จาก “วิศวกร” สู่อาชีพเกษตรกรยุคใหม่ ยึดศาสตร์พระราชา-เทคโนโลยี เปลี่ยนชีวิต

สัมภาษณ์: คุณมงคล โลหะชิน เจ้าของไร่เกษตรผสมผสาน “ไร่นาธรรมิกา”

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

“ชีวิตคนเรา เปลี่ยนแปลงได้ ด้วยตัวเราเอง” ตัวอย่างจากเจ้าของไร่เกษตรผสมผสาน “ไร่นาธรรมิกา” ซึ่งจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ ทำงานประจำมาหลายบริษัท จนเจอวิกฤติน้ำท่วมปี 54 จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด ที่จ.อุบลราชธานี และทำงานประจำในโรงงานอุตสาหกรรมใกล้บ้าน มีเวลาก็ปรับพื้นที่ไร่นา เป็นเกษตรผสมผสานตามศาสตร์พระราชาไปด้วย จนปัจจุบันได้ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวและลงมือทำเกษตรผสมผสานอย่างจริงจัง บนพื้นที่ 22 ไร่ เป็น “ไร่นาธรรมิกา” ชื่อแบรนด์สินค้าเกษตรที่จะทยอยออกสู่ตลาด

แรงบันดาลใจ วิธีคิด และเป้าหมาย ของ คุณมงคล โลหะชิน อดีตวิศวกร มีความน่าสนใจ อย่างไร ติดตามจากบทสัมภาษณ์

ดร.นงค์นาถ: ทำงานอะไรมาก่อนบ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจมาทำอาชีพเกษตรกร

คุณมงคล: หลังจากเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ทำงานประจำ ในหลายบริษัทด้วยกัน และได้ไปทำงานต่างประเทศ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียด้วย ตอนนั้นไปซัพพอร์ตงานของโนเกีย ทำอยู่ประมาณ 5 ปี และด้วยสภาวะการแข่งขันกันของตัวเทคโนโลยี โทรศัพท์หลายๆ ยี่ห้อ ก็เกิดการแข่งขันกัน โนเกียเองก็ค่อยๆ ดรอปลงเพราะเขาก็ไม่ได้พัฒนาตัวซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้น จึงได้กลับมาอยู่ที่ประเทศไทย ดูแลเรื่องสมาร์ทโฟนต่อ สุดท้ายก็มาเจอวิกฤติน้ำท่วม ปี 2554 และคิดว่าอนาคตเมืองใหญ่ๆ น่าจะเจอภัยพิบัติอีกหลายๆ ด้าน และตัวเองก็เติบโตมาจากครอบครัวชาวนา อยากกลับไปอยู่บ้านเกิด จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อุบลราชธานีกับพ่อแม่ และทำงานประจำ เป็นวิศวกร ที่โรงงานอุตสาหกรรมใกล้บ้าน ตำแหน่งล่าสุด คือ รองผู้จัดการโรงงาน

ดร.นงค์นาถ: ทำงานอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรม มีตำแหน่งหน้าที่การงานก้าวหน้าดี ทำไมตัดสินใจลาออก

