กาแฟขึ้นราคา…ต้นทางปัญหาจากบราซิล

หลายวันก่อนมีโอกาสไปตลาดสดแถวถนนศรีนครินทร์ ใกล้ๆ ห้างดังในกรุงเทพมหานคร ผ่านไปเห็นร้านกาแฟสดแห่งหนึ่งติดป้ายหน้าร้านว่า ขอปรับขึ้นราคากาแฟทุกเมนู สอบถามเจ้าของร้านได้ความว่า เหตุที่ต้องขึ้นราคาก็เพราะเมล็ดกาแฟอาราบิก้าคั่วที่ซื้อจากไร่ทางภาคเหนือมีการเพิ่มขึ้นมา 2-3 เดือนแล้ว จนอั้นไม่ไหวอีกต่อไป ไหนจะเจอกับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำใจต้องขึ้นราคากาแฟ พร้อมวอนขอให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นใจในความจำเป็นของทางร้าน

ผู้เขียนเองมีเพื่อนหลายคนประกอบอาชีพคั่วกาแฟขายแบบโฮมโรสเตอร์รายเล็กๆ ก็ทราบมาว่า สารกาแฟอาราบิก้า หรือ green bean ที่เคยสั่งซื้อจากเจ้าเดิม ล่าสุดปรับราคาขึ้น 20% ด้วยกัน

ในปีที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟทั่วโลกน่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือ การแบกรับต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ตามการทะยานขึ้นแบบกระทิงดุของ “ราคากาแฟ” ในตลาดโลกซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากความหวั่นวิตกเรื่องกาแฟขาดตลาดโลก หลังจากบราซิล ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่สุด เผชิญกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน (climate change) ที่เกิดทั้ง “ภัยแล้ง” รุนแรงที่สุดในศตวรรษ และภาวะ “น้ำค้างแข็ง” ปกคลุม (frost) หนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทำให้ต้นกาแฟตายไปราว 20% ของทั้งระบบ เกิดปัญหาผลผลิตลดลงฮวบฮวบ นำไปสู่ภาวะกาแฟขาดตลาด ราคาจึงถีบตัวขึ้นพรวดพราด

กาแฟขึ้นราคา…ต้นทางปัญหาจากบราซิล ภาพ : pixabay.com/Myriams-Fotos

ปี 2021 เพียงปีเดียว ผลกาแฟในไร่กาแฟบราซิล ได้รับความเสียหายสูงถึง 590 ล้านกิโลกรัม ว่ากันว่าเป็นจำนวนที่สามารถชงกาแฟให้คนอเมริกันทั้งประเทศดื่มได้นานติดต่อกัน 4 เดือนทีเดียว

ภาวะน้ำค้างแข็งปกคลุมหนักสุดในรอบ 40 ปี ที่เกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมปีที่แล้ว สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับไร่กาแฟบราซิลจำนวนถึง 1.25 ล้านไร่ด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่จากรัฐเซา เปาโล ไปถึงเมืองกาแฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง กวาชูเป้, โนวา เรเซนเด้, มูซัมบินโฮ,คาโบ เวอร์เด และอัลเฟนัส ในตอนใต้ของรัฐมินัสเจอไรส์  ลามไปถึงเมืองฟรังก้าและเปเดรกุยโญในย่านอัลต้า ม็อกเกียน่า รวมไปถึงเมืองปาโตรซินิโอ เมืองกาแฟของย่านเคอร์ราโด้ มิเนโร

ที่สำคัญยิ่งคือ บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าถึง 65% ด้วยกัน

ปัญหาจากบราซิล ส่งผลให้ร้านกาแฟต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ภาพ : Nathan Dumlao on Unsplash

พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นไร่กาแฟแบบเปิดโล่งที่มองเห็นเป็นเหมือนพรมสีเขียวไกลสุดสายตา พลันกลับกลายเป็นสีน้ำตาล แห้งเหี่ยวตาย ทั้งไร่ ภายในเวลาเพียง 1 วัน หลังจากโดนภาวะน้ำค้างแข็งรุนแรงจู่โจม ซึ่งมาพร้อมกับอุณหภูมิติดลบ 2-4 องศาเซลเซียส

