บสย.ชู “หมอหนี้” ดูแลสุขภาพการเงินเอสเอ็มอี เตรียม 1 แสนล้าน ต่อลมหายใจ “รายย่อย”

สัมภาษณ์: คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

ดร.นงค์นาถ: บทบาทของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการให้ความช่วยเหลือ SME ช่วงวิกฤตโควิด ได้วางสโคปงานหลักๆไว้อย่างไรบ้าง

คุณสิทธิกร:  บสย.ยังคงให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการดูแลสุขภาพทางการเงินให้กับ SME กลุ่มอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ กลุ่มนี้เราจะไปดูเรื่องของสุขภาพ ทางด้านการเงิน โดยดูแลทั้ง 2 มิติ  ไม่ใช่แค่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่เราให้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการ การเงิน การตลาด  การตลาดออนไลน์ การทำบัญชี ฯลฯ

โดยส่วนใหญ่ เราพบว่าผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าบริการได้ดีเยี่ยม แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดการ การทำบัญชี การตลาด โดยเฉพาะเรื่องบัญชีนี่สำคัญ บสย. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน กรมสรรพากร ภายใต้โครงการ SME บัญชีเดียว เพื่อให้ SME ทำบัญชีได้ถูกต้อง

การลงบัญชีอย่างถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทุกสถาบันการเงินต้องพิจารณาจาก statement  บัญชีของ SME

เพราะฉะนั้นใน งาน Money Expo ที่ผ่านมา บูธของ บสย. เรามีผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ส่วนใหญ่ คืออดีตรองกรรมการใหญ่ของสถาบันการเงิน Top 5 ทั้งนั้น บางเคสถ้าให้ผู้ประกอบการนั่งแก้เอง อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่ถ้ามาปรึกษา บสย.บางเคส อาจแก้ได้เลย

โดยสรุป สโคปงานของ บสย.หลักๆ คือ เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันให้กับ SME เพื่อให้เข้าไปกู้กับสถาบันทางการเงิน ในมิตินี้เองจะทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในเรื่องของ credit cost ถ้าผู้ประกอบการ เข้ามาคุยกับทาง บสย. และใช้สินเชื่อทางธุรกิจ ดอกเบี้ยจะต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล ประมาณ 7-8% ต่อปี และอาจจะขึ้นไปเป็น 12% ต่อปี 19% ต่อปี เพราะถ้าเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยจะสูง สินเชื่อธุรกิจจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และใช้หนังสือค้ำประกันของ บสย.เป็นส่วนเติมเต็มในส่วนนี้

สำหรับผู้ประกอบการ SME เราแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ก็สามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

กลุ่มที่ 2  ปรับตัวไม่ได้ก็เลิกกิจการไป ในกลุ่มนี้เองผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ ลูกจ้างในองค์กรของเขา

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่เรียกว่ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และต้องการที่ปรึกษา ก็จะเชื่อมกับกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่ต้องการที่จะทำธุรกิจใหม่ๆ

กลุ่มที่ 4 เรามั่นใจว่าถ้ามาปรึกษาที่ บสย.ไม่ใช่แค่มิติเรื่องของแหล่งเงินทุนแต่จะได้องค์ความรู้ด้วยในด้านการจัดการธุรกิจ และอาจจะต้องการทำ business matching บสย.เอง ก็จะมีกลุ่มผู้ประกอบการ เช่น SME AกับB ที่อยู่ในฐานข้อมูลของ บสย.ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงกันได้ เราก็ยินดีที่จะให้มีการพูดคุยกัน ทั้ง4กลุ่มก็สามารถมาปรึกษาได้กับทาง บสย.

