เปิด “เคล็ดลับ” เข้าถึงแหล่งเงินทุนกับ “บสย.”

สัมภาษณ์ : คุณกิตติพงษ์ บุรณศิริ  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและบริหารผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

ดร.นงค์นาถ: บทบาทของ บสย. และการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะวิกฤติโควิด-19 มีอะไรบ้าง

คุณกิตติพงษ์ : บสย.หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เราเองเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ภารกิจหลักของ บสย.คือ การค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ SMEs  กรณีที่ SMEs ไม่มีหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอก็นึกถึง บสย. เรามีหน้าที่ช่วยค้ำประกันเพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งสินเชื่อแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้อย่างมั่นใจขึ้น

ในทางกลับกัน สถาบันการเงินเอง ก็ต้องการที่จะปล่อยสินเชื่อแต่ยังกังวลเรื่องความเสี่ยง ในสถานการณ์แบบนี้ บสย.ก็จะเป็นตัวกลางที่จะเข้าไปเชื่อม และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้สามารถได้สินเชื่อ และ ธนาคารก็มั่นใจขึ้น

สำหรับ บสย.เอง เปิดดำเนินการมาแล้ว 30 ปี ถือว่าตัวองค์กร บสย. เป็นกลไกหลักของภาครัฐ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการเติมทุน การหาแหล่งสินเชื่อให้ SMEs

ดร.นงค์นาถ: บสย.ครบรอบ 30 ปีและทราบว่าปีนี้ได้รับรางวัลTQCด้วยใช่ไหม

คุณกิตติพงษ์ : ใช่  30 ปี บสย.เราทุ่มเทในการทำงานเรื่องค้ำประกันเป็นหลัก ล่าสุดเราได้รับ 2 รางวัล รางวัลแรกคือ TQC (Thailand Quality Class) รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ บสย.ทุ่มเท ยกระดับการทำงานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา บสย.สามารถช่วยเหลือผ่านวงเงินค้ำประกันสูงสุดในรอบ 30 ปี คือ 245,000 ล้านบาท ส่วนอีกรางวัลก็คือ ITA รางวัลองค์กรโปร่งใส บสย.เราได้รางวัลชมเชยต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี เป็นอีกรางวัลหนึ่งที่เราภูมิใจเช่นกัน และเราก็ทำงาน และพัฒนาแบบนี้ต่อเนื่อง

ดร.นงค์นาถ: ทราบว่าตอนนี้มีหลาย product ใหม่ๆ มีอะไรบ้าง

คุณกิตติพงษ์: ด้วยภารกิจที่หลากหลายในการช่วยเหลือการค้ำประกันตัวผลิตภัณฑ์ที่ บสย.ดำเนินการอยู่ก็พยายามออกแบบให้มีความหลากหลาย ช่วยเหลือพี่น้อง SMEs ได้ในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ โครงการที่ 1 คือ โครงการค้ำประกัน PGS9 บสย.สร้างชาติ  PGS9 คือ Portfolio Guarantee ระยะที่ 9 เราทำมาแล้ว 9 ซีรีส์ วงเงินนี้ 100,000 ล้านบาท ค้ำประกันสูงสุดได้ถึง 10 ปี ช่วง 2 ปีแรก ไม่คิดค่าธรรมเนียม

ส่วนโครงการที่ 2 คือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูซึ่งเป็นระยะที่ 2 แล้ว วงเงิน 100,000 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยประมาณ 1-1.75 ต่อปี วงเงินให้ต่อรายสูงสุดถึง 50 ล้านบาท ซึ่งค่อนข้างสูง ค้ำประกันนานสูงสุดถึง 10 ปี สามารถผ่อนสินเชื่อได้ยาวๆ ไม่ต้องแบกรับภาระเยอะ ส่วน

โครงการที่ 3 คือ Soft Loan Extra โครงการนี้เป็นโครงการใหม่ที่ออกมาช่วงเดือนเมษายน ของภาครัฐบาลเพื่อช่วยเหลือพี่น้อง SMEs ในการขอสินเชื่อ Soft Loan เมื่อช่วงปี 2563 เป็นต้นมา

