เปิดแผนพัฒนาเทคโนโลยี&ยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ใหม่ “มาสด้า” Sustainable Zoom-Zoom 2030 สู่ยุค BEV

ธีร์  เพิ่มพงศ์พันธ์

สัมภาษณ์คุณธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

นงค์นาถ : “มาสด้า มอเตอร์ คอปอร์เรชั่น ประเทศญี่ปุ่น” ประกาศแผนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และมีการแถลงเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แผนนี้มีรายละเอียด และมีความสำคัญกับ “มาสด้า ประเทศไทย” อย่างไรบ้าง

คุณธีร์  : เมื่อเร็วๆนี้ เราได้มีการปรับกลยุทธ์ในแผนระยะยาว ทาง “มาสด้า” ใช้ “Sustainable Zoom-Zoom 2030” เป็นแผนที่เราทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยมีส่วนประกอบที่เราให้ความสำคัญหลักๆ 3 เรื่อง คือ 1.ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโลกใบนี้ หรือว่า การริเริ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคม สร้างโลกที่ไร้มลพิษ

2.เรื่องการทำเพื่อสังคม การสร้างยนตรกรรมหรือการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาเพื่อให้เกิดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกค้า

3.การพัฒนาเพื่อผู้คน โดยเรามุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ได้มีส่วนร่วมกับสังคม และการปกป้องรักษาโลกให้อยู่กับเราไปอย่างยั่งยืน จริงๆ แล้ว “Sustainable Zoom-Zoom” เป็นหัวใจของการที่เราจะวางกลยุทธ์ทั้งในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เรื่องการทำเพื่อสังคมเพื่อผู้คนก็จะเป็นแกนหลักที่ “มาสด้า” จะมุ่งเน้น

ดร.นงค์นาถ : ในแผนนี้เกี่ยวกับเรื่องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2050 ด้วยใช่ไหม

คุณธีร์  : ใช่ ขออธิบายให้เห็นภาพกว้างๆ ของแผนนี้ คือ เราทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะต้องให้ความสำคัญในการที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเรือนกระจกโดยตรงคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  “มาสด้า” เองในแผนงานเราก็ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือพ.ศ.2593 หรือเรียกว่า “Carbon neutrality” คือ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์

โดยในแผนการนี้แบ่งเป็น 3-4 เรื่องหลักๆ เพื่อที่จะให้เราบรรลุเป้าหมายการที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ เรื่องที่ 1 คือ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ภายใต้รูปแบบที่เราใช้ชื่อว่า กลยุทธ์แบบ Building Block ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดทั้งในเรื่องของเครื่องยนต์ที่ให้ประสิทธิภาพสูง และนำมาต่อยอดเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาขับเคลื่อน และหลังจากนั้นก็จะกลายเป็น Block สุดท้ายก็คือ Block ของการใช้แบตเตอรี่หรือมอเตอร์ไฟฟ้า 100% เพื่อที่จะขับเคลื่อนรถยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เราเรียกว่า “Battery Electric Vehicle” (BEV) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ นี่คือ ศูนย์ที่หนึ่ง

ส่วนศูนย์ที่ 2 เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Multi solution ซึ่ง Multi solution นี้เป็นทางเลือกในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์ ICE หรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า 100% ก็จะเป็นทางเลือกของ Multi solution ที่จะให้ลูกค้าสามารถที่จะเลือกใช้ตามความต้องการ ความเหมาะสมของการใช้งานของรถในแต่ละประเภท

โดยที่ Multi solution ของเรามีให้เลือกทั้งในรูปแบบของรถ Hybrid รถ Plug-in Hybrid และรถแบตเตอรี่ ED ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกเองเพื่อที่จะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในแผนภายในปี 2025 “มาสด้า” จะนำเสนอรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 13 รุ่นด้วยกัน อันนี้เป็นแผนในส่วนผลิตภัณฑ์