คุณมงคล: ทำงานอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรม 9 ปี ในระหว่างที่ทำงานประจำ ก็ฝึกตัวเองหลายอย่างเรื่องออนไลน์ เช่น ขายทุเรียน ขายเสื้อผ้า ฝึกทักษะในการเป็นพ่อค้าขายออนไลน์ และมีโอกาสได้เข้าร่วม โครงการพลังชุมชน รู้สึกว่าแนวทางของโครงการนี้ดีมาก มีแนวทางช่วยเหลือภาคเกษตรโดยนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ และสอนให้เกษตรกรรู้จักการตลาด ในระหว่างที่ทำงานประจำ จึงเริ่มวางแผน เพราะที่บ้านมีที่ดิน 22 ไร่ และได้มีโอกาสไปดูงานที่ “ไร่นาฟ้าเอ็นดู” ซึ่งอยู่ที่อุบลฯ เหมือนกัน และได้เข้าโครงการพลังชุมชน มาก่อน ได้ไปเห็นการสร้างธุรกิจการเกษตร การสร้างรายได้จากไร่นาเหมือนกัน สามารถขายสินค้าผ่านออนไลน์ ขายผ่านเพจ โดยสินค้าที่นำมาขายส่วนหนึ่งก็คือ สินค้าในชุมชน ก็เห็นว่านี่คือ แนวทางที่ตัวเองใฝ่ฝันมายาวนานมาก อยากมีธุรกิจส่วนตัวอยู่กับไร่นา อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด จึงได้เข้าไปศึกษา อบรมกับกลุ่มพลังชุมชนอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นเริ่มมาปรับพื้นที่ มาวางระบบน้ำ และนำความรู้ที่เรามีอยู่ เช่น เรื่องไฟฟ้า มาทำพลังงานทดแทนโซล่าเซลล์ การเจาะบาดาลทำระบบพลังงานทดแทน และวางระบบ เพิ่งเริ่มทำได้ปีกว่าๆ ก่อนลาออกเราก็เริ่มต้นกับพลังชุมชนมาเกือบ 2 ปีแล้ว เราทำหลายด้าน ทั้งทำออนไลน์ พื้นที่ทำแปลงเกษตรแบบผสมผสาน เริ่มมีบ่อน้ำ เริ่มเลี้ยงปลา มีการปลูกผลไม้ เริ่มทำที่อยู่อาศัยในไร่ นา วางระบบน้ำจนครบสมบูรณ์แล้ว

ดร.นงค์นาถ: คอนเซ็ปต์การทำการเกษตรที่วางไว้เป็นอย่างไร

คุณมงคล: เป็นการเกษตรแบบผสมผสาน มีทุกอย่างอยู่ในแปลงเกษตร มีนาข้าว บ่อปลา แปลงผัก มีพืชเศรษฐกิจด้วย เช่น ทุเรียน ผลไม้ตามฤดูกาล ฯลฯ ตั้งใจให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย และเป็นเชิงการท่องเที่ยวด้วยโดยยึดหลักตามศาสตร์พระราชา

ดร.นงค์นาถ: ได้นำความรู้ไปช่วยเพื่อนบ้านเครือข่ายด้วยใช่ไหม

คุณมงคล: ใช่ อย่างเรื่องโซล่าเซลล์ที่เรามีพื้นฐานอยู่ เราก็ได้ช่วยชุมชนของเราเอง เช่น แปลงเกษตรผสมผสานเราก็ไปทำเรื่องพลังงานทดแทนหรือโซล่าเซลล์ให้ อย่างเกษตรกรต้องการโซล่าเซลล์เพื่อปั๊มน้ำ เราก็ไปให้ความรู้ แนะนำวิธีซื้ออุปกรณ์ และบริการด้วยราคาที่เป็นกันเอง เราไปให้ความรู้ แนะนำการซื้อ การติดตั้งให้ภาคเกษตรกร เรียกว่าเป็นสินค้าที่เรารับทำให้กับภาคเกษตรกร รวมถึงร้านค้าชุมชนด้วย ที่ต้องการลดค่าไฟ ก็ช่วยชุมชนให้หันมาใช้พลังงานทดแทน

ดร.นงค์นาถ: โครงการพลังชุมชน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้หันมาทำอาชีพการเกษตรด้วยหรือไม่