น้ำค้างแข็ง ที่บ้านเราเรียกว่า “เหมยขาบ” หรือ “แม่คะนิ้ง” ใครเคยไปเที่ยวตามดอยสูงๆทางเหนือที่มีอากาศหนาวจัด ก็คงเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว  เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดจากไอน้ำในอากาศที่อยู่ใกล้กับพื้นผิวดินมีอุณหภูมิลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง ลักษณะทั่วไปจะเป็นเกล็ดน้ำแข็งสีขาว จับตัวอยู่บนยอดหญ้า, ใบไม้ หรือวัตถุต่างๆที่อยู่บนพื้นดิน อาจทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้ ส่วนมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความแปรปวนของสภาพอากาศ

แน่ล่ะในแต่ละแหล่งปลูกกาแฟจะมีปัจจัยแตกต่างกันไปที่หนุนเสริมส่งให้ราคากาแฟแพงขึ้น  แต่สถานการณ์อันเลวร้ายของผู้ส่งออกกาแฟเบอร์หนึ่งของโลกอย่างบราซิลนี่แหละ ถือว่าเป็น ต้นทาง ของปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ต้นกาแฟจากไร่กาแฟอัลโต้ คาเฟซัล เหี่ยวแห้งตายเพราะพิษน้ำค้างแข็ง ภาพ : instagram.com/jcgrossiefilhos

ปัญหาน้ำค้างแข็งระดับวิกฤติในบราซิล นำไปสู่การทะยานขึ้นของราคากาแฟในตลาดโลกโดยเฉพาะช่วงปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ร้านกาแฟหลายๆแห่งในยุโรปและสหรัฐพาเหรดกันขึ้นราคากาแฟตามไปด้วยทั้งเมนูร้อนและเย็น  อย่างราคา “คาปูชิโน” ซึ่งเป็นกาแฟที่ป๊อปปูล่าที่สุดในอังกฤษ ก็ขยับขึ้นเป็นแก้วละ 3.57 ปอนด์ (155 บาท) จาก 2.75 ปอนด์ (119 บาท) ในฝากฝั่งสหรัฐ คาเฟ่ เคโรแอท ร้านกาแฟในรัฐโอไฮโอ ปรับราคาเมนู “ลาเต้” และ “เอสเพรสโซ” ขึ้นอีก 25 เซนต์ ส่วนร่านคาเฟ่ ดู มองต์ ในนิวออร์ลีนส์ เพิ่มราคากาแฟเฉลี่ย 5% ในทุกๆเมนู

ในอิตาลี รากเหง้าวัฒนธรรมกาแฟโลก ราคาของเมนูยอดนิยมอย่างเอสเพรสโซและคาปูชิโน ตามคาเฟ่จำนวนมาก ล้วนปรับตัวขึ้นขานรับ โดยเอสเพรสโซขยับจาก 1 ยูโร (36 บาท) เป็น 1.10 ยูโร (39 บาท) ส่วนคาปูชิโนปรับจาก 1.40 ยูโร (50 บาท) เป็น 1.50 ยูโร (54 บาท)  และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในปีนี้ หากราคากาแฟยังคงพุ่งสูงขึ้น

แม้ว่ารายใหญ่ๆจะมีพลังการเงินเอื้ออำนวยต่อการดูดซับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ข่าวธุรกิจ บิสซิเนส เดย์ ของแอฟริกาใต้ ว่า ผู้ค้าปลีกกาแฟรายใหญ่ของโลก อย่างเช่น สตาร์บัคส์ และ เนสท์เล ต่างก็รีบจัดซื้อกาแฟมาเก็บไว้ในสต๊อก เป็นการบริหารความเสี่ยง สำหรับสตาร์บัคส์เองที่ตอนแรกบอกว่าจะยังไม่ขึ้นราคากาแฟ เพราะปัญหาจากบราซิลนั้น ตอนนี้ก็เห็นข่าวว่าอาจจะอั้นเอาไว้ไม่อยู่เสียแล้ว