ดร.นงค์นาถ : การเตรียมความพร้อมสำหรับยุครถไฟฟ้าหรือ EV ที่เต็มรูปแบบในประเทศไทยต้องเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐด้วย ถ้าโฟกัสที่ประเทศไทยแผนการเป็นอย่างไร ในการที่คนไทยจะได้ยลโฉมรถ BEV, Plug-in Hybrid และ Hybrid ของ “มาสด้า”

คุณธีร์  : นี่เป็นสิ่งที่ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐต้องไปด้วยกัน เราอาจจะต้องมองในเรื่อง Demand ของการใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและความเหมาะสมของสภาพการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันเราทราบดีว่าทางภาครัฐมีนโยบายเพื่อที่จะเร่งส่งเสริมรถพลังงานไฟฟ้าซึ่งในเนื้อหาโครงการสนับสนุนเอง จะมีเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเพื่อที่จะสนับสนุนให้เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้มากขึ้น ส่งเสริมให้มีจุดชาร์จไฟหรือ Charging station ให้มีมากขึ้นในอนาคต ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามรับนโยบาย

ขณะเดียวกันก็ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พยายามที่จะผลักดันแผนกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของเราให้สอดคล้องกับแผนของภาครัฐเพื่อที่จะให้เกิดผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด ก็พยายามที่จะสนับสนุนและรับเอานโยบายมาปฏิบัติ

ดร.นงค์นาถ : ในปี 2022 ปีหน้านี้ เราจะได้เห็นรถรุ่นใหม่ๆ ของมาสด้าที่เป็นไปตามแผนที่ “มาสด้า มอเตอร์ คอปอร์เรชั่น ประเทศญี่ปุ่น” ประกาศไว้อย่างไรบ้าง

คุณธีร์  : แผนที่เราวางไว้ใน Global plan ที่จะนำรถเข้านี้เป็นแผนการของ “มาสด้า” ทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงทวีปหลัก และในอาเซียน ประเทศไทย โดยเราจะมีรถ Hybrid 5รุ่นและ Plug-in Hybrid 5รุ่น และรถBattery EV หรือ BEV 3 รุ่น เริ่มตั้งแต่ปี 2022-2025 ประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าเราจะมีรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด13 รุ่น

ดร.นงค์นาถ : รถยนต์ที่กล่าวถึงนี้มาจากฐานผลิตในบ้านเราหรือยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

คุณธีร์  : ตรงนี้เป็นการผลิตจากบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของการผลิตในประเทศยังไม่ได้ยืนยันเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังตอบรับนโยบายของทางภาครัฐเอง ซึ่งในการส่งเสริมผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ทาง “มาสด้า” เองก็อยู่ในโครงการที่เราเตรียมจะลงทุนอยู่แล้ว ในแง่ของ Timing ที่เราจะเริ่มผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยก็อยู่ในแผนแต่อาจจะต้องรอยืนยันในเรื่องของ Timing อีกครั้งหนึ่ง แต่ว่ารถ 13 รุ่นนี้ ที่จะนำเสนอภายใน 3 ปีข้างหน้านี้เป็นรถที่จะนำเข้ามาด้วยและผลิตในประเทศด้วยโดยภาพรวมทั้งหมด

ดร.นงค์นาถ : สังคมบ้านเรามีอุบัติเหตุทางถนนเรียกได้ว่าติดอันดับโลก เห็นว่าทาง “มาสด้า” มีแผนที่เตรียมออกรถใหม่ๆ ที่จะสร้างสังคมไร้อุบัติเหตุด้วย ช่วยอธิบายคอนเซ็ปต์นี้

คุณธีร์  : ส่วนหนึ่งภายใต้แผนงาน “Sustainable Zoom-Zoom 2030” ที่เพิ่งได้ประกาศไป คือ การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเชิงป้องกันหรือเรียกว่า “Mazda Proactive Safety” เรามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสังคมที่ไร้อุบัติเหตุ ในส่วนของการพัฒนา “Mazda Proactive Safety” หรือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยนี้ เรามีการวางเทคโนโลยีดังกล่าวไว้ และจะเข้ามาเริ่มต้นในปี 2022

