เว็บดัง “เปิดประเด็น” ทางออกกาแฟแพง!! “อาราบิก้า เบลนด์ โรบัสต้า” โอเคกันไหม?

จากต้นปีที่แล้วจนถึงกลางปีนี้นับรวมเป็นเวลาปีครึ่งแล้ว ที่ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกทั้งสายพันธุ์ “อาราบิก้า” และ “โรบัสต้า” ยังยืนอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักๆก็เกิดจากกรณีผู้ผลิตกาแฟเบอร์หนึ่งของโลกอย่างบราซิลเก็บเกี่ยผลผลิตจากไร่กาแฟได้น้อยลง เพราะวิกฤติสภาพอากาศหนาวจัดที่ทำให้ต้นกาแฟล้มหายจากไปราว 20 เปอร์เซ็นต์ ของต้นกาแฟทั้งระบบ จนส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนกาแฟในตลาดโลกขึ้นมา

เพื่อรับมือสถานการณ์ ผู้ประกอบการระดับ “บิ๊กเนม” ได้กว้านซื้อเพื่อเก็บสต๊อกกาแฟล่วงหน้าเอาไว้ ราคากาแฟจึงขยับปรับตัวขึ้นเป็นแผง ส่งผลให้ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดกาแฟ เช่น ร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟทั่วโลกพยายามหาทางรับมือในหลายๆรูปแบบ

เว็บดัง”เปิดประเด็น”ทางออกกาแฟแพง! อาราบิก้าเบลนด์โรบัสต้า โอเคกันไหม? ภาพ : Soner Köse จาก Pixabay

สำหรับร้านเล็กๆก็จะลำบากพอควรเมื่อเจอเข้ากับปัญหานี้ “สายป่านการเงิน” อาจจะไม่ยาวเหมือนพวกบิ๊กเนม บางร้านจึงหาทางออกด้วยการปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มกาแฟ บางร้านหันไปลดต้นทุนด้านอื่นเพื่อพยายามอั้นราคาเอาไว้อย่างสุดความสามารถด้วยกลัวลูกค้าจะไม่เข้าใจในสาเหตุแล้วหลบลี้หนีหน้าไป

บางร้านหันไปใช้เมล็ดกาแฟที่มีราคาถูกกว่าเดิมซึ่งนั่นหมายความว่าคุณภาพของเครื่องดื่มก็จะต่างไปจากเดิมด้วย  บางร้านก็ลดปริมาณกาแฟลง บางร้านหาผลิตภัณฑ์อื่นมาขายเพิ่มเติม หรือบางร้านอาจจะหาแนวทางอื่นๆมาใช้เพื่อต่ออายุลมหายใจทางธุรกิจ

ทางเลือกในการลดต้นทุนอีกวิธีที่เคยทำกันมามากและนานแล้วในอดีต ก็คือ ใช้เมล็ดกาแฟโรบัสต้า “ผสมหรือเบลนด์” เข้ากับเมล็ดกาแฟอาราบิก้า โดยอาจเพิ่มโรบัสต้าเข้าไปในสัดส่วน 10-20%  แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเบลนด์กาแฟต่างสายพันธุ์กัน ก็มีประโยชน์ เพราะช่วยทำให้เกิดรสชาติใหม่ๆของกาแฟขึ้นมา ซึ่งก็เป็นไปตามการออกแบบของผู้ชำนาญการหรือรสนิยมของแต่ละชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ราคากาแฟโรบัสต้าที่ได้รับสมญาว่า “พระรอง” จะปรับตัวขึ้นในตลาดโลก ที่ล่าสุดก็มาเจอเข้ากับปัญหาตู้ขนส่งสินค้าขาดแคลนในเวียดนาม แต่โดยภาพรวมราคากาแฟพระรองก็ยังถือว่ามีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกาแฟ “พระเอก” อย่างอาราบิก้า

ในประเด็นนี้ เว็บไซต์ perfectdailygrind.com แพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารของแวดวงกาแฟระหว่างประเทศที่คนกาแฟบ้านเราก็รู้จักกันดี ก็หยิบยกขึ้นมานำเสนอในบทความของเว็บเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2022 โดยพาดหัวเรื่องว่า “พวกโรสเตอร์ควรจะเพิ่มโรบัสต้าเพื่อเบลนด์กาแฟหรือไม่ หากว่าราคาอาราบิก้าเดินหน้าเพิ่มขึ้น” พร้อมโยนหินถามทาง เอ๊ย.. โปรยนำเข้าเรื่องว่า กาแฟโรบัสต้าเคยถูกใช้เบลนด์กาแฟสูตรต่างๆมานานแล้ว แต่ในอนาคตข้างหน้าจะมีโรสเตอร์หรือมือคั่วกาแฟที่หันไปเบลนด์กาแฟกันมากขึ้นหรือไม่ อันเนื่องจากการพุ่งขึ้นของกาแฟอาราบิก้า

