Ready-to-drink เทรนด์มาแรงตลาดกาแฟพิเศษ..!

กาแฟพร้อมดื่ม  หรือ Ready-to-drink (RTD) เป็นหนึ่งในเซกเม้นต์ของตลาดเครื่องดื่มกาแฟที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกค่อนข้างสูงทีเดียวในช่วง 2-3 ปีหลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ร้านกาแฟไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ อีกทั้งลูกค้าจำนวนไม่น้อยทีเดียวต้องทำงานอยู่กับบ้าน ตามมาตรการป้องกันการติดเชื้่อไวรัสตัวร้าย บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟทั่วโลกแทบจะทุกเซกเมนต์จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสนองตอบ และรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบใช้ชีวิตใหม่ของลูกค้า

จากกาแฟร้อนสู่กาแฟเย็นในรูปแบบเครื่องดื่มพร้อมดื่ม ธุรกิจเซกเมนต์นี้ก็ขยับขยายจากตลาดของเชนกาแฟยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าถิ่นเดิม เข้าสู่ธุรกิจอีกเซกเมนต์ของร้านและโรงคั่ว “กาแฟพิเศษ” (specialty coffee)

‘Ready-to-drink’ เทรนด์มาแรงตลาด ‘กาแฟพิเศษ’ ภาพ : Ryan De Hamer on Unsplash

หนึ่งในความเคลื่อนไหวปรับตัวเพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกประเภทให้มากที่สุดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในบ้านหรือออฟฟิศ ก็คือ การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจกาแฟพร้อมดื่มที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงตลาดกาแฟในเมืองไทยเราด้วย ด้วยศักยภาพการเติบโตในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นเจ้าใหญ่ระดับโลกในตลาดซึ่งมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้วก็“แตกไลน์”สินค้าใหม่ๆออกมา ไม่ว่าจะเป็น สตาร์บัคส์ (Starbucks), ดังกิ้น โดนัท (Dunkin Donuts), เนสท์เล่ (Nestlé), อิลลี่ (Illy), ยูซีซี (UCC) และฯลฯ

ขณะที่ร้านกาแฟหรือโรงคั่วชั้นแนวหน้าระดับดาวค้างฟ้าและกลุ่มดาวรุ่งที่เพิ่งเข้าวงการในเซกเมนต์กาแฟชนิดพิเศษ  ต่างทยอยกระโดดเข้ามาร่วมวงตลาดกาแฟพร้อมดื่มเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้พวกโรสเตอร์ก็มี สตัมป์ทาวน์ (Stumptown), บลู บอทเทิ่ล (Blue Bottle), ลา โคลอมเบ (La Colombe), คอสต้า ค๊อฟฟี่ (Costa Coffee) ฯลฯ มีวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในหน้าร้านเองและทางออนไลน์ เพื่อหวังเข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่องทาง หลังจากมองเห็นตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดกาแฟขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ, ออสเตรเลีย และเอเชีย

กาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่มของโรงคั่วบลู บอทเทิล ในสหรัฐ ภาพ : Changyoung Koh on Unsplash

“กาแฟสกัดเย็น” แบบพร้อมดื่มถือเป็นหนึ่งในเมนูสุดฮ็อตของร้านกาแฟพิเศษของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาดื่มกาแฟชนิดนี้แทน “เครื่องดื่มผสมโซดา”  แน่นอนว่าเมื่อพฤติกรรมการบริโภคเกิดปรับเปลี่ยนไปในคนเจนใหม่เช่นนี้  มีหรือที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่าง “เนสท์เล่” และ“โคคา โคล่า”  จะไม่จับตามอง “ตลาดใหญ่” มาแรงอย่างใกล้ชิด

ตัวอย่างที่เด่นชัดสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนมกราคมปีนี้เอง บริษัท “โคคา-โคล่า” ประกาศเปิดตัว “โค้กผสมกาแฟ” สูตรไม่มีน้ำตาล หวังเจาะตลาดกาแฟพร้อมดื่มที่เติบโตเร็วในกลุ่มคนวัยรุ่นของสหรัฐ โดยวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วประเทศ ทว่าไม่ได้วางบนชั้นน้ำอัดลมเหมือนเดิม  แต่ไปอยู่บนชั้นกาแฟพร้อมดื่มแทน

