Ethiopia Forest Coffee ปฏิบัติการพิทักษ์ “กาแฟป่า”

เอธิโอเปีย มีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้าคุณภาพสูงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นประเทศต้นกำเนิดสายพันธุ์กาแฟเฉพาะถิ่นที่เติบโตตามป่าธรรมชาติอยู่มากมาย

ก่อนที่สายพันธุ์เหล่านี้จะถูกนำออกไปจากดินแดนกาฬทวีปเมื่อหลายร้อยปีก่อน เข้าสู่ดินแดนโพ้นทะเลทั้งในทวีปเอเชียและอเมริกากลาง/ใต้ จนกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน

กาแฟในเอธิโอเปียนั้นเป็นมิติทางสังคมที่ถักทอจนเป็นผืนผ้าแห่งวัฒนธรรมมาเป็นร้อยๆปีแล้ว ผ่านพิธีชงกาแฟต้อนรับแขกผู้มาเยือน และด้วย คำพูดทักทายที่ใช้สื่อสารกันจนติดปากจนเป็นวิถีของคนพื้นถิ่นที่นี่ก็คือ buna tetu” ซึ่งแปลว่า “ดื่มกาแฟ” แล้วก็ยังมีสำนวนที่ว่า buna dabo naw” แปลว่า “กาแฟคือขนมปังของเรา” แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญยิ่งของกาแฟในฐานะแหล่งสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในระบบเศรษฐกิจ

แต่มาวันนี้ “กาแฟป่าในเอธิโอเปีย” (Ethiopia Forest Coffee) ในพื้นที่ราว 400,000 ไร่  เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็นจุดที่ต้องรีบหาแนวตั้งรับเมื่อเผชิญเข้ากับภัยคุกคามครั้งใหญ่ในอนาคต จากสภาพแปรปรวนของอากาศที่เรียกกันว่า “ภาวะโลกร้อน”

Ethiopia Forest Coffee ปฏิบัติการพิทักษ์”กาแฟป่า” ภาพ : Katya Austin on Unsplash

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมมานี้เอง รัฐบาลเอธิโอเปียกับองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม ริเริ่มทำโครงการ “คุ้มครอง” และ “สนับสนุน” ผืนป่าตะวันตกของเอธิโอเปียที่เป็นแหล่งใหญ่ของกาแฟป่าที่เติบโตตามธรรมชาติ ด้วยเป็นหนึ่งในสายพันธุ์พืชที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะโลกร้อน

ย้อนกลับไปในอดีต กาแฟป่าสายพันธุ์อาราบิก้าจากเอธิโอเปียถูกค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 6  จนเริ่มได้รับความนิยมในฐานะตัวกระตุ้นความสดชื่น แก้อาการง่วงเหงาหาวนอน  ทำให้กาแฟป่าถูกเก็บเกี่ยวโดยคนพื้นเมืองแล้วขายให้พ่อค้าชาวอาหรับที่ส่งเมล็ดกาแฟข้ามทะเลแดงไปยัง ท่าเรือมอคค่า ในเยเมนิอีกทอด เพื่อจำหน่ายภายในคาบสมุทรอาระเบีย

กาแฟถูกใช้ในงานพิธีต้อนรับแขกผู้มาเยือนในเอธิโอเปีย ภาพ : commons.wikimedia.org/sameffron

ต่อมา ชาวดัทช์เป็นผู้ลักลอบนำกาแฟซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามออกไปปลูกยังดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลเมื่อปีค.ศ. 1600 จนมีการแยกแยะกาแฟดังกล่าวออกเป็น  2 สายพันหลักๆ  ได้แก่ ทิปปิก้า (Typica) กับ เบอร์บอน (Bourbon) ไม่นานนัก กาแฟ 2 สายพันธุ์นี้ได้แตกลูกแตกหลานเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์อีกจำนวนมาก ผ่านทางการพัฒนาโดยมนุษย์หรือกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ

ตามบันทึกปูมกาแฟระบุไว้ว่า  เส้นทางการค้ากาแฟซึ่งรวมทั้งพืชผักผลไม้ชนิดอื่นๆ จากตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาหรือที่เรียกกันว่า “จะงอยแห่งแอฟริกา” (Horn of Africa) ไปยังเยเมนผ่านทางบับเอลมันเดบ ช่องแคบทางใต้สุดของทะเลแดง  เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 6  ภายใต้การควบคุมดูแลของจักรวรรดิโบราณ “อักซุม” ซึ่งปัจจุบันเมืองหลวงของอาณาจักรเก่าแก่นี้ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของเอธิโอเปียนั่นเอง

เอธิโอเปียเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟเป็นอันดับ 5 ของโลก มีสถานะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดในแอฟริกา มีปริมาณการส่งออกราว 230,000 ตัน ในปีค.ศ. 2018 คิดเป็นมูลค่าราว 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นเงินรายได้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด  และในจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคนนั้น มีอยู่ถึง 15 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในตลาดธุรกิจกาแฟไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กาแฟป่าในเอธิโอเปียเป็นแหล่งรายได้ของคนในพื้นที่ ภาพ : www.technoserve.org

ปัจจุบัน  เอธิโอเปียแบ่งรูปแบบการผลิตกาแฟออกเป็น 3 แบบตามแหล่งผลิต คือ

1.กาแฟป่า (Forest Coffee) เป็นกาแฟที่เติบโตขึ้นเองในป่าธรรมชาติ มีคนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าไปเก็บเอามาขายเช่นเดียวกับผลไม้ป่าอื่นๆ

2.กาแฟสวน (Garden Coffee) เป็นสวนกาแฟขนาดเล็กที่ปลูกควบคู่ไปกับพืชผักอื่นๆ เป็นรูปแบบผลิตส่วนใหญ่ของประเทศ

3.กาแฟไร่ (Plantation Coffee) ปลูกกาแฟกันเป็นไร่ขนาดใหญ่ ทว่ามีจำนวนไม่มากนัก

กาแฟที่ปลูกกันตามสวนกาแฟโดยเกษตรกรรายเล็กๆนั้น มีประมาณ 40 สายพันธุ์ ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้มีความทนทานต่อโรคและให้ผลผลิตสูงโดยศูนย์วิจัยพันธุ์พืชจิมม่า (JARC) ทำให้กาแฟเหล่านี้มีชื่อเรียกกันว่า “สายพันธุ์เจเออาร์ซี” ส่วนกาแฟที่เติบโตตามป่าเอธิโอเปียนั้น  ตามข้อมูลบอกว่ามีมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ทีเดียว แล้วส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีการจำแนกพันธุกรรมของกาแฟอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด

ประมาณการกันว่า ราว 45% ของตัวเลขการผลิตกาแฟทั้งระบบนั้น เป็นส่วนกาแฟที่เก็บเกี่ยวจากในป่าธรรมชาติ

ส่วนโซนปลูกกาแฟนั้นแบ่งออกเป็นหลายโซนด้วยกันตั้งแต่ ซิดาโม (Sidamo), เยอร์กาเชฟ (Yirgacheffe), ลิมู (Limu), จิมมา (Jimma), ฮาร์รา (Harrar), ดีจิมา (Djima), กูจิ (Guji ), เกนนิกา (Genika), คาฟฟา (Kaffa), เบนช์มาจิ (BenchMaji), บาเล (Bale)  ไปจนถึง เลเคมติ (Lekempti)

ภาพแสดงโซนปลูกกาแฟในประเทศเอธิโอเปีย ภาพ : commons.wikimedia.org/wikiElcambur

เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านพันธุกรรมของกาแฟ ทำให้บริษัทต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาซื้อ “กาแฟพิเศษ” (specialty coffee) ในเอธิโอเปีย กำหนดความแตกต่างของกาแฟโดยใช้โซนปลูก, ระดับความสูง และคะแนนคัปปิ้งสกอร์ เป็นสำคัญ ดังนั้น พอไม่รู้ว่าเป็นกาแฟสายพันธุ์ไหน  เลยเหมาเรียกรวมๆเหมือนกันว่า “แฮร์ลูม” (Heirloom) ที่ภาษาอังกฤษ แปลว่า มรดกสืบทอด และมักนำไปใช้เรียกพืชที่เป็นพันธุ์แท้หรือพันธุ์เฉพาะถิ่นจริงๆ

