มูลนิธิศุภนิมิตฯเปิดแคมเปญ ปันสุขครั้งแรก..ให้สุขได้ไม่รู้จบ รับเทศกาล “แห่งการให้”

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง

สัมภาษณ์: ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

ดร.นงค์นาถ : สถานการณ์เรื่อง Covid-19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะเรื่องของเด็กและเยาวชนอย่างไรบ้าง

ดร.สราวุธ: สำหรับคำถามเรื่องโควิดคิดว่าหลายท่านคงได้รับผลกระทบกันทั่วไปหมด ผมเองทำงานในการพัฒนาเด็กและเยาวชนมานานพอสมควร และมูลนิธิเองก็เป็นองค์กรที่ทำเรื่องนี้ในไทยมายาวนานกว่า 48 ปี อยากจะเล่าสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้เห็นภาพ และจะได้คิดว่าจะช่วยเด็กๆ ให้ได้รับโอกาสที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

ศุภนิมิตเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรืออีกชื่อคือ World Vision  มีเครือข่ายอยู่ 100 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในประเทศไทยมากว่า 48 ปี ทำงานมุ่งเน้นในแง่ของการพัฒนาเด็กและเยาวชน สำหรับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะนึกภาพเรื่องของสถานการณ์โควิดเพราะว่ามันกระทบกับเราทุกคน แต่อยากจะแบ่งปันในมุมที่เป็นภาพที่เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบซึ่งในแวดวงของคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนนำโดยหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็นทาง UNICEF หรือทาง กสศ. เราได้มีการสรุป และมีผลการวิจัยออกมาฉบับหนึ่ง เราเห็นร่วมกันว่าผลกระทบต่อเด็กที่เกิดขึ้นนี้ สามารถพูดให้เห็นภาพโดย 3 เรื่องใหญ่ๆ

เรื่องที่ 1 คือ  มีคำหนึ่งคำผุดขึ้นมา เนื่องจากเด็กไม่ได้เรียนหนังสือเป็นระยะเวลายาวนานมันมีผลที่เกิดขึ้นเราเรียกว่า ผลกระทบจากการขาดเรียนในระยะยาวหรือที่เรียกว่า learning loss ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากที่เด็กต้องเรียนที่บ้านหรือแม้แต่เรียนออนไลน์ การเรียนที่บ้านบางทีก็ไม่ได้เจอคุณครู เรียนออนไลน์บางคนก็ไม่มีเครื่องมือ ดังนั้นอัตราการเข้าเรียนต่ำกว่าปกติมากๆ และบางครอบครัวมิหนำซ้ำมีผลกระทบ ไม่สามารถสนับสนุนอุปกรณ์ให้ลูกๆ เข้าเรียนได้

หรืออีกภาพหนึ่งก็คือ เด็กเรียนไม่ครบเพราะการเรียนออนไลน์ไม่สามารถสอนได้ครบ และเรียนไม่เต็มศักยภาพทั้งศักยภาพของผู้สอนและศักยภาพของนักเรียนด้วย เราพบว่าตัวเลขของเด็กที่จะสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ลดลงอย่างน่าใจหายเพราะว่าเปรียบเทียบข้อมูลก่อนโควิดและหลังโควิด อัตราเรียนต่อของเด็กประถมและมัธยมมีสูงขึ้นระดับหนึ่งก็น่าเป็นห่วงอยู่ แต่พอเจอโควิดมันดรอปลง อันเนื่องมาจากขีดความสามารถของครอบครัวที่เขาไม่สามารถไปต่อได้เพราะฉะนั้นเด็กจะออกนอกระบบการศึกษาเยอะขึ้น

เรื่องที่ 2 อยากให้เห็นภาพว่า มีผลต่อด้านโภชนาการ สุขภาพร่างกายและจิตใจ พูดถึงตั้งแต่เด็กประถมวัย เด็กในโรงเรียน และเด็กเยาวชน หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบในพื้นที่ห่างไกล เด็กๆ ได้รับประทานข้าวเช้าที่โรงเรียน มีโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน พอเจอโควิดสิ่งเหล่านี้หายไป เพราะฉะนั้นภาวะโภชนาการที่เด็กพึงจะได้รับจากการที่มีอาหารเช้าที่มีคุณภาพ มีอาหารกลางวันที่ดีตัวนี้ขาดไปเลย มิหนำซ้ำครอบครัวได้รับผลกระทบจากโควิดต้องลดปริมาณอาหารลงไปอีก เพราะต้องประหยัดเงินไว้ในการใช้จ่าย เรื่องของโภชนาการเป็นปัญหาอย่างมาก

