“หมอนไม้ไออุ่น” แบรนด์สินค้าชุมชน ต่อยอดจากวัตถุดิบพื้นบ้านเมืองแพร่

สัมภาษณ์: คุณสินชัย พุกจินดา เจ้าของร้านหมอนไม้ไออุ่น และประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Flow Phrae Furniture

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถเฟ้นหาวัตถุดิบในชุมชนของเรามาแปรรูป ต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เติมใส่ความคิดสร้างสรรค์ ด้วยส่วนผสมทางการตลาดลงตัว แล้วนำออกจำหน่าย ในยุคนี้ที่ตลาดกว้างไกล ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ศึกษา โมเดลนี้ จาก “หมอนไม้ไออุ่น” คือต้นแบบที่หลายชุมชน น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะแต่ละชุมชนทั่วไทยย่อมมีของดีใกล้ตัว

ดร.นงค์นาถ: ช่วยเล่าช่วงเริ่มต้นธุรกิจ โฮมสเตย์, คาเฟ่ หมอนไม้ไออุ่นและงานเฟอร์นิเจอร์

คุณสินชัย: ผมเริ่มต้นงานเฟอร์นิเจอร์ก่อน ประมาณหลังปี พ.ศ.2544 ทำผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่เกี่ยวกับรากไม้สัก รากไม้ เศษไม้ ที่มีอยู่แถวชุมชนของเรา นำไปปะติดปะต่อเป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ ออกจำหน่ายและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาวของจังหวัดแพร่ ในตอนหลังได้มีโอกาสไปจำหน่ายที่ อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ  หลังจากนั้นมาก็มีลูกค้าสนใจ ตามมาดูที่ชุมชนของเรา มาดูการผลิต และมีการมาพักในชุมชน ก็เกิด ไอเดีย โฮมสเตย์ขึ้นมา ชื่อ “หมอนไม้ไออุ่น” จากนั้นมาก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนบ้านปางงุ้น ของเรา

ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์เป็นของฝาก ของที่ระลึกต่อเนื่องมาตลอด จนเกิดร้านกาแฟ ร้านอาหารหมอนไม้ไออุ่น ขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

ช่วงประมาณปี 2560 เริ่มทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี แล้วเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV ของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย  ซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากหลายๆ หน่วยงาน ทำให้ชุมชนของบ้านปางงุ้น จากที่เป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลของจังหวัดแพร่ มากที่สุด อยู่ในอำเภอวังชิ้น ห่างจากตัวจังหวัด 100 กิโลเมตร เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครสนใจหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ซึ่งในชุมชนนี้ มีโฮมสเตย์ หลายแห่ง เพียงพอต้อนรับนักท่องเที่ยววิถีธรรมชาติได้มากพอสมควร

ดร.นงค์นาถ: ตั้งแต่ปี 2560 ที่เริ่มต่อยอด เป็นโฮมสเตย์ จนถึงตอนนี้ มีอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

คุณสินชัย: ตั้งแต่ปี 2560ก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เรื่องเฟอร์นิเจอร์เราก็ปรับให้เป็นชิ้นเล็กลง สามารถซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึกได้ ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็จะมี ต้นดอกทองอุไร ที่เราปลูกไว้เยอะมาก และทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เอาไปวิจัย พบว่า มีสรรพคุณด้านการลดน้ำตาลในเลือด  เราก็เอามาผลิตเป็นชาจากดอกทองอุไร และมีชาดอกไม้ต่างๆ จากวัตถุดิบในชุมชน มีชาดอกอัญชัน  ชาดอกคาโมมายล์ เราทำเป็นเครื่องดื่มให้นักท่องเที่ยว ได้มาสัมผัสบรรยากาศของหมู่บ้าน และก็ได้จิบชาจากดอกไม้ไปด้วย

ดร.นงค์นาถ: มีต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ “แชมพูดอกทองอุไร” และมีสบู่ด้วยใช่ไหม

