ผลิตภัณฑ์จาก “เชือกมัดฟาง” อาชีพเสริมจาก “สิ่งใกล้ตัว”

สัมภาษณ์: คุณชัญกานต์ จักรพล ประธานกลุ่มอาชีพเจ็ดสาวน้อย จังหวัดสระบุรี

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

“สิ่งใกล้ตัว” อาจเป็นอาชีพเสริมให้เราก็ได้ เพียงแต่เราอาจคิดไม่ถึง หรือ มองข้าม ทำให้เสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย แต่สำหรับ กลุ่มสตรีหัวใส แห่งอำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี เมืองโคนมอันลือชื่อ ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการเลี้ยงวัวกันทั้งอำเภอ

ในช่วงฤดูแล้ง ที่นี้จะไม่มีหญ้าสดเลี้ยงวัว จึงต้องหาฟางจากที่อื่นมาให้น้องวัว ที่ก้อนฟางนี่เอง ที่จะมีเชือกมัดติดมาด้วย ซึ่งเชือกนี้มีคุณสมบัติ เหนียวทนทาน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงนำเชือกมามัดของ และถักเปลไว้นอนเล่น และพัฒนามาเป็นตะกร้า กระเป๋า ฝาชีครอบอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นการนำวัสดุใกล้ตัวมาต่อยอดเป็นอาชีพเสริม ได้อย่างน่าสนใจ …ชวนติดตาม ความคิด และการลงมือทำ การต่อยอด ผลิตภัณฑ์จาก “เชือกมัดฟาง”

ดร.นงค์นาถ: ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของ “เชือกมัดฟาง” หน่อย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

คุณชัญกานต์: อำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นถิ่นโคนม มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเยอะ ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าช่วงหน้าฝนเราจะมีหญ้าสดๆ ให้วัวกินตอนเช้า และตอนเย็น แต่พอหน้าแล้งจะไม่มีหญ้าสด เราก็จะต้องสั่งซื้อฟาง จากที่อื่น มาให้วัวกิน ที่ก้อนฟาง จะมีเชือกที่มัดก้อนฟางมาด้วย นั่น คือ จุดเริ่มต้นของ “เชือกมัดฟาง”

ดร.นงค์นาถ: ช่วงแรกๆ เอาเชือกมัดฟางมาทำอะไรก่อน

คุณชัญกานต์: เราเอาเชือกส่วนนั้นมาถักเปล ไว้นอนเล่นตอนกลางวัน เพื่อพักผ่อนไป ดูแลฝูงวัว ไปด้วย หลังจากนั้น ก็ทดลองมาใช้ ถักกระเป๋าไปจ่ายตลาด และดัดแปลงมาเรื่อยๆ มาเป็นตะกร้า ใส่ของ

ดร.นงค์นาถ: ใครเป็นผู้ริเริ่มพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ และกลายเป็นสินค้าชุมชนในปัจจุบัน

คุณชัญกานต์: คือบ้านเรา อยู่ มวกเหล็ก และ เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ไปน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เลย มีความคิดว่าเชือกตัวนี้อยู่ใกล้ตัว เป็นวัสดุสิ่งของที่เหลือใช้ เพราะถ้าถักเป็นเปลจนพอใช้กันแล้ว ก็ยังมีเหลือทิ้งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายยาก เราก็เลยคิด ทำโครงการขึ้น ไปหาอาจารย์ กศน. ให้เขาส่งวิทยากรมาสอนในชุมชน

บ้านเราอยู่ในระหว่างทางไปน้ำตกเจ็ดสาวน้อยก็สามารถนำไปวางขายระหว่างทางได้ ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมา เพราะคนในชุมชนของเราเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโค งานจะยุ่งตอนเช้า และตอนเย็น ช่วงกลางวัน จะมีเวลาว่าง เราก็เลยชักชวนให้มาทำผลิตภัณฑ์ตรงนี้ เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง

ดร.นงค์นาถ: การทำนี่ยาก-ง่ายอย่างไร ใช้เวลาเยอะแค่ไหนกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์

คุณชัญกานต์: ตะกร้า ใบเล็กหน่อยก็ใช้เวลาประมาณ 3 วัน เหมาะสำหรับ ใส่ของไปวัด บางใบ งานทำกระเป๋าสวยๆ ก็ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่เราใช้เวลาว่าง ตอนเที่ยง ในการทำไม่ได้ทำเต็มวัน

