Hario ลุยศึกตลาดโลก เปิดตัวดริปเปอร์เจนใหม่ “W60”

แล้วก็มาถึงวันที่ ฮาริโอะ (Hario) แบรนด์กาแฟดริปเจ้าใหญ่แห่งญี่ปุ่น จำเป็นต้องปล่อยผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกมาต่อสู้ศึกตลาดกาแฟดริปโลก

เนื่องจากคู่แข่งทางธุรกิจหลายเจ้าเริ่มไล่กวดขึ้นมาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างกระชั้นชิด  หลังจากที่ดริปเปอร์ไอคอน V60″ ครองเจ้าตลาดมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ชื่อเสียงเลื่องลือระเบือไกลในวงการกาแฟดริประดับโลก เป็นอุปกรณ์มีคลาสยอดนิยมที่บาริสต้านำไปใช้ร่วมชิงชัยในการประกวด “ดริปกาแฟ” หลายเวที จนคว้าแชมป์โลกกันไปก็หลายคน

สดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนเมษายนมานี้เอง ในโอกาสครบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งบริษัท ฮาริโอะได้เปิดตัวดริปเปอร์เซรามิคโฉมใหม่ล่าสุดของบริษัทขึ้นมาชื่อว่า W60″ โดยทำงานด้านการออกแบบร่วมกับ “ปีเต้ ลิคาต้า” (Pete Licata) แชมป์โลกบาริสต้าประจำปี 2013 (World Barista Champion) ซึ่งนำทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูงในฐานะแชมป์โลกบาริสต้า สร้างเป็นวิธีดริปกาแฟแบบใหม่ที่ใช้ร่วมกับดริปเปอร์เซรามิคสีขาว  “W60″  เพื่อสร้างรสชาติกาแฟดริปถ้วยโปรดของคุณให้ออกมา “สมบูรณ์” และ “ลึกซึ้ง” ที่สุด

Hario ลุยศึกตลาดโลก เปิดตัวดริปเปอร์เจนใหม่ “W60” Photo : global.hario.com/

ว่ากันว่า ตามหลักแล้ว จะทำความเข้าใจกับอุปกรณ์อะไรก็ตามให้ถ่องแท้นั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการออกแบบและวิธีการใช้งานเสียก่อนเป็นอันดับแรก

ดริปเปอร์ “Hario W60” ตัวใหม่  ออกแบบมาให้อยู่ในรูปทรงกรวย แต่มีส่วนเว้าส่วนโค้งที่ดูกลมกลืน ปากกว้างแล้วคอดลงตรงก้นเป็น “รูปตัว S” ซึ่งต่างไปจากเดิมที่เป็นทรงตัว V เหมือนตั้งใจใส่ความเป็นศิลปะลงไปบนชิ้นงานมากขึ้น  ด้านในดริปเปอร์ยังคงเป็นร่องเกลียวทำหน้าที่ควบคุมการไหลของน้ำ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ที่ฮาริโอะนำไปจดทะเบียนเอาไว้ มีขนาดใหญ่กว่าทรง V60 เล็กน้อย

ดริปเปอร์ทรงกรวย V60 อันโด่งดังของฮาริโอะ ภาพ : Goran Ivos on Unsplash

ทว่าไฮไลท์นั้นอยู่ตรงที่สามารถใช้ดริปกาแฟได้ถึง 3 รูปแบบนั่นเอง คือ

  1. ใช้ W60 ร่วมกับกระดาษกรอง เช่นเดียวกับรุ่น V60
  2. ใช้ W60 ร่วมกับฟิลเตอร์ตัวกรองที่เป็นตาข่ายก้นแบนทำจากพลาสติกเรซิ่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษกรอง
  3. ใช้ W60 ร่วมกับทั้งกระดาษกรองและฟิลเตอร์ตาข่ายก้นแบน
วิธีดริปกาแฟ 3 รูปแบบที่ใช้ร่วมกับดริปเปอร์ W60 ภาพ : global.hario.com/