ดร.นงค์นาถ: เรียกว่ารวมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกใช่ไหม

คุณสิทธิกร: ใช่ การลองผิดลองถูกนี้สำคัญ มีข้อมูลทางเศรษฐกิจว่าผู้ประกอบการSMEส่วนใหญ่เวลาไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินอย่างน้อยต้องไปถึง 4 สถาบันการเงินถึงจะได้สินเชื่อ เพราะฉะนั้นทาง บสย.เราทำมาถึง4ปีแล้ว ตั้งแต่เปิดมาจนถึงปัจจุบันเองมีผู้ประกอบการ SME ร่วมๆ 10,000 ราย เข้ามาติดต่อเรา เพราะฉะนั้นแทนที่จะต้องวิ่งไปหาธนาคารถึง4ธนาคาร ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ไหน บสย.ก็จะเป็นประตูให้เชื่อมระหว่างความต้องการทางการเงินกับผู้ให้บริการทางการเงิน หรือกลุ่มธนาคาร มาที่เราที่หนึ่งเราก็จะเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับประเภทของธุรกิจ และกับประเภทของวงเงินด้วย

ดร.นงค์นาถ: ช่วงนี้มาตรการเด่นๆ มีอะไรบ้าง

คุณสิทธิกรโดยภาพรวมตอนนี้เรามี 2 ส่วน คือ ทั้ง 2 ส่วนวงเงินที่เราเตรียมไว้ให้ผู้ประกอบการถึง 1 แสนล้าน โดยใน 9 หมื่นล้านแรก เป็นส่วนของ soft loan extra ซึ่งคือ ผู้ประกอบการที่ใช้ soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยเดิม ของแบงก์ชาติเดิมที่ครบกำหนดอายุภายในเดือนเมษายนของปีนี้ และต้องการสภาพคล่องต่อ

ในส่วนนี้เองทาง บสย.จะเข้าไปค้ำประกันต่อ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตัวหลักทรัพย์เขาอาจจะใช้ไปหมดแล้ว ก็สามารถเข้ามาติดต่อทาง บสย.เพื่อเข้าไปเติมเต็มได้ หากต้องการสภาพคล่องต่ออันนี้คือ กลุ่มที่ 1 ซึ่งกลุ่มนี้เองทาง บสย.ให้การค้ำประกันต่อสูงสุด 8 ปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการดำเนินการค้ำประกัน ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ SME ในการจ่ายค่าธรรมเนียมใน 2 ปีแรก เรียกว่าปีแรกจ่ายแค่ปีละร้อยละ 1  จาก 1.75  คือ จ่ายแค่ 1% ในส่วนของ 2 ปีแรก ในกลุ่มที่ใช้ loan extra ก็สามารถที่จะต่อเนื่องได้ และอยากให้รีบติดต่อกับทางธนาคารที่ทางผู้ประกอบการใช้บริการ soft loan อยู่ ติดต่อได้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปีนี้

ในส่วนที่ 2 คือ ส่วนของการค้ำประกันสินเชื่อ หรือ PGS9 ของรัฐบาลภายใต้โครงการ “บสย. SME สร้างชาติ” ส่วนนี้เราเตรียมไว้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะสำหรับภาวการณ์แบบนี้

ในส่วนนี้เป็นการออกการค้ำประกันของ บสย.ภายใต้โครงการ “บสย. SME สร้างชาติ” เรารู้ว่าผลกระทบจากโควิดมันมีการลากยาว อาจจะถึงปีหน้า ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน เอง ก็จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ต้นทุนเรื่องพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ เพราะฉะนั้นสภาพคล่อง หรือ term loan นี้ผ่าน 3 โครงการย่อย

โครงการแรก คือ “บสย. SMEs เติมเต็มรายย่อย” เราเตรียมไว้ 8 พันล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย 3 ล้านบาท ติดต่อกันสูงสุด 10 ปี โครงการที่ 2 เป็นโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ติดต่อกับธนาคารของรัฐอยู่ เราเตรียมไว้ 1 พันล้าน เป็นวงเงินสินเชื่อที่เราให้ค้ำประกันต่อรายคือ 100 ล้านบาทต่อราย

โครงการท้ายสุด คือ โครงการ “SME supply chain financing” 1 พันล้านบาท ทั้ง 3 โครงการรวมแล้ว 1 หมื่นล้านบาท ทั้ง 3 โครงการย่อยนี้ ทางผู้ประกอบการได้การยกเว้นค่าธรรมเนียม 3 ปี ใน 3 ปีนี้ ผู้ประกอบการเองก็สามารถที่จะลืมตาอ้าปาก มีสภาพคล่อง และลดต้นทุนทางด้าน credit cost