คุณสินชัย: มีแชมพูดอกทองอุไร สูตรล้างสารตกค้าง และสิ่งสกปรกจากหนังศีรษะ มีกลิ่นหอมผ่อนคลาย  มีสบู่จากถ่านไม้สักทองที่เหลือใช้จากการทำเฟอร์นิเจอร์แล้วเราก็มาทำเป็นถ่าน แล้วก็นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ลูกค้าใช้ในระหว่างที่มาพักทางโฮมสเตย์ด้วย และก็ใช้ดับกลิ่นในห้องพักโฮมสเตย์ มีอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ของถ่าน แต่ตัวนี้เป็นตัวที่นิยมมากที่สุดคือ สบู่จากถ่านไม้สักทอง ดับกลิ่นกายและช่วยทำให้สะอาดขึ้นเพราะว่าเป็นถ่าน สามารถช่วยดูดซับสิ่งสกปรกของเราได้ จากถ่านเราก็มาบดเป็นสครับ มันก็เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์น้ำมันงาของชนเผ่ากะเหรี่ยงในหมู่บ้านใกล้เคียง เราก็นำน้ำมันงามาเป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นสบู่ ตัวนี้มีทั้งถ่านไม้สักทอง และน้ำมันงา

ดร.นงค์นาถ: ผลิตภัณฑ์มีตัวอื่นอีกไหม

คุณสินชัย: ที่จริงยังมีอีกเยอะแยะเลย มีทั้งตัวเฟอร์นิเจอร์ที่เราผลิตเป็นชิ้นให้เล็กลง และมีเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เข้ากับชุมชนของเรา วันนี้ก็คงพูดไม่หมด ต้องมาชมที่ร้านถึงจะเห็นความหลากหลาย

ดร.นงค์นาถ: พื้นที่ตรงนั้นมีกี่ไร่ ลงทุนไปแล้วเท่าไร

คุณสินชัย: ที่ตรงนี้เป็นมรดกที่พ่อยกให้ เป็นที่นาเก่าประมาณ 4ไร่กว่าๆ  แล้วเราได้ความคิดจากอาจารย์ที่เราได้ไปร่วมอบรมใน โครงการพลังชุมชน ด้วย ก็มาคิดดูว่าการทำนา มันทำให้เราขาดทุนทุกปีอยู่แล้ว ก็เลยมีแนวคิดว่า เราทำนาเป็นเชิงท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาช่วยเราทำนา ถ่ายภาพสวยๆ ออกไป อาจจะลดพื้นที่ลงหน่อย ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสท้องทุ่ง ท้องนา ได้มารับประทานอาหาร รับประทานข้าวที่ปลอดภัยจากสารพิษ สิ่งพวกนี้ ก็ดึงดูดดนักท่องเที่ยวเข้ามา และเราก็ได้กำไรจากตรงนี้มากกว่าการทำนาอย่างเดียว

ดร.นงค์นาถ: เบื้องต้น ลงทุนไปหลายล้านเลยใช่ไหม

คุณสินชัย: ใช่ เบื้องต้น ก็ประมาณ 3 ล้านที่ลงทุนไป

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้มีรายได้ มีผลประกอบการ ดีแค่ไหน

คุณสินชัย: ช่วงนี้ก็เจอปัญหาเรื่องโควิดมาประมาณ 2-3ปีแล้ว แต่ก็ยังประคองธุรกิจได้อยู่ ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับสภาพ เรื่องอาหารเราก็มีการทำแพคเกจจิ้งที่ดูดี  แล้วมีขายทางออนไลน์ มีแกงฮังเลดอกงิ้ว ในหมู่บ้านเรามีดอกงิ้วป่าเยอะ และเราใช้ส่วนของดอกงิ้วมาเป็นส่วนผสมของแกงฮังเล ทำให้เกิดความละมุน นุ่มนวลขึ้น และรสชาติกลมกล่อม

ดร.นงค์นาถ: ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการพลังชุมชน ตั้งแต่เมื่อไร ได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากโครงการนี้

คุณสินชัย: เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2558-2559 ตอนนั้นยังเป็นพลังปัญญา และต่อเนื่องมาจนถึง โครงการพลังชุมชน ก็ได้ความรู้ และแนวคิดจากอาจารย์มาเยอะมาก เช่น เรื่องของหลักคิด ความสำเร็จ คือ เดิมเราคิดหากำไรให้ได้เยอะที่สุด แต่ความจริงแล้ว อาจารย์สอนให้เราคิดถึงชุมชน คิดถึงเรื่องการแบ่งปัน การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนในชุมชน ก็นำมาปรับใช้ทั้งเรื่องของการท่องเที่ยวในชุมชน