ดูเหมือนว่า Hario W60 จะพุ่งเน้นไปที่ทฤษฎีการดริปในรูปแบบที่ 3 ซึ่งมีฟิลเตอร์กรองถึง 2 ชั้น (double filtration system) โดยบอกถึงจุดเด่นว่า  กาแฟจะถูกสกัดออกมาได้สม่ำเสมอ และให้รสชาติชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัว ผู้เชียนเองค่อนข้างสงสัยว่า เหตุไฉนค่ายฮาริโอะ จึงตั้งชื่อดริปเปอร์รุ่นใหม่ว่า W60 … เป็นไปได้หรือไม่ว่า อักษรตัว W มาจากตัว V ซ้อนกัน 2 ตัว หมายถึง ดริปเปอร์ที่มีระบบฟิลเตอร์ตัวกรองถึง 2 ชั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม  ข้อดีของการมีฟิลเตอร์ตาข่ายก้นแบนสำหรับดริปกาแฟนั้น มาจากสาเหตุที่ว่ากาแฟคั่วอ่อนสามารถดูดซับน้ำได้ดีกว่ากาแฟคั่วเข้ม ดังนั้นจึงจมลงสู่ก้นได้ง่ายกว่า ดังนั้น หากมีตัวกรองที่ด้านล่างแบน  จะช่วยปรับให้ผงกาแฟคั่วบดเคลื่อนไหวอย่าง“สมดุล”มากขึ้นแม้จะเป็นกาแฟคั่วอ่อนก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือ น้ำร้อนจะสัมผัสกับทุกส่วนของผงกาแฟ ทำให้การสกัดกาแฟเป็นไปอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ระบบฟิลเตอร์กรอง 2 ชั้น ของดริปเปอร์ W60 ภาพ : global.hario.com/

ขณะเดียวกัน  การใช้กระดาษเป็นตัวกรองชั้นที่ 2 ก็จะช่วยกรองผงกาแฟที่เล็ดลอดออกมา และช่วยขจัดคราบน้ำมันกาแฟได้อีกด้วย

ปีเต้ ลิคาต้า พูดถึง “จุดสำคัญที่สุด” ของดริปเปอร์เจนใหม่ W60 ของฮาริโอะว่า   คือการใช้งานร่วมฟิลเตอร์ที่เป็นตาข่ายกรองก้นแบน  หากว่าเราต้องการผลิตอุปกรณ์ที่ถือว่าใหม่และสร้างสรรค์  ก็จะต้องมีตัวกรองที่ก้นแบนเรียบเสมอกันดีๆสักตัวหนึ่ง  จึงนำไปสู่การผลิตตัวกรองแบบใช้ซ้ำได้ ให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการคู่กับดริปเปอร์

สำหรับ “ระดับการบดกาแฟ” และ “ระยะเวลาในการจบ” ของ W60 แชมป์โลกบาริสต้าชาวอเมริกัน บอกว่า ขอให้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการดริป  เช่น กรณีใช้ดริปเปอร์คู่กับกระดาษกรองเพียงอย่างเดียว ก็บดกาแฟในระดับปานกลาง (filter grind) ความละเอียดประมาณเม็ดทราย เช่นเดียวที่ใช้กับดริปเปอร์ V60  แต่ถ้าใช้ร่วมกับฟิลเตอร์ตัวกรองก้นแบน ก็ใช้ปรับระดับการบดให้ละเอียดขึ้นเล็กน้อย

ส่วนระยะเวลาการจบนั้น ควรจบการเทน้ำให้เสร็จภายในระหว่างนาทีที่ 2.30 กรณีใช้กระดาษกรองเพียงอย่างเดียว ,3.30 กรณีใช้ฟิลเตอร์ก้นแบนเพียงอย่างเดียว และ 4.00 กรณีใช้ฟิลเตอร์ก้นแบนร่วมกับกระดาษกรอง

