradelogistics.go.th

ไม่แต่เพียงผู้ผลิตกาแฟในยูนนานของจีนเท่านั้นที่กำลังสร้างโอกาสกับทางรถไฟสายลาว-จีน แต่เจ้าของธุรกิจกาแฟหลายรายในอุษาคเนย์ก็สนใจอยากแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอยู่ด้วยเช่นกัน  เช่น นายสีหนุก สีสมบัด เจ้าของกาแฟแบรนด์ “สีหนุก” (Sinouk Coffee) ที่เคยให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบของตนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในท่วงทำนองว่า เมื่อมีรถไฟสายลาว-จีน ทำให้การส่งกาแฟไปจีนสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม พร้อมแสดงความมั่นใจในคุณภาพกาแฟลาว

คลิปสัมภาษณ์ระดับบิ๊กของวงการกาแฟลาวนี้ มีการแปลซับไตเติ้ล เป็นทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

ทางรถไฟสายลาว-จีนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังขบวนรถไฟสายจีน-ยุโรป ผ่านเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอีกช่องทางการค้าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดกาแฟไทย  เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ หรือไม่/อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบด้านของผู้ประกอบการแล้วล่ะครับ


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น