ผู้เขียนยอมรับเลยว่า อยากมีประสบการณ์ลองดื่มดูบ้าง อยากรู้ว่า โค้กรสชาติกาแฟนั้นเป็นเช่นไร

การบุกตลาดกาแฟของโค้กไม่ใช่ “เรื่องใหม่” เพราะโค้กก็มีธุรกิจกาแฟส่วนใหญ่อยู่ในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งนิยมดื่มกาแฟกระป๋องจากตู้หยอดเหรียญ ผ่านทางแบรนด์กาแฟ “จอร์เจีย” ซึ่งเป็นบริษัทที่โค้กตั้งขึ้นมา และใช้รัฐบ้านเกิดของโค้กเองตั้งเป็นชื่อบริษัทลูกแห่งนี้  แต่การทำเครื่องดื่มไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างโค้กกับกาแฟ ก็เป็น “เรื่องใหญ่” ไม่น้อยทีเดียว คงต้องจับตาดูว่าจะสะเทือนเลือนลั่นขนาดไหน

ในรายของนสท์เล่นั้น  ก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “เนสกาแฟ โคลด์ บรูว์” เป็นกาแฟพร้อมดื่มบรรจุขวดที่ทำจากกาแฟสกัดเย็น

อีกแบรนด์ดัง “อิลลี่” จากอิตาลี หลังจากทำเฉพาะร้านกาแฟและตลาดเมล็ดกาแฟ ก็ต้องรุกเข้าสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่มเมื่อต้นปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัว “กาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่ม” ในรูปแบบกระป๋องเป็นครั้งแรก เริ่มจำหน่ายตามร้านเครือข่ายของบริษัท และทางเว็บไซต์ออนไลน์ รวมทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

กาแฟพร้อมดื่ม Unicorn Series ของพาคามาร่า แบรนด์กาแฟไทย ภาพ : facebook.com/pacamaracoffee

หรือในบ้านเราเอง อย่างบริษัท “พาคามาร่า” แบรนด์กาแฟระดับท็อปของไทย ก็ออกผลิตภัณฑ์ในหมวดเครื่องดื่มพร้อมดื่มประเภท ชา กาแฟ และช็อกโกแลต ถึง 4 สไตล์ด้วยกัน  ภายใต้ชื่อ Unicorn เมื่อต้นปีค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทธุรกิจส่วนใหญ่มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ในจำนวนนี้้เป็นกาแฟพร้อมดื่ม 2 ชนิด คือ Black Cold Brew กับ Thai Style Espresso ตัวหลังนี้เป็นกาแฟสไตล์ไทยใส่นมข้นหวาน

ค่อนข้างชัดเจนว่ากาแฟพร้อมดื่มชนิดเย็นที่ทำขายกันมาก แทบจะเป็น “ตัวหลัก” ของแต่ละค่ายแต่ละแบรนด์เลย  ก็เห็นจะไม่พ้นไปจากเมนูยอดนิยมในระดับสากลอย่าง“กาแฟสกัดเย็น” (Cold brew) กับ “กาแฟนม” (Milk coffee) ซึ่งกาแฟนมนี้ซอยย่อยออกมาเป็น 3 เมนู ได้แก่ คาปูชิโน่, ลาเต้ และ มัคคิอาโต้ แล้วก็มีความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์มากทีเดียว ทั้งในรูปแบบกระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กล่องกระดาษ และถุงพลาสติกพีอีมีจุกล็อกพร้อมฝาเกลียวหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าถุงบรรจุของเหลว ที่มักมาพร้อมๆ กับคำโฆษณาว่า ดีไซน์ทันสมัย คุณภาพเยี่ยม รสชาติอร่อยลงตัว