เรื่องนี้ส่งผลถึงการเรียนในระยะต่อไปด้วย ทางร่างกายไม่พอ ทางจิตใจอีก อยู่กับจออย่างเดียว ครูสอนก็ไม่ได้ยินบางทีครูอาจจะพูดไม่ครบ ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะปรึกษาใคร พ่อ แม่ก็ให้คำแนะนำไม่ได้สอนการบ้านไม่ได้ มิหนำซ้ำพ่อแม่ก็ได้รับผลกระทบเกิดเป็นภาวะเครียด อันนี้เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนที่จะเปิดเทอมเราเก็บข้อมูลแล้วพบว่า เด็กกลัว เพราะการเปิดโรงเรียน เขาไม่ได้รับการเตรียมตัว จะติดโควิดไหม ติดโควิดแล้วจะทำอย่างไร เกิดภาวะเครียดในเด็ก

และอีกอย่างหนึ่งที่หายไปคือ ทักษะชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงของการเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ การเรียนโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมในบริบทที่เป็นโรงเรียนหายไปเลย เพราะฉะนั้นเด็กในกลุ่มนี้ที่อยู่ที่บ้านปีกว่าๆหรือสองปี ในอนาคตคิดว่าเรื่องทักษะชีวิตจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักพอสมควร

ส่วนเรื่องที่ 3 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวซึ่งเรื่องนี้เราก็อาจจะเห็นภาพชัด คนตกงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง นักลงทุนอะไรต่างๆ รายได้ลดลง ตกงาน เลิกจ้าง พักงานต่างๆ หรือแม้แต่ผู้ติดเชื้อเองนี่ก็หนัก เพราะเขาไม่สามารถทำอะไรได้เพราะต้องกักตัว มิหนำซ้ำบ้านเราวัยแรงงานเป็นวัยที่ต้องดูแลทั้งวัยเด็กและผู้สูงอายุ ในต่างจังหวัดนึกภาพเขาจะอยู่กับผู้สูงอายุพ่อ แม่ และก็มีเด็กอยู่ เขามาทำงานในกรุงเทพฯ พอไม่ได้ทำงาน ทั้งสองวัยที่ต้องรับการดูแลนี่หนักเลย เพราะฉะนั้นผลกระทบจากเศรษฐกิจก็จะใหญ่มาก

โดยรวมประเทศไทยแม้ว่าการแก้ไขความยากจนโดยรวมจะดีขึ้นใน 10 ปีที่ผ่านมา แต่พอเจอโควิดความยากจนของเรามันย้อนเป็นกราฟกลับขึ้นมาอีก และภาวะความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างความยากจนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว

ดร.นงค์นาถ : ในส่วนของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยได้ส่งต่อความช่วยเหลือ ปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ผู้ยากไร้ในสถานการณ์โควิดอย่างไรบ้าง

ดร.สราวุธ: ในการแก้ไขปัญหานี้ภาครัฐอย่างเดียวหรือเอกชนอย่างเดียวไม่ได้ต้องเป็นการร่วมมือกัน เราจึงมีโครงการดีๆ มาเสนอ โครงการเราชื่อ “ปันสุขครั้งแรก..ให้สุขได้ไม่รู้จบ” เนื่องจากมูลนิธิ ทำงานกับเด็กยากไร้ ในพื้นที่ชนบท และพบว่าคนที่รอคอยความช่วยเหลือ เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือ เขาจะดีใจมากและเขาจะใช้สิ่งที่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้เดินหน้าไปได้ พอเขาเดินไปได้ ในที่สุดเราเห็นในประสบการณ์ที่เราทำงาน เขาย้อนเอาความสุขส่งต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นโครงการที่เรานำเสนอในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ปีนี้ ก็เลยตั้งชื่อว่า “ปันสุขครั้งแรก..ให้สุขได้ไม่รู้จบ”

