แบรนด์สินค้าชุมชน “สวนมาลี” กาญจนบุรี จับเทรนด์ตลาด-แปรรูป คว้าทุกโอกาส

สัมภาษณ์: คุณสุรัตน์ เทียมเมฆา เจ้าของสวนมาลี จังหวัดกาญจนบุรี

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

ดร.นงค์นาถ : สวนมาลีปลูกพืชอะไร และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อะไร อย่างไรบ้าง

คุณสุรัตน์ : ปลูกพืชผสมผสานหลายๆอย่าง โดยแต่เดิมนั้นสวนของเราปลูกเพื่อขายวัตถุดิบ แต่พอมาวันหนึ่ง เริ่มแปรรูป จากวัตถุดิบที่ปลูกได้มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และค้นพบว่า นี่คือ ทางรอดให้กับสวนมาลี  เช่น เราปลูกมะนาว กล้วย มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะม่วง มะขาม ฯลฯ  มีผลผลิตออกมาเยอะมาก

พอมีเยอะเราก็นำมาแปรรูป เริ่มที่กล้วยฉาบ ต่อด้วย มะนาว เพราะมีผลผลิตเยอะ และเห็นคนอื่นต้องทิ้งไป เราก็กลัวว่าเราจะเหมือนเขาไหม เลยปรึกษากับพี่สาวว่าจะนำมาแปรรูปเป็นมะนาวดอง แต่ตอนนั้น มะนาวดองก็ขายไม่ดี จากนั้นเราก็ไปเห็นเขาทำมะนาวอบแห้ง จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 ก็ได้ไปเห็นเทคโนโลยีของเขา ทำให้เราได้เห็นว่ามะนาวนี่สามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง  นอกจากมะนาวดอง ไปเป็นมะนาวแช่อิ่มก็ได้ ก็ได้รู้ว่ามะนาว1ลูก เราสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง จนเราเขียนเป็น Business Model ขึ้นมาจริงๆจัง แปรรูป ต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ อย่าง มะนาวแช่อิ่ม ขายกิโลละ 300 บาท ขายทั้งปีเลย และมะนาวดอง เราก็นำมาทำอาหารเป็นต้มฟักมะนาวดองในเวลาที่มีคนมาศึกษาดูงาน

ดร.นงค์นาถ : มีสินค้าตัวไหนอีกที่แปรรูปและได้รับความนิยม

คุณสุรัตน์ : แป้งกล้วยน้ำว้า ชงดื่มแก้กรดไหลย้อน กล้วยน้ำว้าดิบเราสามารถนำมาทำแป้งกล้วยแบบนี้ได้ และนำมาทำเป็นกล้วยตาก ต่อมาก็จะเป็นกระเจี๊ยบแดง อันนี้เป็นสมุนไพรที่เราปลูกเอง ขายทั้งดอกแห้งและดอกสด และก็ต่อยอดเป็นชากระเจี๊ยบแดงเป็นแบบซอง ข้างในก็เป็นถุงแบบเติมน้ำร้อน จะช่วยละลายไขมัน

จนกระทั่งเมื่อปี 2562 เราได้เข้าร่วม “โครงการพลังชุมชน”  ท่านอาจารย์ที่มาบรรยายให้ความรู้ พูดกับเราว่า “โอกาสลอยอยู่ในอากาศ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะคว้าเอามาได้ไหม ” ตรงนี้เองที่ทำให้เรากลับมาคิดและเริ่มไปแข่งขัน นำเสนอผลิตภัณฑ์ในโอกาสต่างๆ จนมีเครือข่ายมากขึ้น

ดร.นงค์นาถ : สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากได้เข้าร่วมกับโครงการพลังชุมชน มีอะไรบ้าง

คุณสุรัตน์ : การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง จากที่เคยคิดว่าเราไม่เคยขายออนไลน์เลย เพราะเราขายแบบออฟไลน์มาโดยตลอด ออกบูธบ้าง ขายหน้าร้านพี่สาวบ้าง ตอนนี้ปรับมาขายออนไลน์ประมาณ90% ออฟไลน์ประมาณ10%

ดร.นงค์นาถ : ขายออนไลน์ตอนนี้ ผ่านแพลตฟอร์มใด เพจอะไรบ้าง

คุณสุรัตน์ : เพจ “สวนมาลี กาญจนบุรี” หลักๆ เลย และ “แป้งกล้วยน้ำว้าบริสุทธิ์สวนมาลี” เพจ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรสวนมาลี” และที่ Facebook ส่วนตัว “Aei Thiammeka” คนจะตามเยอะเพราะส่วนมากเวลาที่ลงรูปไปลูกค้าก็จะมาสั่งทางนี้