บทความของเว็บ perfectdailygrind ที่เปิดประเด็นเรื่องการเบลนด์โรบัสต้ากับอาราบิก้า ภาพ : instagram.com/perfectdailygrind

ประเด็นหลักๆที่บทความชิ้นนี้นำเสนอมาก็เป็นต้นว่า เพราะเหตุใดราคากาแฟจึงแพงขึ้น,ทำไมกาแฟโรบัสต้าจึงถูกกว่ากาแฟอาราบิก้า,ประโยชน์ของการใช้โรบัสต้าในการเบลนด์กาแฟ และทัศนคติต่อคุณภาพกาแฟโรบัสต้าที่กำลังปรับเปลี่ยนไป แล้วทาง perfectdailygrind.com นำไปแชร์ต่อในแพล็ตฟอร์มลูกหลายแห่งอย่างในเฟสบุ๊ค,ทวิตเตอร์ ,อินสตาแกรม และฯลฯ

ผู้เขียนเข้าไปเก็บตก “ความคิดเห็นท้ายข่าว” ของบทความในอินสตาแกรม ปรากฏว่าแม้แฟนคลับของเว็บไซต์ชื่อดังนี้ที่มีทั้งคอกาแฟและคนในธุรกิจกาแฟทั่วโลก เข้ามาคอมเมนต์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไม่มากนัก แต่ได้เนื้อหาสาระแบบเต็มอิ่ม แน่นอนมีทั้ง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” กับคำถามที่ว่าโรสเตอร์ควรจะเพิ่มโรบัสต้าเข้าในอาราบิก้าเพื่อเบลนด์กาแฟหรือไม่

เท่าที่ติตามอ่านดู รู้สึกว่า คอมเมนต์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก ที่พูดถึงกันเยอะก็จะเป็นประเด็นเรื่องรสชาติและคุณภาพของกาแฟโรบัสต้านั่นแหละครับ  แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับรู้และเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็คือมุมมองและทัศนคติต่อการ “เบลนด์กาแฟ” โดยเฉพาะโรบัสต้าในปัจจุบัน ในบริบทที่ไม่ถึงขั้นเป็นดราม่า แค่ต่างมุมมอง หลากความคิด  ไม่จำเป็นต้องแตกแยกแล้วทะเลาะกัน จึงเป็นความคิดเห็นที่อยากแชร์ต่อให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้จริงๆ

ราคากาแฟที่ปรับตัวขึ้นในตลาดโลก มีผลต่อธุรกิจกาแฟทั้งระบบ ภาพ : Andrew Neel/pexels

อย่างความเห็นของยูสเซอร์คนหนึ่งที่ใช้ชื่อไอจีว่า @jazzy.randomly มองว่า   ถ้าเป็นโรบัสต้าคุณภาพดี ทำไมจะนำมาเบลนด์กันไม่ได้ล่ะ ที่ผ่านมาโรบัสต้ามีชื่อเสียงไม่ดีนักก็เพราะผลิตกันมาในระดับคุณภาพต่ำ ปัจจุบันมีโรบัสต้าเกรดสเปเชียลตี้ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาอาราบิก้าโดยทั่วๆไปเสียอีก

@jazzy.randomly มองต่อว่า การเบลนด์กาแฟโดยใช้โรบัสต้าหรือกาแฟพันธุ์อื่นๆเพิ่มเข้าไปในอาราบิก้า ก็ทำกันได้ตราบใดที่เป็นไปอย่าง “โปร่งใส” มีการแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ กาแฟโรบัสตัาให้รสชาติที่เข้มข้น, หนัก, บอดี้หนาแบบครีมมี่ แต่ออกหวาน แถมยังให้คาเฟอีนสูง แบบนี้จะไม่รักได้ไง!