คุณมงคล: ใช่ คือ มองเห็นว่าโครงการพลังชุมชนนี้ ทำเพื่อสร้างความยั่งยืน และสร้างวิถีการทำการเกษตรยุคใหม่เพราะส่วนใหญ่ภาคการเกษตรจากที่เคยเห็นพ่อกับแม่ทำมา คือ ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งอนาคตต้นทุนก็จะสูงขึ้น ดูเทรนด์ตัวเลขเรื่องของค่าน้ำมัน ค่าขนส่งที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุน เรื่องปุ๋ย เรื่องเคมีการเกษตร สูงขึ้นตามไปด้วย จะเห็นว่าเกษตรกรหลายชุมชน เริ่มไม่มีกำไรจากการเกษตรเชิงเดี่ยว มาใช้หนี้ได้ ไม่มีกำไร จากการเกษตรแบบเดิม เราเลยได้เข้าร่วมกับโครงการพลังชุมชน ก็ได้เห็นอะไรหลายอย่าง เช่น การตลาด ช่องทางการจำหน่าย การนำมาต่อยอด ก็เลยมีความคิดที่ว่าอยากทำการเกษตรในทฤษฎีใหม่ โดยนำเทคโนโลยี การตลาด การแปรรูป การขายออนไลน์ไปเติมเต็มกับภาคการเกษตรให้มีสินค้าแปรรูป สามารถทำแพ็กเกจ สามารถขายออนไลน์ได้ ปัจจุบันเป็นยุคของดิจิทัล การสื่อสารไร้ขอบเขต ซึ่งเราพอมีพื้นฐาน ก็อยากออกมาทำเต็มตัว อยากออกมาสร้างธุรกิจส่วนตัวด้วย และทำในเรื่องที่ตนรักซึ่งก็คือ การเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ นำเทคโนโลยีเข้าไปต่อยอด

ดร.นงค์นาถ: ที่วางแผนไว้กับโครงการพลังชุมชน อนาคตจะเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วยไหม

คุณมงคล: ที่มองไว้ก็อยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน การตลาดออนไลน์ การขายออนไลน์ พลังงานทดแทน

ดร.นงค์นาถ: นานแค่ไหนถึงจะสามารถไปดูงานได้

คุณมงคล: ตอนนี้ทำได้แค่ 1 ปี พื้นที่ก็วางเลย์เอาท์แทบจะสมบูรณ์ มีระบบน้ำ ที่อยู่อาศัย รอแค่ว่าพืชที่ปลูกจะเกิดมูลค่าแค่ไหน การแปรรูปจากสิ่งที่มีอยู่ เช่น ข้าว เบื้องต้นที่เรามีอยู่ และผลไม้ที่กำลังวางแผนปลูกอยู่ทั้งทุเรียน สละอินโด และผลไม้ทั่วไปในท้องถิ่น จะได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน

ดร.นงค์นาถ: สุดท้าย ถ้าพูดถึงสินค้าชุมชนยุคใหม่ มองว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

คุณมงคล: ปัจจุบัน ได้เห็นการพัฒนาสินค้า ของชุมชน มากมาย โดยเฉพาะสินค้าที่เกิดในท้องถิ่น ผู้นำหรือผู้แทนของชุมชนเขาจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ในชุมชน เริ่มมีการแปรรูป ออกแบบแพ็กเกจ และนำสินค้าเหล่านี้ขึ้นขายด้วยระบบที่ขายตรงกับผู้บริโภค มีหลายช่องทาง เช่น การขายในกลุ่มไลน์ การสร้างเพจ หรือกระทั่งการยิงโฆษณา ซึ่งในพื้นที่อุบลราชธานีนี้ มีสินค้าหลายแบรนด์หลายตัว ที่เราได้มีโอกาสไปร่วมผลักดันด้วย เช่น ของคุณปิ๋ม ไร่นาฟ้าเอ็นดู คือ กระบก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมองไม่เห็นคุณค่า แต่คุณปิ๋มมองเห็นว่ามันสามารถสร้างมูลค่าได้ และด้วยการบ่มเพาะจากโครงการพลังชุมชนด้วย ปัจจุบันกระบกได้รับการตอบรับดีมาก ไม่พอขาย จนต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างจังหวัด และต่างอำเภอ เพื่อนำมาผลิตจำหน่าย ก็เป็นตัวอย่างของการพัฒนาสินค้าชุมชน ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบัน

คุณมงคล: ในส่วนของสินค้าชุมชนก็จะมี เพจของช้อปช่วยชุมชน และติดตามได้จากเพจต่างๆ ของชุมชนที่เขาสร้างขึ้น เช่น อุบลราชธานีที่อยู่นี้ก็จะมีเพจกวยจั๊บของคุณแต๋น เป็นสินค้าชุมชนที่สร้างบ้านให้เป็นโรงงานผลิตและเกิดการจ้างงานในชุมชน ส่วนของเราเป็นเพจ “ไร่นาธรรมิกา”


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น