ดร.นงค์นาถ: ตั้งราคาขายเริ่มต้น และราคาสูงสุดไว้เท่าไร

คุณชัญกานต์: มีราคาสูงสุด 2,000 บาท รองลงมา 1,500 บาท 800 บาท 400 บาท ใบเล็กสุด ประมาณ 300 บาท

ดร.นงค์นาถ: จะมีการพัฒนาต่อยอดไปอย่างไรอีกบ้าง

คุณชัญกานต์: มันหยุดนิ่งไม่ได้แล้ว การพัฒนาก็ต้องตามความต้องการของลูกค้า ลูกค้าต้องการใบขนาดนี้ สีนี้ ลายนี้ ก็ต้องทำตามลูกค้า และเราก็คิดลายใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างออกไป เพื่อให้ลูกค้า มาเห็นแล้วอยากซื้อเพิ่ม

ดร.นงค์นาถ: การบริหารจัดการด้านผลประโยชน์หรือการบริหารจัดการด้านงานทำอย่างไร

คุณชัญกานต์: สมาชิกกลุ่มของเราตอนนี้จะอยู่ที่ 9 คน ทำสานตะกร้าแบบเดียวกันหมด ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ว่าอยากได้ลายแบบไหนแล้วคนไหนถนัดลายอะไร ก็แจกงานตามความถนัดของแต่ละคน งานนี้เราต้องหาคนที่มีใจรัก ถ้าไม่มีใจรักก็ทำไม่ได้เพราะใช้เวลานาน ต้องมีความอดทนด้วย

ดร.นงค์นาถ: ทำการตลาดช่องทางไหนบ้าง ขายออนไลน์ด้วยหรือเปล่า

คุณชัญกานต์: ขายผ่านทาง Facebook และขายผ่านทางกลุ่มไลน์ คือ กลุ่มพลังชุมชน

ดร.นงค์นาถ: ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย ได้อะไรบ้างจากการไปเรียนรู้กับโครงการพลังชุมชน และนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

คุณชัญกานต์: เราได้ความรู้ตรงนั้นมาเยอะ นำมาบริหารจัดการภายในกลุ่ม เรื่องการผลิตสินค้า การทำตามขั้นตอน การบริหารสต็อกสินค้า และคำแนะนำอื่นๆ โดยการหาสมาชิกกลุ่มเพิ่ม ในส่วนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อช่วยทำให้งานมีความทันสมัย ค้นหา คิดสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ

ดร.นงค์นาถ: วิกฤติโควิด มีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

คุณชัญกานต์: ช่วงโควิดเราออกจากบ้านไม่ได้เลย เราก็เลยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดย เร่งผลิตสินค้ากักตุนไว้ เพื่อในเวลาที่สถานการณ์เบาลง เราจะได้ขายสินค้าของเราได้ แต่ตอนนี้ขายได้บ้างแล้วบางส่วน แต่นับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับก่อนโควิด

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้เดือนหนึ่งขายได้ประมาณกี่ชิ้น

คุณชัญกานต์: 4-5 ชิ้น ไม่หมือนแต่ก่อน จากแต่ก่อน รายได้หลักหมื่น แล้วก็ลดลงมาช่วงโควิดเป็นหลักพัน แต่เราก็ไม่หยุดนิ่ง เราไม่ถอย เราสู้ เร่งผลิตสินค้าแบบต่างๆ รอตลาดฟื้น

ดร.นงค์นาถ: ดูสินค้า และสั่งซื้อได้ในช่องทางไหนบ้าง

คุณชัญกานต์: ดูได้ใน Facebook “ชัญกานต์ จักรพล” สั่งซื้อทางเฟสได้เลย สินค้าเราเป็นโครงเหล็ก มีความคงทนมาก สีสันของเชือก ลวดลายของเชือก ก็มีความสวยงาม เพราะตอนนี้ เราไปซื้อเชือกใหม่ๆ มาผลิต และเชือกของเราเป็นเชือกที่เหนียว ไม่ขาดง่าย รูปแบบก็เหมาะกับแต่ละกลุ่มช่วงวัย ใบเล็กก็เหมาะกับวัยรุ่น ใบใหญ่ก็เหมาะกับผู้สูงอายุ ไปวัด ไปทำบุญ ไปงานพิธีต่างๆ สวยอมตะ ไม่ตกยุค


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น