อันที่จริงกาแฟพร้อมดื่มเย็น ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่ากาแฟกระป๋องหรือกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มในกลุ่มที่เป็นกาแฟใส่นม มีขายกันมานานพอสมควรแล้วในตลาดเอเชีย บ้านเราก็มีทำกันหลายเจ้า วางขายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านโชวห่วย และตู้เครื่องดื่มยอดเหรียญ  แต่เป็นคนละตลาดกับกาแฟพร้อมดื่มของร้านกาแฟสดยุคใหม่ที่เน้นคุณภาพของเมล็ดกาแฟซึ่งเดิมทีนั้นก็ขายกาแฟกันตามออร์เดอร์ ชงใส่แก้วแล้วก็ไปเสิร์ฟให้ลูกค้าตามโต๊ะหรือบริการแบบ take away

แฟรปปูชิโน่ แบบบรรจุขวดจากสตาร์บัคส์ ภาพ : commons.wikimedia/Vikiçizer

พอมีข่าวว่า สตาร์บัคส์ประสบความสำเร็จจากการนำกาแฟ “แฟรบปูชิโน่” (Frappuccino)  มาบรรจุขวดขายเป็นกาแฟพร้อมดื่มทั่วสหรัฐเมื่อปีค.ศ.1995 โดยร่วมมือกับ “เป๊ปซี่” ยักษ์ใหญ่อีกรายในวงการน้ำอัดลม ก็เลยกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่ววงการกาแฟโลก เพราะเพียงในปีต่อมาเท่านั้น เชนกาแฟรายนี้ ก็ทำรายได้มากกว่า 52 ล้านดอลลาร์ จากแฟรบปูชิโน่แบบบรรจุขวดเพียงตัวเดียว ปัจจัยหนุนนำนั้นคาดว่าน่าเป็นเรื่องของการใช้ “นมไขมันต่ำ” ในสูตรกาแฟ ซึ่งโดนใจคอกาแฟสายสุขภาพในสหรัฐมากทีเดียว

แฟรบปูชิโน่จึงได้รับความนิยมไปพร้อมๆกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเซกเมนต์กาแฟพร้อมดื่มระดับ “พรีเมี่ยม”

ในยุโรป ค่ายกาแฟอิลลีก็จับมือกับบริษัทน้ำอัดลมโคคา-โคล่า เพื่อบุกเข้าสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่มของอังกฤษตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 ครั้งนั้นมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ  Illy Issimo” เป็นเครื่องดื่มกาแฟผสมนม อีก 5 ปีต่อมา  บริษัท เอ็มแอนด์เอ็ม (M & M ) แบรนด์สินค้าจำพวกช็อกโกแลตและลูกกวาด  ก็เข้าไปทำตลาดกาแฟในอังกฤษเช่นกัน

นอกจากความนิยมที่มีเป็นทุมเดิมอยู่แล้ว กาแฟพร้อมดื่มเย็นก็มาได้ปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีทั้งมาตรการเว้นระยะห่างและการทำงานอยู่กับบ้าน มีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากกระโดดเข้าสู่ธุรกิจตลาดกาแฟพร้อมดื่ม แล้วก็มีผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟพิเศษไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหรือโรงคั่วจำนวนไม่น้อยทีเดียว ประมาณว่า“ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม”  ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า มูลค่าตลาดโลกของกาแฟพร้อมดื่มจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 42,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ. 2027 จาก 22,400 ล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2019

ตลาดกาแฟพร้อมดื่มในเมืองร้อนอย่าง “เอเชีย” ก็จัดว่าไม่ธรรมดาเลย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มากภูมิภาคหนึ่งของโลก เพราะตัวเลขในปีค.ศ. 2019 พบว่า มูลค่าตลาดกาแฟเซกเมนต์นี้ของเอเชียอยู่ที่ 14,750 ล้านดอลลาร์ มากกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดโลกเลยทีเดียว

ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีการเน้นความสำคัญมากขึ้นกับคุณภาพกาแฟทั้งกลิ่น รสชาติ และระดับการคั่ว  อย่างกาแฟสกัดเย็นแบบพร้อมดื่มนั้น ร้านที่วางตัวเองเป็นร้านกาแฟพิเศษ นำเสนอกาแฟเกรดพรีเมี่ยมที่คั่วเอง มีกลิ่นรสเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  หลายเจ้ามีการนำกาแฟตัวดังๆจากแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมาทำเป็นกาแฟพร้อมดื่ม เช่น เอธิโอเปีย, โคลอมเบีย และคอสต้าริกา  ฯลฯ

