“สหพัฒน์” ลดเทรดโปรโมชั่นก่อนปรับราคา เหตุต้นทุนพุ่งสูงสู่ยุควิกฤติ “ผู้ผลิตสินค้า”

สัมภาษณ์:คุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ประกอบกับวิกฤตโควิด ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้าต่างๆ ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตสินค้าหลายชนิดพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลปัญหา ของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค โดยในด้านของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย จำเป็นต้องปรับราคาท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง จึงไม่สามารถปรับราคาได้มาก

ขณะที่ บางสินค้า เป็นสินค้าควบคุม กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุมัติให้ปรับราคา ..ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ อย่าง เครือสหพัฒน์ มีแนวทางในการบริหารจัดการต้นทุน และ ราคาสินค้าอย่างไร ..ติดตามจากบทสัมภาษณ์ : คุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

ดร.นงค์นาถ: สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย และยูเครน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอุปโภค บริโภคมากน้อยขนาดไหน

คุณบุญชัย: ไม่ใช่กระทบแค่ของเราอย่างเดียว กระทบกับทุกคน เมื่อสินค้าแพงขึ้นประชาชนก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ดร.นงค์นาถ: กระทบต่อผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค อย่างเครือสหพัฒน์ อย่างไรบ้าง มีตัวไหนที่ต้นทุนพุ่งกระฉูดบ้าง

คุณบุญชัย: ตอนนี้มีสินค้าหลายตัวด้วยกันที่มีต้นทุนสูงขึ้น และใครๆ ก็บอกว่า สินค้าบะหมี่สำเร็จรูปขึ้นราคา จริงๆ ยังไม่ได้ขึ้นราคา แต่อาจจะต้องขึ้นราคาในที่สุด เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นอย่างมาก อย่างน้ำมันปาล์มขึ้นมาเท่าตัวจากที่ผ่านมา แป้งสาลีก็เพิ่มขึ้นมามากมายกว่า 50% หากไม่ปรับราคา ต่อไปก็จะขาดทุนมโหฬาร ในที่สุดก็คงทำต่อไปไม่ได้ เพราะว่าทำแล้วก็ขาดทุน

รัฐบาลพยายามบอกเราว่า อย่าขึ้นราคา เราก็พยายามช่วยรัฐบาลอยู่ รัฐบาลเองก็พยายามช่วยประชาชน แต่ก็ต้องเห็นใจเราด้วยว่าเราก็ประสบปัญหาจริงๆ ที่แหนักตอนนี้ก็เป็นผงซักฟอก ต้นทุนวัตถุดิบบางตัวเพิ่มขึ้นมา 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ และเป็นสินค้าที่กำไรน้อยมาก เราต้องแข่งขันในตลาดสูงมาก วัตถุดิบตัวหนึ่งที่ชื่อว่า LAB (Linear Alkyl Benzene) ขึ้นมา 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ก็มีปัญหาว่านำเข้ามาช้า นำเข้ามาไม่ได้ เรือก็มีไม่พอ คอนเทนเนอร์ก็ไม่พอ วัตถุดิบบางตัวก็ขาดแคลน เราก็แก้ปัญหาอยู่

ดร.นงค์นาถ: ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะสต็อกวัตถุดิบประมาณ 3-6 เดือนใช่ไหม สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

คุณบุญชัย: เนื่องจากการผลิตสินค้าพวกนี้เป็นวอลุ่มที่เยอะมาก วัตถุดิบไม่สามารถสต็อกปีหนึ่งได้ สัก 3 เดือนหรือไม่กี่เดือน และการที่ปรับขึ้นราคามาเรื่อยๆ นี้ ไม่ได้ขึ้นวันนี้ มันขึ้นมาเป็นปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีโควิดระบาด ราคาก็ค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ พอมีสงคราม รัสเซียยูเครน ก็ขึ้นไปอีก