ดร.นงค์นาถ : ได้มีการขายสินค้ากับ เครือข่ายพลังชุมชน หรือ “ช้อปช่วยชุมชน” อะไร อย่างไรบ้าง

คุณสุรัตน์ : ถ้าเราต้องการสินค้าอะไรในเครือข่าย เช่น กระเจี๊ยบแดงของเรา ปีนี้น้ำท่วมตายไป 80% ถ้าผลผลิตเราไม่เพียงพอ เราก็สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายได้ เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ดร.นงค์นาถ : เครือข่ายนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ช่วยอธิบายหน่อย เพราะหลายคนก็มองว่าทำแค่ของตัวเองก็พอ

คุณสุรัตน์ : จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ เมื่อก่อนเราก็มีความคิดแบบนั้น ว่าเราขายของเราเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำกับใคร แต่พอวันหนึ่งของเราไม่พอ เราก็ไปหาจากในเครือข่ายชุมชน บางทีเราไม่ต้องไปซื้อ เขาก็เอามาขายให้เรา บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ด้วยความที่เราเป็นคนแปรรูป เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากคนอื่น

ดร.นงค์นาถ : การเข้าไปในเครือข่ายก็ตอบโจทย์ด้านวัตถุดิบ และช่องทางการขาย นอกจากเป็นของตัวเองแล้วก็ยังเป็นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปกับเครือข่าย ตอนนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นแค่ไหน

คุณสุรัตน์ : ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนคือ วัตถุดิบเราไม่ต้องทิ้งเลย เราสามารถนำมาแปรรูปขายได้ ถ้าเราไม่นำมาแปรรูป ขายสดๆ คือ เก็บไม่ได้เพราะกำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง ขอย้อนกลับไปตอนเกิดวิกฤติโควิด อาจารย์ในโครงการ พลังชุมชน บอกว่าให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด จากเดิมให้เรามอง เราก็มองว่าลูกค้าต้องการสมุนไพรมากใช่ไหม ด้วยที่เรามีกระชาย ทำให้เราเปลี่ยนจากอันเดิมมาแปรรูปสมุนไพร มีกระชาย ฟ้าทะลายโจร ทำให้เราดีดตัวกลับมาได้ ลุกขึ้นมาได้ รอดมาได้ ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยน ในช่วงวิกฤตโควิด เราก็คงแย่เหมือนกัน

ดร.นงค์นาถ : มีสินค้าไหนที่พัฒนามาตอบโจทย์ช่วงโควิดบ้าง

คุณสุรัตน์ : ช่วงโควิดมี 2 ตลาด พวกสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย เราก็แปรรูปทำเป็นแคปซูล อีกตลาดก็คือ ของกินที่เขาไม่สามารถออกไปซื้อได้ เราก็ส่งไปให้ที่บ้าน

ดร.นงค์นาถ : หลักการคิดทั้งหมดที่ได้มาจากการไปร่วมกับ เครือข่ายต่างๆโดยสรุปมีอะไรบ้าง

คุณสุรัตน์ : การที่เราจะเดินมาถึงจุดๆ หนึ่ง ถามว่าเราประสบความสำเร็จรึยัง ก็คงต้องตอบว่ายัง กว่าที่เราจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาหลายปี อาจารย์รี่ พีระพงษ์ (ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ)  บอกเราว่า เราไปแข่งขัน หรือ ประกวดอะไร ที่ไหนถ้าเราไม่ได้รางวัล ก็ถือเป็นประสบการณ์ เราก็ไปทุกที่ที่มีโอกาส

สิ่งสำคัญที่สุด ที่อยากบอกเพื่อนผู้ประกอบการ คือ นอกจากคุณภาพของสินค้า เราก็ต้องใส่ใจของเราลงไปในสินค้าด้วย ถ้าเราให้ใจไปเราก็จะได้ใจกลับมา

ดร.นงค์นาถ : แบรนด์สวนมาลี สามารถติดต่อได้ช่องทางไหนบ้าง

คุณสุรัตน์ : เข้าไปใน “ช้อปช่วยชุมชน” ของ SCG ได้ หรือ Facebook “Aei Thiammeka” หรือ เพจ “สวนมาลี กาญจนบุรี”


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น