ในฉลากกาแฟจากเอธิโอเปีย เรามักจะเห็นคำว่า แฮร์ลูม คำนี้จึงไม่ได้หมายถึงพันธุ์กาแฟตัวใดตัวหนึ่ง แต่โดยรวมหมายถึงกาแฟพันธุ์ “ดั้งเดิม” ที่พบและปลูกกันในเอธิโอเปีย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหนในจำนวนกว่า 10,000 สายพันธุ์ อาจเป็นกาแฟป่า หรือผสมรวมๆกันมาก็ได้ ขึ้นอยู่กับการจำแนกแยกแยะระหว่างโพรเซส และการให้ข้อมูลรายละเอียดของผู้ปลูกแต่ละรายแต่ละไร่ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า เกษตรกรท้องถิ่นก็มีคำเรียกชนิดของต้นกาแฟในภาษาตนเอง ส่วนใหญ่เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นตามลักษณะทางกายภาพของต้นกาแฟนั้นๆ

อย่าง “กาแฟวูชวูช” (WushWush) ที่เริ่มได้รับความนิยมในตลาดโลก รวมทั้งธุรกิจกาแฟไทยเราก็นำเข้ามาคั่วขายในแบบกาแฟพิเศษ  จัดเป็นกาแฟที่ค่อนข้างหายากและผลผลิตมีจำนวนน้อย ชื่อเรียกก็มาจากโซนหรือสถานที่ที่พบเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกับกาแฟเอธิโอเปียตัวอื่นๆ โดยแหล่งปลูกกาแฟตัวนี้ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย ไม่ไกลจากโซนปลูกจิมมาและซิดาโมเท่าใดนัก

และเช่นเดียวกับสายพันธุ์กาแฟที่มีชื่อเสียงของโลกระดับนางงามจักรวาลอย่าง “เกสชา/เกอิชา” (Geisha) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากเอธิโอเปีย  กาแฟวูชวูช ถูกนำเข้าไปยังอเมริกาใต้ราว 30 ปีก่อนหน้านี้ ปัจจุบันปลูกกันอยู่ในโคลอมเบีย

ผลสุกกาแฟผ่านการคัดเลือกก่อนเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ภาพ : www.technoserve.org

จากกาแฟป่าสู่กาแฟเชิงพาณิชย์ที่ขายกันทั่วโลก แล้วก็เติมมิติด้านการดูแลเอาใจใส่เข้าไปในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนขยับก้าวมาเป็นกาแฟพิเศษในยุคสมัยนี้ แต่แล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้้เอง บรรดาสายพันธุ์กาแฟป่าจากเอธิโอเปียดูเหมือนว่ากลายเป็นสายพันธุ์ที่ถูกจัดสถานะให้มีความเสี่ยงต่อการ “สูญพันธุ์” (endangered species) เป็นครั้งแรกไปเสียแล้ว หลังจากนักวิทยาศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ในกรุงลอนดอน  ได้เผยแพร่ผลงานการวิจัยออกมาในปีค.ศ. 2019

งานวิจัยจาก “สวนคิว” ระบุว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยคุกคามต่อสายพันธุ์กาแฟป่าทั่วโลก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ค่อนข้างสูง โดยสายพันธุ์กาแฟป่าที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้มีประมาณ 60%  เรื่องนี้ส่งผลให้รัฐบาลเอธิโอเปียนิ่งดูดายไม่ได้อีกต่อไป  เนื่องจากกาแฟป่าส่วนใหญ่ก็อยู่ในเอธิโอเปีย แล้วรายได้ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ ก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ นี่ยังไม่นับรวมไปถึงเรื่องการดื่มกาแฟที่กลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไปแล้ว

ขณะที่ เนเจอร์ แพลนท์ส (Nature Plants) วารสารทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ระบุในงานวิจัยว่า “ปริมาณฝน” ที่ตกในช่วงฤดูแล้งของเอธิโอเปียลดลงระหว่าง 15-20% มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ การวัดปริมาณน้ำฝนพบว่า ปริมาณฝนลดลงมากกว่า 40 นิ้วนับจากปีค.ศ. 1950 เป็นต้นมา นั่นหมายความว่า ความแห้งแล้งได้ทวีเพิ่มขึ้นทุกขณะ เอธิโอเปียอาจสูญเสียพื้นที่ปลูกกาแฟระหว่าง 39-59% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ จากผลของภาวะโลกร้อน

