Year of Saudi Coffee… ซาอุดิอาระเบียทุ่มทุนสร้าง “กาแฟเคาว์ลานิ”

ณ ที่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงใต้สุดของซาอุดิอาระเบีย ห่างจากชายแดนเยเมนเพียงไม่กี่กิโลเมตร เป็นเขตพื้นทื่สูงเต็มไปด้วยภูเขาหินที่เรียงรายลดหลั่นกันลงมา ตามเชิงชั้นของไหล่เขามีต้นกาแฟปรากฎขึ้นเรียงราย ที่นี่เป็นแหล่งปลูกกาแฟอันเก่าแก่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการขนามนามว่า “ทองคำเขียวแห่งเทือกเขาจาซัน”

ผู้เขียนเองยอมรับว่าออกจะทึ่งเอามากๆที่มาทราบว่า ประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบียมีสภาพพื้นที่เหมาะสมพอที่จะทำ “ไร่กาแฟ” ได้ด้วย แล้วก็ไม่ใช่เพิ่งปลูกกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ปลูกกันมาเป็นร้อยๆปีแล้ว และก็มีวิถีการแปรรูป, การชง และการดื่มที่เป็น “เอกลักษณ์” ในระดับวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลที่ปริมาณการผลิตมีอยู่น้อยมาก ถ้าวัดเป็นอันดับโลกก็ตกประมาณอันดับที่ 50 กว่าๆ แหล่งปลูกกาแฟจึงไม่ได้ถูกปักหมุดไว้บน “แผนที่” แหล่งปลูกกาแฟของโลก

Year of Saudi Coffee ซาอุดิอาระเบียทุ่มทุนสร้าง “กาแฟเคาว์ลานิ” ภาพ : Universal Eye on Unsplash

ต้นกาแฟไม่ใช่พืชท้องถิ่นของซาอุดิอาระเบีย ดังนั้น เข้าใจว่า ต้นกล้ากาแฟหรือผลกาแฟสุกที่พร้อมปลูกลงดิน น่าจะส่งผ่านมาจากทางประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง “เยเมน” ที่นำกาแฟป่าจาก “เอธิโอเปีย” มาปลูกเพื่อการพาณิชย์เป็นประเทศแรกของโลก มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

พื้นที่ในซาอุดิอาระเบียส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย, ภูเขา, แห้งแล้ง และขาดฝน แต่ทางเทือกเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับพรมแดนเยเมนและทะเลแดง ในบริเวณที่เรียกว่าเทือกเขา “จาซัน” (Jazan) แถบจังหวัดอัล-ดาเยอร์ สภาพดินก็ยังพอที่จะให้ต้นกาแฟอาราบิก้าเติบโตขึ้นได้  พื้นที่ปลูกเป็นแบบขั้นบันไดบนเทือกเขาสูงในระดับความสูงราว 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลักษณะเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันลงมา

ไร่กาแฟแทบทั้งหมดเป็นของเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับทักษะและความเชี่ยวชาญสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ในเรื่องการปลูกกาแฟบนพื้นที่สูงและแแห้งแล้ง

เทือกเขาจาซัน แหล่งปลูกกาแฟอันเก่าแก่ของซาอุดิอาระเบีย ภาพ : ch.unesco.org/

ทำกันมาแต่ดั้งเดิม เกษตรกรจำเป็นต้องเก็บกักน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยไว้สำหรับหล่อเลี้ยงต้นกาแฟที่มีอยู่กว่า 70,000 ต้น ให้มีชีวิตอยู่รอดได้  โดยในช่วงฤดูฝน จะเริ่มมีการเก็บน้ำฝนเอาไว้ในปริมาณที่คิดว่าสามารถหล่อเลี้ยงต้นกาแฟให้ผ่านหน้าแล้งที่กินเวลาประมาณ 3 เดือน

แม้จะปลูกกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้แยกแยะว่าเป็นกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ไหน คนที่นี่เรียกกาแฟที่ปลูกมาหลายชั่วอายุคนในย่านนี้ว่า “กาแฟเคาว์ลานิ”  (Khawlani coffee)  ตามชื่อของชนเผ่าที่เป็นผู้ปลูกกาแฟ  พร้อมให้การยกย่องว่า…นี่คือหนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่ดีที่สุดของโลก

เกษตรกรบางครอบครัวทำไร่กาแฟเคาว์ลานิตามเชิงชันของเทือกเขาจาซัน สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเกือบ 300 ปีก็มี อย่างไร่ของเกษตรกรที่ชื่อว่า จาเบียร์ อาเหม็ด อาลี อัล-ซัลมิ อัล-มาลีกิ