ดร.นงค์นาถ : ผู้ที่มีจิตกุศล สนใจช่วยเหลือร่วมกับทางมูลนิธิ ได้อย่างไรบ้าง

ดร.สราวุธ: มีอยู่ 3-4 ช่องทาง อย่างแรกอยากชวนทุกๆ ท่าน ง่ายๆ เลยคือ สิ่งที่เด็กด้อยโอกาสต้องการคือ กำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เลย อยากให้การส่งต่อกำลังใจเป็นไวรัลในวงกว้าง เลยคิดเป็นแคมเปญขึ้นมาตัวหนึ่งเป็นการให้เราลองนึกถึงสถานการณ์เด็กๆ ที่มีผลกระทบช่วงนี้ว่าเขาหนักหนาสาหัสอย่างไร

แล้วเขียนคำอวยพร คำสร้างกำลังใจ สิ่งดีๆ ที่เราปรารถนาที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ เขียนลงไป แต่ขอให้เขียนด้วยมือข้างที่เราไม่ถนัด เพื่อให้นึกถึงตอนเด็กๆ ที่เราต้องฝึกให้อ่านออก เขียนได้ ฝึกอะไรต่างๆ มันทำให้เรานึกถึง ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ที่ฝึกฝนเรามา ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามา ทำให้เรามีสกิล ทำงานจนถึงทุกวันนี้ แต่เด็กๆ ในวัยนั้น ถ้าเขาขาดโอกาสสิ่งนี้จะหายไปเลย เขาจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเขียนโดยมือที่เราไม่ถนัดจะทำให้เรานึกถึงบุญคุณของคนที่สั่งสอนเรามา สิ่งที่เราได้โอกาสมา และก็นึกถึงเด็กๆ ที่เขารอคอยที่จะได้รับโอกาสฝึกตรงนี้ด้วย

ดร.นงค์นาถ : มีให้ดาวน์โหลดเป็นไลน์สติกเกอร์ด้วยใช่ไหม

ดร.สราวุธ: ถ้าเกิดเขียนคำอวยพร ใช้โซเชียลมีเดียของตัวเอง Facebook Instagram โพสต์ก็ได้อาจจะใส่แฮชแท็ก handwritingchallenge หรือ ปันสุขครั้งแรก หรือสามารถดาวน์โหลดสติกเกอร์ เป็นลายมือของเด็กๆ ในโครงการของเรา เขาฝึกเขียน และคัดเลือกตัวอักษรมาประกอบเป็นสติกเกอร์ และเราก็ขอทางบริษัทไลน์ให้มีสติกเกอร์ให้ท่านดาวน์โหลด สามารถซื้อได้ เราเรียกตัวนี้ว่า “ศุภนิมิตฟอนต์” เป็นฟอนต์ที่เด็กๆ เขียนลายมือประกอบกันเป็นคำอวยพร รายได้ส่วนนี้ก็ตกไปเป็นของเด็ก

ดร.นงค์นาถ : ถ้าจะอุปการะเด็กก็มีอีกช่องทางหนึ่งใช่ไหม

ดร.สราวุธ: อย่างที่เรียนเบื้องต้น การอุปการะเด็กเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของศุภนิมิต ซึ่งเราใช้รูปแบบการอุปการะเด็กนำมาสู่การพัฒนาเด็ก ครอบครัวและชุมชน การอุปการะเด็กทำได้ง่ายๆ โดยที่บริจาคกับมูลนิธิเดือนละ 600 บาท หรือ วันละ 20 บาท เดือนละ 600 บาท เราจะนำเงินไปทำเป็นโครงการพัฒนาเด็ก ครอบครัวและชุมชนเพื่อให้เขาได้เป็นเด็กที่พัฒนาการที่ดีขึ้น ได้รับการศึกษาที่ดี พ่อแม่มีอาชีพ และเขาสามารถที่จะมีอนาคตและสร้างโอกาสต่อๆ ได้ เชิญชวนอุปการะเด็กกับศุภนิมิต สามารถเข้าไปได้ในช่องทางเว็บไซต์ของเรา www.worldvision.or.th หรือถ้ายังไม่สะดวกอุปการะเด็กอาจจะพิจารณาซื้อของขวัญให้เด็กๆ