โดยโครงการ Soft Loan ครบกำหนดระยะคือ ช่วงเมษายน ปี 2565  แต่พี่น้องเอสเอ็มอีบางรายได้รับผลกระทบต่อเนื่องการที่เร่งคืนอาจจะมีผลกระทบและทาง บสย.เองก็ได้รับนโยบายจากภาครัฐเพื่อที่จะเข้ามาทำงานกับสถาบันการเงินทุกแห่งเพื่อที่จะออกสินเชื่อเพื่อมาชำระ Soft Loan บสย.ก็เข้าไปค้ำประกันเต็มวงเงิน ผู้ประกอบการก็จะตัวเบาขึ้น

โครงการ 3 โครงการนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ทำงานร่วมมือกัน เนื่องจากโครงการ Soft Loan ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปล่อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ Soft Loan Extra คือ มีการค้ำประกันอีก 8 ปีเพื่อที่จะรองรับในการผ่อนชำระในระยะยาวขึ้นจะทำให้พี่น้อง SMEs ลดภาระไปได้มากทีเดียวช่วงนี้

ดร.นงค์นาถ: นอกจากนี้ บสย.ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เจาะกลุ่มรายเล็ก SSMEs ด้วยใช่ไหม

คุณกิตติพงษ์ : ใช่ เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการคนตัวเล็กๆ ก็จะได้สินเชื่อเพื่อต่อลมหายใจหรือต่อยอดธุรกิจ เราเรียกเติมเต็มรายย่อย โดยโครงการนี้ค้ำประกันไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ฟรีค่าธรรมเนียมถึง 3 ปี คือ ภาครัฐเข้ามาชดเชยค่าธรรมเนียมให้ใน 3 ปีแรก เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเล็กๆ ไม่เป็นภาระมากในช่วงเริ่มต้น และระยะค้ำประกันสูงสุดถึง 10 ปี

ดร.นงค์นาถ: แล้วโครงการค้ำประกันสินเชื่อของรัฐเป็นอย่างไร

คุณกิตติพงษ์ : โครงการค้ำประกันสินเชื่อธนาคารรัฐเรียกว่า เราร่วมมือกับสถาบันการเงินของภาครัฐที่จะปล่อยตัวนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โครงการนี้ก็ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปีเช่นกัน และวงเงินค้ำประกันได้ถึง 100 ล้านบาทต่อราย และระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปีเช่นกัน เวลาผู้ประกอบการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินภาครัฐโครงการนี้ก็จะเข้าไปทำงานกับสินเชื่อของภาครัฐที่ช่วย SMEs

ดร.นงค์นาถ: โครงการสินเชื่อ SMEs Supply Chain ก็เป็นอีกโครงการที่น่าสนใจใช่ไหม

คุณกิตติพงษ์ : ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจที่ บสย.ได้ทำงานกับสถาบันการเงินต่างๆ คือ พี่น้อง SMEs หลายๆ ท่านมีคู่ค้าต่อเนื่องเรียกว่า Supply chain บางทีพี่น้อง SMEs อยากได้สินเชื่อ เราก็จะทำงานกับโครงการสินเชื่อ SMEs Supply Chain ของธนาคารต่างๆ

ความหมายก็คือ เช่น ธนาคารก็จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ supply chain เขาจะมีชื่อแบบนี้เลยsupply chain หลายๆ ธนาคารออกโครงการขึ้นมา โครงการของเราก็ไปทำงานเฉพาะกับโครงการของธนาคารที่เป็นสินเชื่อที่เป็น supply chain และฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก ระยะค้ำประกันสูงสุด 10 ปี เพื่อให้พี่น้องต่อลมหายใจผ่านวิกฤติโควิดไปด้วยกัน

ดร.นงค์นาถ: มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.พร้อมช่วย รายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง

คุณกิตติพงษ์ : จากการที่ SMEs เจอภาวะแบบนี้ การผ่อนคืนชำระหนี้ เป็นภาระค่อนข้างมาก  บสย. ก็ออกมาตรการช่วยเขาก็คือ เริ่มต้นดอกเบี้ยขั้นต่ำ 0% ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ค่างวดเริ่มต้น 1,000 บาท และมีการตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ยนี่เป็นหลักการหลักๆ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้เรามีทางเลือกให้กับลูกหนี้ ได้แก่