แผนที่แสดงแหล่งปลูกกาแฟบริเวณเทือกเขาจาซัน ภาพ : กูเกิ้ล แม็พ

แหล่งปลูกกาแฟบริเวณเทือกเขาจาซันที่ยังคงเก็บเกี่ยวและแปรรูปตาม “วิถีดั้งเดิม” มีกำลังผลิตอยู่ในราว 300 ตันต่อปี เรียกว่าน้อยมากเลยทีเดียว เทียบไม่ได้กับบราซิลที่มีกำลังผลิต 2.5 ล้านตันต่อปี ส่วนไทยเราก็มีประมาณ 30,000 ตันต่อปี  เนื่องจากผลผลิตมีน้อย พอเกษตรกรทำการแปรรูปกาแฟเสร็จ ก็จะมีคนเดินทางมารับซื้อกันถึงไร่เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ซาอุดิอาระเบียนั้นได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้บริโภคกาแฟรายใหญ่ แน่นอนว่า กำลังผลิตเพียงน้อยนิดในประเทศจึงไม่พอเพียง  จำเป็นต้องนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาตอบสนองการดื่มกาแฟในประเทศ ซึ่งมีตัวเลขนำเข้าในราว 10,000 ตันต่อปี

นอกเหนือจากทิวทัศน์อันสวยงามตระการตาของเทือกเขา กาแฟเคาว์ลานิเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนในย่านจาซัน ได้รับการเชิดชูให้เป็น “กาแฟชั้นยอดของซาอุดิอาระเบีย” จึงมีการรวมตัวกันจัดเทศกาลกาแฟขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสนับสนุนการปลูกกาแฟ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน เพราะใจหนึ่งนั้นเกษตรกรท้องถิ่นเองก็อยากจะนำกาแฟเคาว์ลานิออกสู่สายตาชาวโลก ให้คอกาแฟต่างประเทศได้ลิ้มรสเช่นกัน จากที่มีดื่มกันเฉพาะในประเทศอย่างปัจจุบัน

ผลสุกสีแดงของกาแฟเคาว์ลานิ ภาพ : ch.unesco.org/

จะด้วยเห็นตัวอย่างจากเยเมนที่เริ่มเดินหน้าผลิตกาแฟเยเมเนีย (Yemenia coffee) ออกสู่ตลาดโลกอีกครั้ง  หรือเพราะว่าต้องการลดการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศ หลังเปิดศักราชใหม่มาหมาดๆ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจึงผุดแคมเปญยักษ์ ประกาศให้ปี 2022 เป็น “ปีแห่งกาแฟซาอุดีอาระเบีย” (Year of Saudi Coffee)  ตั้งเป้าแผนระยะ 15 ปี ปลุกปั้น “เมืองกาแฟ” ขึ้นในประเทศ พร้อมขยายการปลูกกาแฟอาราบิก้าอีก 300,000 ต้นในพื้นที่กว่า 400 ไร่  หวังเพิ่มการผลิตกาแฟคุณภาพให้ได้ประมาณ 5,000 ตันต่อปี ภายในปีค.ศ. 2030

ตามแผนนั้น เมืองกาแฟจะประกอบไปด้วยศูนย์เพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟ, ศูนย์อบรมการทำไร่กาแฟแนวใหม่ และศูนย์จำหน่ายเมล็ดกาแฟ  คาดว่าจะนำไปสู่การจ้างงานในประเทศเป็นจำนวนมาก งานนี้ถือว่าใหญ่โตไม่เบาทีเดียว เพราะมีกระทรวงสิ่งแวดล้อม, น้ำ และการเกษตร เป็นเจ้าภาพรับนโยบายไปดำเนินการให้สัมฤทธิผล

ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ก็รับหน้าเสื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจในสาระสำคัญของกาแฟที่ผลิตขึ้นได้จากเขตเทือกเขาจาซัน อันเป็นแหล่งผลิตกาแฟของประเทศที่มีมานมนาน แล้วก็เป็นกาแฟที่ดื่มกันมายาวนานจนกลายหนึ่งในวัฒนธรรมของประเทศไปแล้ว อีกทั้งมีเอกลักษณ์ทางรสชาติที่ไม่ซ้ำแบบใคร  “งานโปรโมท” จึงจำเป็นต้องนำมาใช้ควบคู่ไปกับแผนพัฒนา เพื่อให้นโยบายปีแห่งกาแฟซาอุดิฯ บรรลุผลดังเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้

รัฐบาลซาอุดิฯ ผลักดันวิถีกาแฟดั้งเดิมให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ภาพ : ch.unesco.org/

หากพูดถึงกาแฟซาอุดิฯแบบดั้งเดิม ก็มักจะนึกถึงรูปแบบการชงที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของ “กาแฟอาหรับ” นั่นคือ หม้อต้มกาแฟใบเล็กปากกว้างด้ามจับยาวซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตุรกี พร้อมเสิร์ฟน้ำกาแฟในถ้วยเล็ก ๆ แบบไม่มีหูจับ ขนาด 2-3 ออนซ์