แชมป์โลกบาริสต้าปี 2013 ผู้ซึ่งมีถิ่นเกิดอยู่ในเมืองแคนซัส ซิอตี้ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งหนึ่งว่า  “ยิ่งรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้ว่าเรายังไม่รู้อะไรเลยมากเท่านั้น”    ปัจจุบัน ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้กับกลุ่มบริษัทกาแฟที่ชื่อ โนแมด  ค๊อฟฟี่ กรุ๊ป ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงคั่วกาแฟ เวเนเซียโน ค๊อฟฟี่ กรุ๊ป อีกด้วย

บริษัทฮาริโอะนั้น จัดเป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กาแฟชื่อดังจากญี่ปุ่น มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีในวงการ ใครที่เกี่ยวข้องกับกาแฟดริป (Drip / Pour-over coffee) ไม่ว่าด้านหนึ่งด้านใดต้องต้องรู้จักแบรนด์นี้กันทั้งนั้น  ว่ากันตามจริงถ้าจะพูดว่า ตอนนี้ฮาริโอะยังเป็นหมายเลข 1 ของโลกในด้านอุปกรณ์ชงกาแฟดริปและกาแฟสกัดเย็นก็คงไม่ผิดนัก แล้วดริปเปอร์ทรงกรวยรูปตัว V ทำมุม 60 องศา หรือรุ่น V60 ก็เป็นดริปเปอร์สุดคลาสสิคระดับ “ไอคอน” ของวงการทีเดียว

คาเฟ่หรือร้านกาแฟสายสโลว์บาร์ทุกหัวระแหง บาริสต้าน้อยใหญ่มากหน้าหลายตา  หรือคอกาแฟสายดริปที่นิยมชงกาแฟดื่มเองที่บ้านและออฟฟิศ ส่วนใหญ่ล้วนมีดริปเปอร์และชุดอุปกรณ์ชงกาแฟแบรนด์ฮาริโอะประจำการอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

ผู้ชื่นชอบในรสชาติกาแฟดริปอย่างตัวผู้เขียน ดริปเปอร์ตัวแรกที่ใช้เมื่้อหลายปีก่อนซึ่งทำจากเซรามิคสีขาว ก็เป็นของแบรนด์ดังบรนด์นี้นั่นเอง

ย้อนกลับไปราว 10 ปีก่อนหน้า ขณะที่การชงกาแฟแบบ “ดริปด้วยมือ” (hand drip) เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงและขยายเทรนด์ความร้อนแรงออกไปทั่วโลกในช่วงปีค.ศ. 2010 พร้อมกับการถือกำเนิดเกิดขึ้นของตลาดกาแฟพิเศษ ขณะนั้นดริปเปอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการชงกาแฟสไตล์นี้มีตัวเลือกน้อยมาก ต่างไปจากยุคสมัยนี้ที่มีทางเลือกนับสิบๆราย  มีให้ซื้อให้ใช้กันจากหลายค่ายในหลากรูปทรงและวัสดุที่ใช้ผลิต รวมไปถึงในทุกระดับราคา  เช่น  Kalita Wave, Bee House, Melitta ,OXO Brew,Bodum,Chemex ,Clever ,Brewista,KINTO ,Origami ,Lili ,Timemore ฯลฯ

แบรนด์หลักๆ ที่นิยมใช้กันมากในยุคแรกเริ่มของกระแสกาแฟดริปบูม  ก็เห็นจะเป็น Hario V60″  นี่แหละ เนื่องจากสนนราคาไม่สูงนัก ผลิตจากวัสดุคุณภาพสูง  และรูปลักษณ์ดีไซน์ก็ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์เสริมเข้าด้วยกัน ช่วยสร้างกลิ่นและรสชาติกาแฟในแบบที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม

Kalita Wave คู่แข่งสำคัญของ Hario V60

การออกแบบเป็นรูปตัว  V ทำมุม 60 องศา ซึ่งเป็นทรงที่ช่วยให้น้ำกาแฟไหลผ่านได้สะดวก รูขนาดใหญ่ตรงกลางช่วยลดการอุดตันของผงกาแฟที่จะขยายตัวเมื่อสัมผัสน้ำร้อน  ด้านในตัวดริปเปอร์ออกแบบเป็นร่องแบบเกลียวโค้ง เพื่อให้น้ำกาแฟสามารถไหลออกด้านข้างของดริปเปอร์ในอัตราที่เหมาะสม ช่วยทำให้การสกัดมีความสม่ำเสมอมากขึ้น