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์  คอสต้า ค๊อฟฟี่ เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ก็ประกาศขึ้นราคากาแฟอีก 15 เพนนีต่อแก้ว ในร้านสาขา ส่วนกาแฟตามตู้หยอดเหรียญคอสต้า เอ็กเพรส นั้น ขึ้นราคา 10 เพนนี

คอสต้า ค๊อฟฟี่ เชนกาแฟยักษ์ใหญ่อังกฤษ ประกาศขึ้นราคากาแฟ 15 เพนนีต่อแก้ว ภาพ : instagram.com/costacoffee

ต้นทุนขนส่งก็เป็นอีกปัญหา ฟินด์เลย์ ลีสก์ เจ้าของบริษัทกาแฟ คาเบอร์ ค๊อฟฟี่ ในเมืองอะเบอร์ดีน บอกว่า การส่งสารกาแฟทางเรือเดินสมุทรที่ใช้เวลานานขึ้น ทำให้ต้องจ่ายค่าตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นไปด้วย อย่างตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 400 ตันที่ใส่สารกาแฟจากโคลอมเบียมายังอังกฤษ ก็ปรับราคาขึ้นจาก 800 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ราคากาแฟอาราบิก้าที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าระหว่างประเทศ มีการพุ่งขึ้นถึงระดับ 2.48 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ก่อนพุ่งขึ้นแตะ 2.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์  ขณะที่ราคาปิดตลาดเมื่อต้นมีนาคม ชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3 ดอลลาร์ต่อปอนด์  นับเฉพาะราคากาแฟอาราบิก้าในปี 2021  ก็พุ่งขึ้นถึง 76% ทีเดียว ถือเป็นเปอร์เซ็นต์การปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน

สาเหตุหลักมาจากปัจจัย 3 ประการด้วยกัน ภาวะคอขวดในธุรกิจขนส่งชิปปิ้ง, การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก และปัญหาผลผลิตกาแฟที่ลดลงในบราซิล,โคลอมเบีย และเวียดนาม ทั้ง 3 รายนี้ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด รวมกันแล้วกินส่วนแบ่งตลาดเกือบๆ 60% ของการผลิตกาแฟทั่วโลก

ไล่เรียงดูจากปัจจัยลบทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าปัญหาคอขวดในธุรกิจชิปปิ้งและภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่ถือว่ารุนแรงไม่น้อยเลยทีเดียวในช่วงปลายก่อน เริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว

การเคลื่อนไหวของราคากาแฟตลาดล่วงหน้าในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา ภาพ : www.macrotrends.net

ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อราคากาแฟตลาดโลกมากที่สุด ก็คงไม่พ้นไปจากปัญหาผลผลิตกาแฟที่ลดลงอย่างมากในบราซิล หลังจากเมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแดนแซมบ้าโดนผลกระทบหนักๆระดับวิกฤติ จากภาวะแห้งแล้งและปัญหาน้ำค้างแข็ง ที่โจมตีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟจนเสียหาย

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ฟันธงลงไปว่า ปัจจัยจากบราซิลที่เจอปัญหาเรื่อง น้ำค้างแข็ง ระดับวิกฤติจนทำให้ต้นกาแฟตายลงไปเป็นจำนวนมาก จะมีผลกระทบต่อราคากาแฟในตลาดโลกต่อไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี จนกว่าต้นกาแฟที่ปลูกชดเชยต้นที่ตายไปจะเริ่มให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้อีกครั้ง

แม้จะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมาตลอด แต่เรื่องตลาดกาแฟนี่บราซิลใหญ่มากจริงๆ ครองส่วนแบ่งตลาดโลกประมาณ 35% ปีๆหนึ่งมีกำลังผลิตสูงถึง 50-60 ล้านกระสอบ ซึ่งกระสอบหนึ่งก็ตกประมาณ 60 กิโลกรัม ดังนั้น พอผลผลิตตกลงทีไร ก็มีผลต่อราคาในตลาดโลกเมื่อนั้น เรียกว่า “สะเทือน” กันไปทั้งวงการทั้งผู้ประกอบการ, ร้านกาแฟ, โรงคั่ว และผู้บริโภค