ใต้คอมเมนต์นี้ มียูสเซอร์ชื่อ @coffeehuntingjv mujเข้าไปดูโปรไฟล์แล้วเห็นว่าทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษากาแฟ มาแสดงความเห็นต่อท้ายว่า  ไม่มีกาแฟโรบัสต้าเกรดพิเศษหรอก มีแต่ ฟายน์ โรบัสต้า (Fine Robusta)  คำว่าสเปเชียลตี้เป็นคอนเซปท์ที่เรานำมาใช้กับอาราบิก้า ส่วนฟายน์ใช้กับโรบัสต้า ส่วนรสชาติที่เข้มและหนักไม่ได้มีความหมายอะไรเลยอย่างที่อธิบายมา สำหรับโรบัสต้าแล้ว เราอาจจะชอบหรือไม่ชอบ รักหรือเกลียดก็ได้ แต่โดยภาพรวมโปรไฟล์ของกาแฟสายพันธุ์นี้ไม่ได้ให้รสออกหวานอย่างน้อยเมื่อเทียบกับอาราบิก้า  กลิ่นรสโรบัสต้าออกโทนเอิร์ธตี้(คล้ายดิน), วูดดี้(คล้ายไม้), ขม, และฝาด  ออกรสเค็มๆก็มี แต่ก็มีนะสำหรับกลิ่นคาราเมลและถั่วนัทตี้ กาแฟทั้งสองสายพันธุ์นี้แตกต่างกันมาก

การใช้กาแฟโรบัสต้าเบลนด์กับอาราบิก้า ทำกันมานานแล้วจากอดีต ภาพ : Los Muertos Crew/pexels

หลังจากนั้น ยูสเซอร์คนเดิม @jazzy.randomly ก็เข้ามาตอบกลับในแบบฉุนนิดๆ(เหมือนคนถูกขัดคอ)ว่า เคยอ่านบทความหลายชิ้นมีทั้งใช้คำว่า สเปเชียลตี้ และฟายน์ กับกาแฟโรบัสต้าซึ่งฉันเข้าใจว่าใช้แทนกันได้  รสชาติที่ “แรง” และ “หนัก” อาจเป็นคำอธิบายที่ไม่มีความหมายอะไรเลยในโลกของกาแฟมืออาชีพ แต่ฉันแค่พูดจากความชอบส่วนตัว แล้วก็เคยลองชิมโรบัสต้ที่มีรสหวานมาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนี่  คิดว่าทั้งสองสายพันธุ์ต่างก็มีความงามในตัวของมันเอง แม้โรบัสต้าจะมีชื่อเสียงไม่ดีเรื่องคุณภาพต่ำมาในอดีต แต่ฉันก็เห็นว่ารสชาติของกาแฟพันธุ์นี้มีศักยภาพที่จะดีขึ้นอีกในอนาคต จึงไม่ใช่ปัญหาอะไรที่จะเบลนด์กาแฟอาราบิก้ากับโรบัสต้าเข้าด้วยกัน ตราบใจที่ทางร้านและโรงคั่วกาแฟเปิดเผยเรื่องนี้อย่างโปร่งใส

คอกาแฟที่ใช้ยูสเวอร์เนมว่า @coffee_weirdo_ บอกว่า ฉันใช้โรบัสต้าเพื่อฝึกคั่วเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาดื่ม

ทว่า @sofoscoffeeshop ร้านกาแฟพิเศษในประเทศกรีซ บอกชัดๆเลยว่า ไหนใครพูดว่า เบลนด์โรบ้สต้าใส่ในอาราบิก้าเป็นเรื่องเลวร้าย? รู้ไหมว่าความแรงของโรบัสต้าช่วยให้บอดี้กาแฟดีขึ้น ทำให้กาแฟเย็นมีรสชาติที่กล่อมกลม หนึ่งในเมนูกาแฟที่ขายดีที่สุดของร้านเราและก็เป็นกาแฟเบลนด์ตัวแรกของร้านด้วย ก็เบลนด์ด้วยโรบัสต้าจากประเทศยูกันดา

เอสเพรสโซเป็นกาแฟที่นิยมเบลนด์กันระหว่างอาราบิก้ากับโรบัสต้า ภาพ : Dmitriy Gutarev จาก Pixabay