ทางเลือกที่ 1 สำหรับลูกหนี้ที่ได้ผลกระทบรุนแรงหรือ ยังอ่อนแออยู่ ก็จะไม่ต้องชำระเป็นเงินก้อนเข้ามาที่ บสย. ทยอยชำระเป็นงวดๆ ซึ่ง บสย.เองเราให้ผ่อนยาวๆ เลย 5 ปี เงินทุกงวดที่เข้ามาเราก็จะมีการตัดดอกเบี้ยด้วยคือ แทนที่เราจะตัดดอกเบี้ยหมดไป ช่วยตัดเงินต้นด้วยก็ทอนภาระเรื่องหนี้ลงไป

ทางเลือกที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มมีศักยภาพขึ้นมาบ้าง แต่ยังต้องประคองตัวอยู่ อย่างน้อยก็มีเงินชำระก้อนแรกเข้ามาสัก 1%ของภาระหนี้ 1% คืออะไร เช่นผู้ประกอบการมีหนี้ 1,000,000 ก็ชำระหนี้มาแค่ 10,000 ก่อนแล้วที่เหลือก็ผ่อนยาวๆ 5 ปี ตลอด 5 ปี ก็ชำระเงินต้นหมดแล้ว ค่อยไปชำระตอนท้ายของการผ่อนชำระเลยทีเดียว ทำให้ลดเงินต้นของการผ่อนไปได้มากเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องสุดท้ายคือ สำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพพอไหว อันนี้ชำระครั้งแรกเป็นเงินก้อน10% ถ้า 1,000,000 ก็100,000 หลังจากชำระแล้วกลุ่มนี้ผ่อนยาวๆ ไปอีก 7 ปี ดอกเบี้ย 0% ทุกครั้งที่ชำระเข้ามาก็ไปตัดเงินต้นด้วย

ดร.นงค์นาถ: ความช่วยเหลือ SMEs ที่ บสย.ดำเนินงานมาจนถึงขณะนี้ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

คุณกิตติพงษ์ : ตลอด 30 ปี บสย.ช่วย SMEs ไปแล้วประมาณ 740,000 ราย คิดเป็นประมาณ 23% จาก SMEs ประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งภารกิจนี้ บสย.ก็ต้องช่วยต่อเนื่อง แต่ที่สำคัญ คือ บสย.ทำงานสนองนโยบายภาครัฐ ที่เข้าไปช่วยแล้วเราเคยได้ศึกษาจากงบประมาณ 1 ล้านบาท ภาครัฐได้เข้ามาช่วยจะให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง

ตัวอย่างเช่น SMEs จาก 1 ล้านบาท จะช่วยได้ประมาณ 3 ราย ก่อให้เกิดยอดค้ำประกันสินเชื่อ 7 ล้านบาท และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบประมาณ 9,600,000 บาทในขณะที่วงเงิน 1 ล้านบาท สามารถรักษาการจ้างงานได้ถึง 55 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 29.3 เท่า

ส่วนโครงการสินเชื่อไมโครก็จะเป็นคนตัวจิ๋วมากๆ ทุกเงิน 1 ล้านบาทของรัฐช่วยได้ประมาณ 40 ราย ก่อให้เกิดการค้ำประกัน 4.6 ล้านบาท สินเชื่อขยายตัวไป 4.7 รักษาการจ้างงานได้ถึง 145 ตำแหน่ง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 19 เท่า

ดร.นงค์นาถ: ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก บสย.ได้ช่องทางใดบ้าง

คุณกิตติพงษ์ : มี 4 ช่องทาง ช่องทางแรก ติดต่อศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ FA Center มีคอลเซ็นเตอร์เบอร์ 0-2890-9999 หรือผ่านทางไลน์ @doctor.tcg เป็นหมอหนี้ที่ บสย.ทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.นงค์นาถ: ฝากข้อคิดกับ SMEs ในยามวิกฤตแบบนี้

คุณกิตติพงษ์ : ด้วยภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ทุกท่านก็คงเหนื่อยพอสมควรช่วงนี้ควรใช้สติเยอะๆ ในการบริหารธุรกิจและพยายามประคองค่าใช้จ่าย แต่ถ้านึกอะไรไม่ออก นึกถึง บสย. สามารถปรึกษาในการประคองธุรกิจได้ แต่ถ้าท่านอยากเจอเราจริงๆ สามารถไปเจอได้ที่งาน Smart SMEs Expo ในวันที่ 7-10 กรกฎาคม ที่อิมแพคเมืองทองธานี HALL 7-8 บสย.ไปออกบูธ หมอหนี้ด้วย ไปพบปะกันที่นั่นได้


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น