โดยใช้ชื่อว่า “Mazda Co-pilot Concept” ซึ่งเป็นชื่อเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเชิงป้องกันของ “มาสด้า” ซึ่งเราพยายามที่จะนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อที่จะมาตรวจจับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ และระบบสามารถเข้ามาช่วยเมื่อผู้ขับขี่เพลี่ยงพล้ำหรือว่าไม่สามารถบังคับรถในสถานการณ์ที่ถูกต้องได้ ระบบจะช่วยควบคุมและนำรถเข้าจอดอย่างปลอดภัยเป็น step by step  

โดย “Mazda Co-pilot” นี้จะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป จนถึงปี 2025 และหลังจากปี 2025 ไปจะเป็นการอัพเกรดไปเรื่อยๆ เป็น “Mazda Co-pilot” เวอร์ชั่นต่อจากนั้นเพื่อที่จะพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือ หรือ autonomous driving level ซึ่งก็คือ การขับขี่กึ่งอัตโนมัติ และรูปแบบอัตโนมัติ เพื่อที่จะช่วยผู้ขับขี่ลดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด

ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้สภาอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์อาจมีการปรับเป้าเพิ่มสำหรับการผลิตรถยนต์ในปีนี้ แสดงว่าตลาดเริ่มฟื้นแล้ว?

คุณธีร์  : ทาง “มาสด้า” เองพยายามที่จะประเมินสถานการณ์ และประเมินการณ์ว่าครึ่งปีหลังจากนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาของการฟื้นตัว แต่ว่าอาจจะไม่ได้กลับมาฟื้นตัวได้ 100% ยังมีบางอย่างที่เราจะต้องจับตาดู แต่ว่าถ้าพูดถึงในแง่ของตัวเลขอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ตัวเลขคร่าวๆ ในครึ่งปีแรกยอดขายในประเทศประมาณ 370,000 คัน โดยตัวเลขของ “มาสด้า” ประมาณ 20,000 คัน แน่นอนว่ามีผลกระทบจากโควิดโดยตรงจาก  wave ที่ 3 เรามองว่าในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นและน่าจะทำให้ตัวเลขทั้งปีรวมอยู่ที่ประมาณ 800,000 คัน ในส่วนของ “มาสด้า” เองเราตั้งเป้าว่าจะโตประมาณ 30% ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องปิดยอดขายให้ได้ ประมาณ 50,000 คันในปีนี้

ดร.นงค์นาถ : มีกลยุทธ์ และโปรโมชั่น อะไรบ้าง ที่จะดึงดูดผู้บริโภค ในช่วงครึ่งปีหลัง

คุณธีร์  : เรื่องของออนไลน์ ตอนนี้ออนไลน์ก็มีผลค่อนข้างเยอะและเป็นผลของความปลอดภัยของลูกค้าโดยตรง เราสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลในทุกเรื่องผ่านทางออนไลน์ รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ตัวสินค้า ข้อมูลการเงินในหลายๆ ด้าน ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ในขณะเดียวกันเรื่องแคมเปญต่างๆ เราก็พยายามที่จะหยิบยื่นให้กับลูกค้าเพื่อให้เป็นเจ้าของรถได้ง่าย และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีแล้วหรือยัง

ในส่วนของ “มาสด้า” เอง โปรไฟล์ลูกค้าค่อนข้างดี เราพยายามที่จะนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และปัจจัยสำคัญที่เราโชคดีก็คือ การอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งตลาดรถบ้านเราส่วนใหญ่จะซื้อรถด้วยการผ่อนสินเชื่อผ่านไฟแนนซ์ เรามีจุดแข็งตรงนี้ ที่ว่าโปรไฟล์ลูกค้าเราค่อนข้างแข็งแรง มีกำลังซื้อ น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่เราค่อนข้างได้เปรียบในตลาด ครึ่งปีหลังเรามองว่าความมั่นใจ ในเรื่องต่างๆ น่าจะดีขึ้น น่าจะส่งเสริมให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถได้ง่ายขึ้น


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น