ของขวัญที่เราเตรียมไว้อาจจะไม่เหมือนของขวัญคนทั่วไป แต่เป็นของขวัญที่สร้างโอกาส เช่น พันธุ์ไก่ไข่หรือพันธุ์สุกรหรือก้อนเห็ดฟาง ที่เขาสามารถสร้างอาชีพได้ ของขวัญเหล่านี้เขาสามารถสร้างอาชีพได้เป็นความสุขที่ต่อเนื่องให้ไม่รู้จบ เชิญชวนให้เข้าไปที่เวบไซต์เช่นกันสามารถเลือกซื้อของขวัญให้กับเด็กๆ ได้ เราเชื่อว่าการให้เงินหรือสิ่งของแบบครั้งเดียวจบกับเด็กไม่สามารถที่จะช่วยให้เขาหลุดออกจากตรงนั้นได้ การที่เราช่วยเขาอย่างต่อเนื่อง เหมือนให้ปลาครั้งเดียวกินหมด แต่ให้เบ็ดตกปลา เป็นเครื่องมือที่เขาสามารถใช้ประกอบอาชีพเดินหน้าต่อไปได้

ดร.นงค์นาถ: สำหรับการร่วมทำบุญหรือร่วมแบ่งปันสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ใช่ไหม

ดร.สราวุธ: ใช่ จากพ.ร.บ.ของกระทรวงการคลัง มูลนิธิเราอยู่ในข่ายขององค์กรที่สามารถได้รับการลดหย่อนภาษีถ้าเกิดท่านบริจาคผ่านทางมูลนิธิ ใบเสร็จสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ และ อยู่ใน e-Donation ของกรมสรรพากรด้วย สำหรับเลขบัญชี ชื่อบัญชี มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเอกมัย เลขบัญชี 078-200-9655

ดร.นงค์นาถ: มีอะไรอีกไหมที่จะเพิ่มเติม สำหรับโครงการของทางมูลนิธิฯ

ดร.สราวุธ ในส่วนของบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่สนใจจะจัดให้มีกิจกรรม CSR พาพนักงานออกไปช่วยทำกิจกรรมดีๆ ที่เป็นการสร้างเสริมสังคม มูลนิธิก็ยินดี และขอเชิญชวน เรามีลักษณะของการทำงานในรูปของอาสาสมัคร ทำกิจกรรมดีๆ ในชุมชนในที่ต่างๆ เนื่องจากมูลนิธิ มีพื้นที่งานกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยมี 42 จังหวัด 76 โครงการ หลักๆ อยู่ในพื้นที่ชนบทพื้นที่ ที่เป็นชายแดน มีเด็กๆ ชาวบ้าน ชุมชนที่เป็นเกษตรกร ประมงต่างๆ เป็นวิถีชีวิตชุมชน คิดว่าเป็นการดีถ้าเกิดว่าทางบริษัทได้มีการทำกิจกรรมลักษณะนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่อยากเชิญชวน

ดร.นงค์นาถ : ขอให้ ผอ.ฝากข้อคิดในช่วงท้ายนี้

ดร.สราวุธ:  บ้านเราและทั่วโลกต่างก็ประสบวิกฤติโควิดเท่ากันแต่สิ่งหนึ่งที่เราจะแตกต่างจากที่อื่นได้คือ เราช่วยกันคนละไม้ คนละมือ เริ่มจากสิ่งที่เรามี เรามีน้อยก็ช่วยน้อย แต่ผลของการช่วยมันเกิดผลอย่างมาก จากประสบการณ์ที่ทำงานมาเราเชื่อว่า เราช่วยเหลือคนยากไร้ให้เขามีโอกาส เมื่อเขาเติบโตขึ้น โอกาสนั้นจะถูกส่งต่อ นี่เป็นสิ่งที่เรากล้ายืนยันจากประสบการณ์การทำงานว่าการให้คนด้อยโอกาสแล้วเขาส่งต่อ เป็นการให้แบบไม่รู้จบ และทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น พัฒนาได้เร็วขึ้น ไปได้ในทิศทางที่ดีขึ้น


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น