เราก็เป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนผลักดัน ริเริ่มตั้งแต่ตอนแรกๆ ในบางเรื่องเพื่อส่วนรวม ชวนน้องๆ ที่ทำงานในกรุงเทพฯ กลับมาบ้าน และถามว่าเขาจะกลับมาอยู่กับพ่อกับแม่เขา เขาจะอยู่ได้อย่างไร เขาไปไม่เป็น เราก็ชวนน้องๆ เข้ามาเรียนรู้กับอาจารย์ ในโครงการพลังชุมชน  และได้รับคำปรึกษา น้องๆ บางคนก็ปลูกผักอินทรีย์ เราก็รวมตัวในการทำส่วนกลางของหมู่บ้าน เช่น อ่างเก็บน้ำแม่อาง เราก็ดึงเอาอัตลักษณ์ของชุมชนเรา ก็คือ ประเพณีขึ้นโด่ที่อยู่บนถ้ำของเขาสูงในหมู่บ้าน เป็นประเพณีสืบต่อมาเป็น 100 กว่าปี คิดร่วมกัน เพื่อหาแนวทางทำอย่างไรให้ดึงนักท่องเที่ยวมาร่วมชม

ดร.นงค์นาถ: ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ มีส่วนที่ได้จากการไปเรียนรู้จาก โครงการพลังชุมชนด้วยหรือไม่

คุณสินชัย: ได้มาเยอะเลย เริ่มตั้งแต่ตอนเกิดวิกฤติโควิด อาจารย์ก็จะเป็นที่ปรึกษาให้เรา เตือนสติเราอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าตอนแรกที่เจอรู้สึกวิตกกังวลมาก เพราะมีหนี้สินที่กู้มาทำงาน ก็ตกใจ ปรึกษาอาจารย์ ท่านก็เตือนสติให้ดูสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา ดึงทรัพยากรที่มีเยอะแยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด อย่าง ดอกทองอุไร อาจารย์ก็แนะนำตั้งแต่การขายต้นกล้า ไปจนถึงการนำดอกทองอุไรมาพัฒนาวิจัยให้เกิดประโยชน์ จนพัฒนามาเป็นชาดอกทองอุไร กระทั่งอาหารต่างๆ แกงฮังเล หมูมะแขว่น มีสมุนไพรทางภาคเหนือที่เขานำมาผสมกันแล้วจะมีรสชาติคล้ายๆ หมาล่า ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา และทำการตลาดออนไลน์ ก็อยู่ได้ แก้ปัญหา คอยประคับประคองธุรกิจกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำในชุมชน

ดร.นงค์นาถ: สามารถเข้าไปดูข้อมูล ผลิตภัณฑ์ สินค้า และ โฮมสเตย์ ได้ในช่องทางใดบ้าง

คุณสินชัย:  สำหรับร้านอาหารเราก็เป็น เพจ “หมอนไม้ไออุ่น” ถ้าเฟอร์นิเจอร์ไม้สักก็จะเป็น “Flow Phrae Furniture” และทางหมู่บ้านปางงุ้นก็จะเป็น “ปางงุ้นหมู่บ้านสีเขียว ท่องเที่ยวสุขใจ” มีทั้งผลิตภัณฑ์ของน้องๆ คนอื่นด้วย มีความหลากหลาย

ดร.นงค์นาถ: ช่วยสรุปหน่อยว่า สินค้าชุมชนยุคใหม่ เปลี่ยนไปอย่างไร

คุณสินชัย:  สินค้าชุมชนยุคใหม่ มีคุณภาพดีขึ้นมาก เพราะว่าเรามีมาตรฐานการผลิต ทุกตัวสินค้าที่นำมาจำหน่ายมีมาตรฐาน เรื่องการดีไซน์ แพคเกจจิ้ง การพัฒนาคุณภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการอย่างพวกเราก็ได้รับการพัฒนาในด้านการอบรมความรู้ต่างๆ จากหลายๆ หน่วยงาน รวมถึงโครงการพลังชุมชนที่ช่วยผลักดัน เป็นแรงบันดาลใจ เป็นที่ปรึกษาให้กับพวกเรา มีพลังในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และอยู่คู่กับชุมชน ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และยั่งยืนได้


 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น