มีทั้งแบบเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว มีรสชาติ และเอกลักษณ์ตามกรรมวิธีการผลิต และแหล่งที่เพาะปลูก ที่เรียกกันว่า ซิงเกิ้ล ออริจิน (Single Origin) และแบบ “เบลนด์” (Blend) หรือกาแฟมากกว่า 2 ชนิดมาผสมรวมกันเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เรียกว่า..จับกาแฟดริปร้อนมาใส่ขวดหรือกล่องเป็นกาแฟสกัดเย็นได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะกาแฟคั่วอ่อนและคั่วกลางแนวกลิ่นรสแบบฟลอร่า&ฟรุ๊ตตี้ ถือเป็นเมนู “ขึ้นหิ้ง” ที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจร้านและโรงคั่วกาแฟพิเศษ

หรืออย่างกาแฟนมพร้อมดื่มในตลาดสหรัฐและออสเตรเลีย พวกเมนูลาเต้และคาปูชิโน ก็คัดสรรนมที่นำมาผสมอย่างพิถีพิถัน  มีการเลือกใช้“นมทางเลือก” (Non-Diary Milk) เช่น นมอัลมอนด์, นมข้าวโอ๊ต, นมวอลนัต, นมถั่วเหลือง, นมมะพร้าว และนมพิสตาชิโอ มาใช้เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่แพ้นมวัว วางตำแหน่งสถานะของร้านให้เป็นที่โดนใจกลุ่มลูกค้าสายสุขภาพ ว่ากันตามตรง กาแฟพร้อมดื่มลาเต้สูตรนมอัลมอนด์หรือนมข้าวโอ๊ต เป็นเมนูยอดฮิตของร้านกาแฟพิเศษในสองประเทศนี้เลยทีเดียว

“สตัมป์ตัน ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส” โรงคั่วกาแฟแถวหน้าของสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ทำกาแฟสกัดเย็นบรรจุกระป๋องออกสู่ตลาดในปีค.ศ. 2011 ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์นมข้าวโอ๊ตของสวีเดนชื่อว่า“โอ๊ตลี่” เพื่อทำนมข้าวโอ๊ตของแบรนด์นี้มาเป็นส่วนผสมของกาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่มของตนเอง  ส่วน ไมเนอร์ ฟิกเกอร์ (Minor Figures)  ผู้ผลิตกาแฟไนโตรโคลด์บรูว์ ก็ใช้นมข้าวโอ๊ตมาใช้กับชาอินเดียในสไตล์ที่เรียกว่า “ชานมไนโตร”

กาแฟนมพร้อมดื่มบรรจุกระป๋อง “Draft Latte” ภาพ : instagram.com/lacolombecoffee

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 โรงคั่ว“ลา โคลอมเบ้” ได้ออกเมนูกาแฟนมพร้อมดื่มบรรจุกระป๋องชื่อ Draft Latte” ให้รสสัมผัสและรูปโฉมไปต่างไปจากกาแฟไนโตร ด้วยความแปลกใหม่กระมัง ภายในระยะเวลา 18 เดือนเท่านั้น เมนูตัวนี้ก็กลายเป็นกาแฟพร้อมดื่มที่มีอัตราเติบโตรวดเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้นแล้ว การรับซื้อเมล็ดกาแฟก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกัน “แคลิเฟีย ฟาร์ม” (Califia Farms) บริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มในสหรัฐ ก็เริ่มจัดหากาแฟอาราบิก้า  ผ่านทางซัพพลายเชนที่ใช้ระบบตรวจสอบของเทคโนโลยี Blockchain” ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างน้อยก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงคำ “คุณภาพ” ในธุรกิจกาแฟที่แพร่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่ม

สำหรับสินค้าหลักอีกตัวของตลาดกาแฟพร้อมดื่มที่มาแรงมากๆในระยะหลังก็คือ กาแฟสกัดเย็นแบบพร้อมดื่ม ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทวิจัย แกรนด์ วิว รีเสิร์ช ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา  นั้นคาดการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาดกาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่มทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1,630 ล้านดอลลาร์ ภายในปี ค.ศ.2025 จากการขยายตัวของกาแฟเซกเมนต์นี้ใน“อเมริกาเหนือ”และ“เอเชีย-แปซิฟิก”