ดร.นงค์นาถ: ราคาขึ้นมาจากปัญหาเงินเฟ้อด้วย และมาจากสาเหตุอื่นๆ อะไรบ้าง

คุณบุญชัย: ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่อง supply มากกว่า เวลาที่ supply มันต่ำไป หรือบางทีตอนนี้หลายประเทศไม่ส่งออก น้ำมันปาล์ม แป้งสาลี บางประเภทก็ไม่ส่งออกแล้ว พอไม่ส่งออก supply ก็น้อย ราคาก็ขึ้นเอง โดยธรรมชาติของมัน หรือ พอรัสเซียไม่ส่งแก๊สออกมาราคาน้ำมันก็ขึ้น ทุกอย่างก็เหมือนกัน ตอนนี้เราเดือดร้อนกันทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย ผู้ผลิตสินค้าลำบากมาก ก็ต้องแก้ปัญหากันไป

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้ราคาต้นทุนก็เพิ่มสูงขึ้นแต่รัฐบาลก็ขอให้คงราคาเท่าเดิม จะอดทนไปได้ถึงไหนอย่างไร สักกี่เดือน

คุณบุญชัย: เราแก้ปัญหาโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ลดงบโฆษณา โปรโมชั่นต่างๆ น้อยลง เพราะเราขึ้นราคาไม่ได้ ตอนนี้ที่ทำได้คือ การลดเทรดโปรโมชั่นต่างๆ ส่วนลดต่างๆ ที่ให้กับห้าง เวลาที่วัตถุดิบถูกๆ หรือมี supply มากมาย เขาก็ทำการแข่งขันกันตัดราคาอะไรต่างๆ แต่ตอนนี้ตัดไม่ไหวแล้ว เราไม่เคยตัดราคา เราขายราคาสม่ำเสมอไม่แพง แต่บางเจ้าที่ขายราคาแพง เขาก็เอาราคาแพงนั้นมาตัดราคา และเอามาแถมของเยอะๆ ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็แถมไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงเหลือเกิน ตอนนี้เราก็ทำได้แค่ลดเทรดโปรโมชั่นลง คือเมื่อก่อน ซัพพลายเอร์ ผู้ค้าส่ง ร้านค้า จะได้กำไรจากสินค้าสูงกว่านี้ ซึ่งเราก็ขึ้นราคาไม่ได้ เรามีปัญหาสินค้าถูกควบคุม เราก็เลยต้องลดกำไรของร้านค้าลงไป ร้านค้าก็ต้องยอม เขาต้องเห็นใจเราเหมือนกันว่า ถ้าเราให้กำไรเท่าเดิมเราก็อยู่ไม่ได้

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้มีสินค้าตัวไหนบ้างที่รัฐคุมราคา

คุณบุญชัย: เท่าที่จำได้ก็มีน้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ดร.นงค์นาถ: ในเมื่อต้นทุนขึ้นมากขนาดนี้ จะตรึงราคาได้นานสักเท่าไร จะเจรจากับรัฐบาลอย่างไร

คุณบุญชัย: ตอนนี้รัฐบาลก็พิจารณาอยู่ ดูว่าต้นทุนเราเพิ่มจริงหรือไม่ เราต้องพยายามหาข้อมูลไปบอกรัฐบาลว่าต้นทุนเราเพิ่มจริง เพิ่มตรงไหนบ้าง รัฐบาลละเอียดมากในการดูแลเรื่องนี้ ไม่ให้ใครต่อใครมาปรับราคาโดยไม่ถูกหลักเกณฑ์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ปัญหาเยอะที่สุด วิกฤติที่สุดสำหรับผู้ผลิตอย่างเรา

ดร.นงค์นาถ: ผงซักฟอกเป็นสินค้าที่จำเป็นกับครัวเรือน ตอนนี้ได้ปรับราคาบ้างหรือยัง

คุณบุญชัย: เท่าที่ทราบตอนนี้เรายังไม่ได้ปรับขึ้นราคาเลย เพียงแต่เราลดรายการ การตลาดหรือเทรดโปรโมชั่นลงไป บางทีเราก็เอาของแถมอย่างอื่นแถมให้เขาไป เพื่อที่เขาจะไม่ได้รู้สึกว่าเขาขาดอะไรลงไป