ส่วนลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน  บสย.เคยค้ำประกันอยู่ และสถาบันการเงินก็ส่งใบเคลมมากับทาง บสย. แน่นอนว่าต้องมาปรับโครงสร้างหนี้กับทาง บสย. เรามีโครงการที่ว่า “บสย.พร้อมช่วย” ผ่อนน้อยเบาแรง คือ จะมาปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย.และเพื่อให้เขาเบาใจและเบาแรงแล้ว เราเน้นการตัดต้นเยอะๆ หนี้ลดหมดแน่ อัตราดอกเบี้ย 0% ตอนนี้อยากให้มาติดต่อกับบสย.ก่อนจะได้มาพูดคุยกัน ติดต่อหมายเลข 02-890-9999 การปรับโครงสร้างนี้กับทาง บสย.ผ่อนได้สูงสุดถึง 7 ปี เป็นลักษณะลดต้นลดดอก ก็อยากจะให้มาพูดคุยกัน เรามีการปรับโครงสร้างหนี้หลังจากผู้ประกอบการปรับกับสถาบันการเงินแล้วก็มาปรับต่อกับ บสย.ต่อได้อีก

บสย. ยังมีศูนย์ที่ปรึกษาของ บสย.เอง  คือ F.A. Center ผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อขอปรึกษาได้ที่ หมายเลข 02-890-9999 หรือที่ Line@doctor.tcg ซึ่งการให้คำปรึกษา เราก็พยายามเติมเรื่ององค์ความรู้ด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน เบาใจ เบาแรง

ดร.นงค์นาถ: ในส่วนของ บสย.เอง ตอนนี้ผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง ผ่านไป 4 เดือนแล้ว

คุณสิทธิกร: 4 เดือนที่ผ่านมา ผลประกอบการของเรายอดการค้ำประกันเราสูงถึง 61,000 ล้านบาทเกินกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ใน 4 เดือนแรก คือประมาณ 57,000 ล้านบาท ใน จำนวน 61,000 ล้านบาท นี้ ตัวเลขที่น่าสนใจคือ บสย. ให้การค้ำประกันมากขึ้นคือกลุ่มธุรกิจการเกษตร เช่น กลุ่มธุรกิจ ผักผลไม้ ยางพารา ข้าว มัน ส าปะหลัง และอ้อย ซึ่งมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญขยายตัวถึง 30% เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 ก้าวจากลำดับ 3 ในปี 2564 มาเป็นลำดับ 2 ในปี 2565

ดร.นงค์นาถ: แปลว่าคนผันตัวเองไปทำการเกษตรเยอะขึ้น

คุณสิทธิกร: เป็นไปได้ และตัวชี้วัดเรื่องของการเกษตรนี้เราคิดว่า เป็นเรื่องของเกษตรยุคใหม่ smart farming และกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการคือ แรงงานคืนถิ่น และอยากจะกลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดของตัวเอง กลุ่มเกษตร 4 เดือนแรกโต เป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 1 ของ บสย.เองจะเป็นกลุ่มก่อสร้าง เราปล่อยไปประมาณ 1 หมื่น 2 พันล้านบาท อันดับ 2 การเกษตร อันดับ 3 ธุรกิจผลิตสินค้า อันดับ 4 อาหารเครื่องดื่ม อันดับ 5 ผลิตภัณฑ์พวกเครื่องจักร

ดร.นงค์นาถ: สามารถติดต่อขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือด้านต่าง ๆได้ที่ช่องทางไหนได้บ้าง

คุณสิทธิกร: เรามีเว็บ www.tcg.or.th มีรายละเอียด และมีฟอร์มที่สามารถกรอกรายละเอียด และทางเจ้าหน้าที่ เราจะติดต่อกลับ ช่องทางต่อมา คือ call center 02-890-9999 โทรศัพท์มาในวันและเวลาทำการจะมีทางทีม F.A.center และ Call Center เป็นผู้ประสานงาน และให้ทางผู้เชี่ยวชาญ หรือ “หมอหนี้” ติดต่อกลับ นอกจากนี้ ยังมี Line ด้วย  @doctor.tcg


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น