ไม่ใช่กระทบเฉพาะต้นกาแฟตามไร่ตามสวนเท่านั้น ปริมาณฝนตกที่น้อยลงซึ่งผันแปรกับความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของสายพันธุ์กาแฟป่าที่เติบโตตามธรรมชาติ เรียกว่า กาแฟเอธิโอเปียถือเป็น “แถวหน้า” ที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เลยทีเดียว

งานวิจัยดังกล่าวได้นำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง “รัฐบาลเอธิโอเปีย” กับ “เทคโนเซิร์ฟ” องค์กรไม่แสงผลกำไรระหว่างประเทศ  จัดทำโครงการระยะ 8 ปี ในชื่อว่า “หุ้นส่วนแห่งป่า” (Partnerships for Forests) เพื่อหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งเติบโตของกาแฟป่าเอธิโอเปีย ช่วยปกป้องผืนป่าจากภาวะโลกร้อนและปัญหาการบุกรุกตัดไม้  มีการระดมทุนผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลอังกฤษเมื่อกลางปีที่แล้ว

เป้าหมายของโครงการนี้ นอกจากจะโฟกัสไปยังการคุ้มครองผืนป่าแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “การตลาดกาแฟป่า” โดยตามแผนนั้น จะมีการนำกาแฟป่าที่เก็บเกี่ยวผลโดยคนท้องถิ่น มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและผลิตตามระบบของกาแฟพิเศษ เพื่อออกจำหน่ายให้กับคอกาแฟในตลาดต่างประเทศด้วย เมื่อได้รับราคาขายกาแฟป่าที่สูงขึ้น ก็เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันรักษาผืนป่าอันเป็นแหล่งรายได้เอาไว้

สำหรับผู้ที่ซื้อกาแฟมาดื่มนั้นจะได้รับประโยชน์ถึง 2 ทางด้วยกัน คือ หนึ่งมีส่วนร่วมในการช่วยพิทักษ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่า และสองได้ดื่มกาแฟคุณภาพดีๆ ด้วย

ภูมิประเทศส่วนหนึ่งของป่ากาแฟในเอธิโอเปีย ภาพ : www.technoserve.org

โครงการนี้ประเดิมงานชิ้นแรกด้วยการจัดทำหนังสือคู่มือหน้า 70 หน้า เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวกาแฟป่าเอธิโอเปียที่กำลังตกอยู่ในภาวะเปราะบางจากสถานการณ์โลกร้อนและปัญหาตัดไม้ทำลายป่า จนเป็นปัจจัยคุกคามวิถีการผลิตกาแฟแบบดั้งเดิมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่  พร้อมกับแสดงแผนที่โซนปลูกกาแฟไว้อย่างละเอียดทีเดียว   สามารถคลิกเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.technoserve.org

เทคโนเซิร์ฟ เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ที่ให้ความสนใจกระโดดเข้าร่วมอนุรักษ์กาแฟแห่งผืนป่าเอธิโอเปีย แล้วสรุปสถานการณ์ สะท้อนภาพปัญหา และจัดทำโครงการช่วยเหลือออกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก เพราะปัจจัยลบจากภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาใหญ่เพียงเรื่องเดียวของกาแฟป่าเอธิโอเปียเท่านั้น ยังมีจากปัญหาตัดไม้ทำลายป่าซึ่งมีผลคุกคามต่อทั้งผืนป่า กาแฟป่า และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในนั้นด้วย

เอธิโอเปีย เป็นชาติเดียวในโลกที่มีต้นกาแฟป่าเติบโตในไพรกว้าง ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นบริเวณที่ติดต่อกับเขตแดนประเทศซูดานใต้  เป็นป่าธรรมชาติซึ่งชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์จากการเดินเข้าป่าไปเก็บผลเชอรี่สุกสีแดงของกาแฟมาขาย ในลักษณะที่เรียกเข้าไป “เก็บของป่า” โดยไม่ต้องลงแรงทำไร่กาแฟแต่ประการใด

ในจำนวนป่ากาแฟ 400,000 ไร่นั้น มีบางส่วนยังคงเป็นป่ารุ่นเก่าที่ยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้ได้ เช่นที่ คาฟฟา (Kaffa), เชก้า (Sheka) และเบเลเต้-เกรา (Belete-Gera) นอกจากป่าจะมีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในปริมาณสูง และเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาพันธุกรรมของกาแฟอาราบิก้าดั้งเดิมอีกด้วย โดยเฉพาะในป่าของโซนคาฟฟาเพียงโซนอย่างเดียว มีกาแฟป่ามากกว่า 5,000 สายพันธุ์เข้าไปแล้ว