ย้อนไปในปีค.ศ. 2017 “เนทส์เล่” ได้เข้าซื้อกิจการ “คาเมเรียน โคลด์ บรูว์” (Chameleon Cold Brew)  แบรนด์กาแฟสกัดเย็นแบบออร์แกนิคของสหรัฐ  หวังใช้เป็นฐานสำหรับเจาะตลาดกาแฟของคนเจนใหม่  อีก 2 ปีต่อมา “โคลา-โคล่า” ทุ่มเงินซื้อกิจการ “คอสต้า ค๊อฟฟี่” เชนกาแฟรายใหญ่ของอังกฤษ ตามแผนรุกเข้าสู่ตลาดกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดกาแฟพร้อมดื่ม

จุดเด่นของตลาดกาแฟพร้อมดื่มในรูปแบบกาแฟสกัดเย็นและกาแฟนม นอกจากเป็นสองเมนูยอดฮิตติดชาร์ตแล้ว ก็คงไม่พ้นไปจากเรื่องความสะดวกสบายในการซื้อหา  โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ร้านกาแฟ  เพราะมีวางขายตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป  หรือจะซื้อผ่านบริการแบบเดลิเวอรี่ก็ได้ เพราะด้วยรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดหรือกล่องมีจุกปิดแน่นหนา ทำให้ง่ายต่อการขนส่ง เมื่อลูกค้าได้รับแล้วก็สามารถนำไปแช่ในตู้เย็นเพื่อดื่มด่้ำรสชาติตามความต้องการ

ในเครื่องดื่มที่เป็นกาแฟผสมนมอย่างพวก ลาเต้ หรือ คาปูชิโน ถ้าเป็นร้านที่ดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ก็จะระบุรายละเอียดไว้ในฉลากกาแฟบนบรรจุภัณฑ์ว่า ควรแช่ความเย็นเอาไว้ตลอด  หรือควรดื่มภายในกี่วันเพื่อรสชาติที่ดีที่สุด รวมไปถึงบอกถึงช่วงเวลาที่เครื่องดื่มหมดอายุด้วย

กาแฟสกัดเย็นพร้อมดื่ม เมนูขวัญใจคอกาแฟรุ่นใหม่ ภาพ : The Creative Exchange on Unsplash

ไม่ว่ากาแฟสกัดเย็นหรือจะเป็นกาแฟนม ล้วนแต่เป็นเมนูประจำร้านที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วในตลาดผู้บริโภค  ยิ่งหากว่ามีการยกระดับเพิ่มคุณภาพ การคัดสรร และใส่ใจด้านสุขภาพลงไป ให้มีความ “พิเศษ” มากกว่า “ธรรมดา” ก็ถือว่า “เข้าทาง” ร้านและโรงคั่วกาแฟแบบพิเศษทีเดียว เพราะมีความชำนาญการในด้านนี้อยู่แล้ว  จนกลายเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมสูง ท่ามกลางสถานการณ์ที่บังคับให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หากถือว่าวันที่ “แฟรบปูชิโน่” แบบบรรจุขวดออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก เป็นวันแห่งการ “ปฎิวัติ” วงการกาแฟพร้อมดื่มแบบพรีเมี่ยมแล้วไซร้   พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ประกอบกับเทรนด์การดื่มกาแฟของคนเจนใหม่ ก็ถือเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดกาแฟพร้อมดื่มทุกระดับมีอัตราเติบโตสูงต่อเนื่อง ธุรกิจกาแฟพิเศษก็อ้าแขนรับเซกเมนต์นี้ไว้ใน“อ้อมใจ”กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็ยังไม่มีใครตอบได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า วิถีการดื่มกาแฟจะเปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่ และอย่างไร?  แต่ตัวผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า ตลาดกาแฟพร้อมดื่มแบบพิเศษหรือพรีเมี่ยมจะปักหลักเติบโต เป็นเมนูอยู่คู่กับร้านกาแฟยุคใหม่อย่างถาวรเลยทีเดียว


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น