ถ้าดื่มกันหลายๆคนก็จะใช้ หมอต้มกาแฟอาจต้องปรับไปใช้เป็นอุปกรณ์ที่ใหญ่ขึ้น เป็นเหยือกทองเหลืองทรงสูงปากแหลม มีปากปิดด้านบน เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า ดัลลาห์ (Dallah) ซึ่งวิธีการชงก็เหมือนกับการใช้หม้อต้มใบเล็ก คือ นำผงกาแฟและน้ำใส่ลงไป นำไปตั้งเตาไฟ รอจนน้ำเดือด ระหว่างนี้ก็เติมเครื่องเทศลงไปเพื่อแต่งกลิ่นรส เสร็จสรรพก็รินน้ำกาแฟร้อนใส่ถ้วยที่วางเรียงรายบนถาดโดยไม่ใช้ฟิลเตอร์กรองผงกาแฟ ก่อนยกไปเสิร์ฟต้อนรับแขกเหรื่อ แสดงถึงมิตรไมตรีและความมีน้ำใจระหว่างคนกับคน

ปัจจุบัน มีร้านกาแฟยุคใหม่เกิดขึ้นมากมายในซาอุดิอาระเบียที่มาพร้อมกับเมนูระดับสากลซึ่งไม่ต่างไปจากประเทศอื่นๆทั่วโลก แต่การดื่มกาแฟสไตล์อาหรับก็ยังได้รับความนิยมอยู่มาก ยิ่งหากว่าใช้เมล็ดกาแฟเคาว์ลานิที่มีน้อยและหาไม่ได้ง่ายๆ จะยิ่งทำให้กาแฟแก้วนั้นมี “มูลค่า” เชิงวัฒนธรรรมมากยิ่งขึ้น

ในอดีตนั้น เมล็ดกาแฟถือเป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียเลยทีเดียว แต่พอถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หลังมีการค้นพบ “บ่อน้ำมัน” จนเริ่มมีการผลิตเพื่อส่งออก ทองคำสีดำอย่างน้ำมันก็เข้ามาครอบครองเศรษฐกิจ ปริมาณการทำไร่กาแฟเริ่มลดลงตามลำดับจนต่ำกว่าร้อยคน เพราะเกษตรกรหันไปทำอาชีพอื่นแทน ไม่ไปเป็นทหารก็รับราชการ

ไร่กาแฟบนเทือกเขาจาซันแทบถูกลืมเลือนไป ขณะที่ประเทศทะยานขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก

หมอต้มกาแฟแบบดัลลาห์ เอกลักษณ์กาแฟอาหรับ ภาพ : Partha Narasimhan on Unsplash

ในความพยายาม “อุ้มชู” วัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่ผลิตจากภายในประเทศ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้เปิดโรงคั่วกาแฟมาตรฐานสากลขึ้นที่กรุงริยาด เมืองหลวงของประเทศ เมื่อปีค.ศ. 2014  ขณะเดียวกัน บรรดาเกษตรกรหลายร้อยคนที่ทำไร่กาแฟในแถบเทือกเขาจาซันก็เริ่มได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายๆด้าน ในความพยายามหาทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมด้านองค์ความรู้ใหม่ๆในการแปรรูปกาแฟที่มีการนำผู้เชี่ยวชาญจากบราซิลและอีกหลายประเทศมาแบ่งปันความรู้

แต่ก็มีเกษตรกรหลายรายนำวิธีแปรรูปกาแฟแบบเก่ามาประยุกต์ใช้กับเทคนิคใหม่ๆ เพื่อพยายามรักษาขนบดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

รัฐบาลเศรษฐีน้ำมันซาอุดิฯริเริ่มโครงการรณรงค์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 พยายามผลักดันให้กระบวนการผลิตกาแฟเคาว์ลานีแบบโบราณดั้งเดิม ให้ผ่านการรับรองจากยูเนสโก้ ในฐานะ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”

แม้ความรู้ใหม่ๆคือความท้าทาย แต่ที่ปัญหาใหญ่สุดของเกษตรกรก็คือการขาดแคลนน้ำ มีหลายปีที่ฝนตกน้อย  ซึ่งส่งผลกระทบต่อไร่กาแฟหลายแห่ง เกษตรกรไม่สามารถหาน้ำมาเก็บไว้ในถังเก็บน้ำเพื่อรดต้นกาแฟ  ทำเลที่ตั้งไร่กาแฟก็อยู่บนพื้นที่ภูเขาขรุขระ ก็ทำให้ยากต่อการสร้างระบบชลประทาน

น้ำจึงถือเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่สูงในการผลิตกาแฟของซาอุดิอาระเบีย ดังนั้น รัฐบาลจึงมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอัล-ดาเยอร์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ไปหาทางแก้ปัญหานี้ให้ได้

ด้วยมองกาแฟที่ปลูกมานมนานในประเทศเป็นเสมือน “สมบัติชาติ” รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจึงพยายามส่งเสริมทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคควบคู่กันไป จัดหาเทคนิคการแปรรูปแบบใหม่ตามมาตรฐานสากลมาให้เกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟ ขณะเดียวกันก็ไม่หลงลืมวิถีการดื่มกาแฟที่มีมาแต่ดั้งเดิม หวังผลักดันให้กาแฟเคาว์ลานิ  “ทองคำเขียวแห่งจาซัน”  กลับมาอีกครั้ง ภายใต้แคมเปญ “2022 ปีแห่งกาแฟซาอุดิอาระเบีย”


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น