จะว่าไปแล้ว ป่ากาแฟในโซนคาฟฟา ห่างจากอาดดิสอาบาบา เมืองหลวงของประเทศ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 300 ไมล์นั้น ก็ถือว่ามีความสำคัญมากในระดับที่ต้องใช้คำว่า “หัวใจ” ของกาแฟเอธิโอเปียเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นจุดที่มีการ “ค้นพบ” กาแฟป่าเป็น “แห่งแรก” ของโลก หรืออีกนัยหนึ่ง นี่คือสถานที่ “นับหนึ่ง”ของเครื่องดื่มที่ต่อมาได้รับความนิยมสูงสุดไปทั่วโลก ก็คงไม่ผิดจากนี้นัก

ที่ผ่านมา สาเหตุหลักของการบุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศในเอธิโอเปีย มาจากการขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรมและความต้องการไม้เพื่อทำเชื้อเพลิง ส่งผลให้พื้นที่ป่าธรรมชาติของประเทศรวมไปถึงป่ากาแฟ ลดลงไปถึง 1 ใน 3 อย่างไรก็ตาม ป่ากาแฟที่หลงเหลืออยู่ยังคงมีชาวบ้านเข้าไปเก็บผลกาแฟสุก แล้วขายให้คนซื้อในราคาที่ต่ำมาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว กาแฟจากป่าเอธิโอเปียแม้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็ล้วนแต่มีคุณภาพสูง เป็นที่ปรารถนาของตลาดกาแฟพิเศษทั่วโลกเป็นยิ่งนัก

กาแฟเอธิโอเปีย มีชื่อเสียงโด่งดังมากในตลาดกาแฟพิเศษ ภาพ : Michael Burrows from Pexels

กาแฟจากเอธิโอเปียมีชื่อเสียงมากในเรื่องกลิ่นรสโทน “ผลไม้&ดอกไม้” เมื่อดื่มแล้วรับรู้ได้ถึงความหอมเหมือนกลิ่นดอกไม้แห้ง รสชาติออกแนวหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ให้ความสดชื่นและกระชุ่มกระชวย  ผู้เขียนเมื่อลองดื่มแล้ว ก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ  จึงเป็นที่ต้องการของคอกาแฟเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่  คาเฟ่แนวกาแฟพิเศษทุกร้านทั่วโลกหนีไม่พ้นที่จะต้องมีกาแฟจากเอธิโอเปียอย่างน้อยหนึ่งตัว มาประดับเป็นเมนูหลักสำหรับเรียกลูกค้าเข้าร้าน

บรรดาผู้ทำโครงการอนุรักษ์กาแฟป่าเอธิโอเปียเองก็ตั้งความหวังเอาไว้ว่า เมื่อชาวบ้านได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการเก็บผลสุกกาแฟป่ามาขาย จะเป็นแรงดึงดูดใจให้ช่วยกันปกป้องผืนป่าและกาแฟป่าที่หลงเหลืออยู่

กาแฟเอธิโอเปียมีต้นกำเนิดจากป่า เป็นต้นทางของกาแฟที่ปลูกกันเป็นไร่อย่างในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อ…จนถึงวันนี้ ก็ยังมีต้นกาแฟป่าหลงเหลืออยู่ที่นั่นตรงที่มันเกิดแรกๆ ยืนต้นแผ่กิ่งก้าน ออกดอกออกผล ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ในผืนป่าที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และเต็มไปด้วยทรัพยากรอันทรงคุณค่า  เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงครอบครัวชาวพื้นเมืองนับพันๆครอบครัว นี่ยังไม่นับรวมไปถึงความสำคัญในฐานะที่เป็นเสมือนธนาคารเก็บรวบรวมพันธุกรรมของสายพันธุ์กาแฟดั้งเดิม

….จึงควรค่าแก่การสงวนรักษาเอาไว้ให้เป็นสมบัติแห่งมวลมนุษยชาติเพื่อศึกษาและใช้ประโยชน์สืบต่อไปในอนาคต


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น