ดร.นงค์นาถ: มีประมาณกี่ตัว ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

คุณบุญชัย: คิดว่ากระทบทุกตัว อย่างเช่น ขนมปัง ใช้แป้งสาลี ก็กระทบเพราะแป้งสาลีแพงขึ้นมาก ต้องนำเข้ามาจากหลายๆ ประเทศ เพราะประเทศเราไม่มีการปลูกข้าวสาลี น้ำมันปาล์มก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ราคาพุ่งสูงมาก เที่ยบกับปี 2020 กับตอนนี้ราคาต่างกัน 100% น้ำมันปาล์มราคาขึ้นมาเท่าตัว น้ำมันปาล์มก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ใช้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  ราคาขึ้นมาแบบนี้ บอกตรงๆ ว่าขาดทุน นอกจากน้ำมันปาล์มขึ้นมาแล้ว น้ำมันดีเซลก็เพิ่ม แต่ก่อน 20 กว่าบาทต่อลิตร  ตอนนี้ขึ้นมา 30 กว่าบาท น้ำมันเตาที่ใช้ในโรงงานก็ขึ้นมา 100% ต่อลิตร ราคาตลาดโลกมันขึ้น เขาก็ต้องขึ้นตาม

ดร.นงค์นาถ: แม้รัฐบาลจะพยายามควบคุมราคาสินค้าแต่ในที่สุดสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

คุณบุญชัย: ในที่สุดรัฐบาลคงต้องอนุญาตให้เราขึ้นราคาบ้าง ถ้าต้นทุนการผลิตสูงขึ้นขนาดนี้ อีกหน่อยก็อาจจะเจอปัญหาว่าสินค้าไม่มีออกมาขาย เพราะมันผลิตไม่ได้ ขาดทุน

ดร.นงค์นาถ: มองว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องข้าวของแพง ปากท้องประชาชนอย่างไร

คุณบุญชัย: ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล ความผิดของตลาดโลกมากกว่า ตอนนี้ขนส่งก็ควบคุมน้ำมันดีเซลไว้ที่ 35 บาท ลดภาษีสรรพสามิตไปประมาณ 5 บาท ก็เป็นวิธีแก้อย่างหนึ่ง แต่จะอยู่ได้นานขนาดไหน ถ้าราคามันขึ้นอีกก็จะเดือดร้อนต่อไป ถ้าเราเป็นรัฐบาล ก็อย่างที่บอกมันมีหลายอย่าง เช่น ภาษีนำเข้าก็ช่วยได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะลดภาษีนำเข้าได้หรือไม่ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาผู้ผลิตลงไปบ้าง ขอร้องว่าอย่าปรับราคาขึ้นจนเกินเหตุ ถ้าต้นทุนขึ้นมาก ก็ปรับเถอะ และคอยตรวจสอบว่าใครบ้างที่ปรับขึ้นเกินเหตุ และไม่เหมาะสม และประชาชนต้องเห็นใจรัฐบาลกับผู้ผลิตว่าราคานี้ไม่ได้ปรับขึ้นเพราะกำไร แต่ปรับเพราะความอยู่รอด

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องกำลังการซื้อของผู้บริโภคก็ลดลงใช่ไหม

คุณบุญชัย: พอราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะซื้อของเฉพาะจำเป็นเท่านั้น และซื้อน้อยลง ปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นแบบนี้ ช่วงนี้ค้าขายลำบากมาก

ดร.นงค์นาถ: ในภาวะวิกฤติแบบนี้ สหพัฒน์ ปรับตัวรับมืออย่างไร

คุณบุญชัย: เราไม่รู้ว่าสงคราม รัสเซีย ยูเครน จะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่รู้จะยืดเยื้อไปนานเท่าไร ตั้งแต่ปี 2564 เราก็ใช้วิธีลดค่าใช้จ่าย ได้บอกให้ พนักงานช่วยกัน ตอนนี้ ทุกอย่างต้องดูให้ละเอียดว่าแต่ละครั้งที่ใช้จ่ายไป มันคุ้มค่าไหม การโฆษณาก็ดี การตลาดก็ดี  ต้องละเอียด ใช้อย่างระมัดระวัง ใช้อย่างให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเราก็มาดูอีกว่ามีอะไรอีกที่ฟุ่มเฟือย ในองค์กร ไม่จำเป็นก็อย่าใช้ คนในสหพัฒน์ทุกคน ต้องช่วยกัน เราไม่ลดเงินเดือน แต่ปรับเงินเดือนเพิ่มน้อยหน่อย โบนัสน้อยหน่อย และไม่รับคนเพิ่ม ไม่มีการลดคน การปรับตัวด้วยกลยุทธ์แบบนี้ ทำให้เรายังไม่ถึงกับขาดทุน ยังเป็นบริษัทที่โชคดี เรายังอยู่ได้


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น