ขณะที่ @vincentellis1849 มองว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงหรืออยากดื่ม “เกอิชา/เกสชา” (กาแฟดังของเอธิโอเปีย) ฉันเคยลองกาแฟอาราบิก้าราคาแพงๆมาหลายตัว กลิ่นรสออกโทนน่าตื่นตาตื่นใจมากๆ แต่ก็ไม่คิดอยากสั่งมาดื่มอีก หลายๆคนแค่ต้องการกาแฟที่รสชาติกลมกล่อมเท่านั้น แล้วโรบัสต้าก็ค่อนข้างดีเสียด้วยในเรื่องนี้  ส่วน@francismupere บอกว่า เอสเพรสโซที่เบลนด์โดยการใช้อาราบิก้า 70% กับโรบัสต้า 30% ให้กาแฟที่มีบอดี้และกลิ่นคาราเมลดีมาก ถ้าคุณรักเอสเพรสโซ บอกเลยว่าการใช้กาแฟเบลนด์จากทั้งสองสายพันธุ์ดีกว่าใช้กาแฟสายพันธุ์เดียว

“การเบลนด์กาแฟคือทางเลือก  แต่การตัดสินใจจะเบลนด์หรือไม่เบลนด์ควรพิจารณากันในแง่ของรสชาติ มากกว่าที่จะทำกันเพราะปัจจัยทางการเงิน ” ยูสเซอร์ที่ชื่อ @francismupere คอมเมนต์ เพิ่มเติม

มุมมองต่อมาเป็นของ   @roast1338  ที่พูดถึงเรื่องในอดีตว่า เหตุที่โรบัสต้ามีชื่อเสียงไม่ดีติดตัวมานั้น ก็เพราะบริษัทคั่วกาแฟในระดับอุตสาหกรรมนิยมใช้โรบัสต้าคุณภาพต่ำเพื่อ “ประหยัดต้นทุน” ล้วนๆ เมื่่อเร็วๆนี้ฉันเพิ่งไปได้โรบัสต้าคุณภาพสูงบางตัวมา คิดว่าจะทำเมนูเอสเพรสโซ่ใหม่ที่ใช้โรบัสต้าผสมลงไปเล็กน้อย

นี่เป็นความคิดเห็นส่วนบุุคคลจริงๆ จาก@joe_1982 ที่บอกว่า  ไม่เบลนด์กันเด็ดขาด ไม่ชอบเลยโรบัสต้า ฉันเพิ่งลองดื่มโรบัสต้าสเปเชียลมาเมื่อเร็วๆนี้ ดื่มไม่ได้จริงๆ  เช่นเดียวกับรายของยูสเซอร์เนม @barista_aj ที่มองว่า  โรบัสต้าเพียวๆนี่รสชาติค่อนข้างแย่เอาการ ก่อนจะเสริมว่า ตอนนี้ราคาเอสเพรสโซ่ในอังกฤษตก 5 ปอนด์ (211 บาท) เข้าไปแล้ว

ส่วน@autotechtunner บอกว่า ฉันขายโรบัสต้า 100% ในราคาที่สูงกว่าอาราบิก้าโดยทั่วไปเสียอีก ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาไปเบลนด์ใดๆทั้งสิ้น

ธุรกิจกาแฟเจอปัญหาใหญ่จากราคากาแฟที่พุ่งขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ภาพ : Quang Nguyen Vinh/pexels

ในตอนท้ายผู้เขียนอยากนำเสนอความเห็นของ ฟิลิป ฟอน เดอร์ โกลตซ์ ผู้บริหารบริษัทค้าสารกาแฟชื่อว่า ลิสต์+ไบส์เลอร์ (List + Beisler) ในเยอรมนี ที่เสนอมุมมองผ่านทางเว็บไซต์ perfectdailygrind.com ว่า บรรดาโรงคั่วกาแฟจำเป็นหาทางปรับตัวในสถานการณ์ที่ราคากาแฟสูงขึ้น โดยมุ่งเน้นไปยังทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำลง โรสเตอร์คงต้องไปหากาแฟพันธุ์อื่นๆเข้ามาทำกาแฟเบลนด์โดยเฉพาะพวกโรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่ ขณะที่โรงคั่วขนาดเล็กนั้นมีความยืดหยุุ่นมากกว่าในเรื่องการปรับตัว

“นอกเหนือจากผลักดันในด้านการควบคุมคุณภาพและปรับปรุงวิธีการผลิตโรบัสต้าให้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต่ออุตสาหกรรมกาแฟ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้นให้กับกาแฟโรบัสต้า” ฟิลิป ฟอน เดอร์ โกลตซ์ กล่าวเพิ่มเติม

ท่านผู้อ่านที่เป็นทั้งคอกาแฟและคนในวงการธุรกิจกาแฟ คิดเห็นประการใดกันบ้างครับ “โอเคหรือไม่โอเค” กับอาราบิก้าเบลนด์โรบัสต้า ในยามที่ราคากาแฟในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูงๆ เช่นนี้


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น