ในปี 2021   ตัวเลขการผลิตกาแฟของบราซิลคาดว่าลดลงถึง 10-12 ล้านกระสอบ หรือประมาณ 25% ของผลผลิตทั้งระบบเลยทีเดียว

ในปี 2021 ตัวเลขการผลิตกาแฟของบราซิลอาจลดลง 10-12 ล้านกระสอบ หรือ 25%

จากวิกฤติน้ำค้างแข็งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้กระทรวงเกษตรของบราซิล เคยประมาณการไว้ว่า ผลผลิตกาแฟในประเทศประจำฤดูกาล 2022 ซึ่งจะเริ่มขึ้นหลังดอกกาแฟเริ่มบานราวสิ้นเดือนกันยายน คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็จะหายไปราว 10-12 ล้านกระสอบ ใกล้เคียวกับตัวเลขในปีก่อนหน้า  โดยประมาณการนี้พิจารณาบนพื้นฐานของพื้นที่ปลูกกาแฟซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงจากวิกฤติน้ำค้างแข็ง จะยังไม่สามารถกลับมาผลิตกาแฟได้อีกครั้งจนกว่าจะย่างเข้าปี 2024 และ 2025  ประกอบกับภัยแล้งที่อาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบเช่นกัน

รัฐเซา เปาโล เป็นโซนปลูกกาแฟที่สำคัญของบราซิล และก็เป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายรุนแรงเช่นกัน   ดาซิโอ โอลิเวียร่า กุยเด็ตติ เจ้าของไร่กาแฟจากย่านเซอร์รา เนกรา  ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์เครื่องดื่ม  stir-tea-coffee.com ว่า ไร่ของเขาได้รับความเสียหายไปประมาณ 30% จากปัญหาน้ำค้างแข็งที่ทำลายต้นกาแฟและหน้าดินไป แต่ก็ยังถือว่าไม่มากนัก เพราะเท่าที่รู้ไร่กาแฟส่วนใหญ่ของแถบนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่าง 60-70%

ที่หนักหน่วงที่สุดก็เห็นจะเป็นเจ้าของไร่กาแฟที่ชื่อ อันโตนิโอ ริเบโร กูลาร์ต อดีตนายธนาคารวัย 70 ต้นกาแฟในไร่ราว 11,000 ต้น ต้องเสียหายและล้มตายไปหลังจากโดนน้ำค้างแข็งเข้าทำลาย จากใบที่เคยเขียวชอุ่มก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลซีดๆ ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น

เกษตรกรหลายคนคงต้องตัดใจทำเช่นเดียวกับ โฮเซ่ คาร์ลอส กรอสซี่ เจ้าของไร่กาแฟอัลโต้ คาเฟซัล ที่ตัดสินใจนำพื้นที่ปลูกต้นกาแฟที่ได้รับความเสียหายอย่างน้อย 30% ไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เนื่องจากเห็นว่าการปรับปรุงดินและปลูกต้นกล้ากาแฟขึ้นใหม่ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง

ปัญหาที่บราซิลมีผลผลิตกาแฟลดลง ก่อเกิดภาวะกาแฟขาดตลาด จนมีผลผูกพันไปถึงราคาในตลาดโลกในปีนี้และปีต่อๆไป น่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ  เพราะกว่าที่บราซิลจะกลับมาผลิตกาแฟชดเชยส่วนที่ขาดหายไปก็ปาเข้าปี 2025 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้ นี่ยังไม่นับรวมถึงสภาพอากาศแปรปรวนที่เคยเล่นงานพืชไร่บราซิลจนเสียหายหนักมาแล้ว ทั้งไฟป่า, ภัยแล้ง และพิษน้ำค้างแข็ง ก็ยังเป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ เพราะยังไม่มีใครฟันธงได้พันเปอร์เซ็นต์ว่า สถานการณ์จะทรงตัวหรือทรุดหนักไปอีกในอนาคต


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น