ดริปเปอร์ที่ออกแบบด้านในเป็นร่องแบบเกลียวโค้งนั้น เรียกกันตามภาษาของคนในวงการว่า “มีครีบ” อยู่ภายในโดยรอบ ไม่ใช่ออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่ผ่านการทดสอบทดลองแล้วว่า มีผลต่อการไหลเวียนของอากาศที่เข้าไป  และช่วยให้น้ำร้อนแทรกไปตามกาแฟบดได้มากที่สุด แก้ปัญหากรณีแผ่นกรองกระดาษแนบติดกับดริปเปอร์ จนปิดทางไหลออกของน้ำ ทำให้กาแฟลอยตัวนานเกินไป มีผลต่อรสชาติในที่สุด

ฮาริโอะ มีประวัติการก่อตั้งบริษัทย้อนหลังไปถึงปีค.ศ. 1921 หรือ 100 ปีมาแล้ว ตอนแรกใช้ชื่อบริษัทว่า “ฮิโรมุ ชิบาตะ เวิร์คส์” ทำธุรกิจผลิตเครื่องแก้วและกระจกกันความร้อนที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ  มีโรงงานอยู่ในจังหวัดอิบารากิ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว ปัจจุบันกลายเป็นโรงงานผลิตกระจกกันความร้อนเพียงแห่งเดียวของญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ISO 9001 และ ISO 14001

ต่อมา ในปีค.ศ. 1957 สายการผลิตได้พัฒนาและแตกไลน์ออกไปสู่ธุรกิจอุปกรณ์ครัวเรือน เริ่มเข้าสู่ตลาด“อุปกรณ์ชงกาแฟ”เป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1964 ด้วยการผลิตเครื่องชงกาแฟแบบ “ไซฟ่อน” ขึ้นมา ตั้งเป้าจับตลาดคอกาแฟประเภทครัวเรือนเป็นหลัก  ก่อนตั้งหน่วยงานย่อยขึ้นมาชื่อว่า Hario Co.” เพื่อแยกไปผลิตเครื่องแก้วสำหรับใช้ในครัวเรือนเป็นการเฉพาะ

จวบจนปัจจุบัน ฮาริโอะ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องครัว, อุปกรณ์ชงชา-กาแฟ และเครื่องแก้วหลากหลายประเภท ไปจนถึงภาชนะใส่อาหารสัตว์เลี้ยง

Hario คำนี้นั้น แปลความหมายก็ King of Glass” หรือ “ราชันย์แห่งแก้ว” นั่นเอง

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับฮาริโอะนั้น คงไม่พ้นไปจากดริปเปอร์ V60…. ตามประวัตินั้น  ด้วยความช่วยเหลือจากชายหนุ่มชื่อ “สึรุโอกะ ซัน” (Tsuruoka San) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาดริปเปอร์แก้วทรงกรวย “ตัวต้นแบบ” ขึ้นมา  จากนั้นฮาริโอะเริ่มผลิตออกจำหน่ายในปีค.ศ.1980 ผ่านการรีดีไซน์อีกหลายครั้ง

จนในปีค.ศ. 2004 หรืออีก 24 ปีต่อมา ได้มีการออกแบบใหม่อีก  คราวนี้เพิ่มร่องแบบเกลียวเข้าไปในภายในดริปเปอร์ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำ จนกระทั่งได้รับความนิยมสูงตามร้านกาแฟในประเทศ สร้างเป็นทฤษฏีใหม่ในการดริปกาแฟขึ้นมาที่ง่ายและได้ผลดีกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในญี่ปุ่นตอนนั้นซึ่งเรียกกันว่า nel drip”  หรือการใช้ถุงผ้าเป็นดริปเปอร์  โดย nel มาจาก flannel แปลว่าผ้าสักหลาด

ดริปเปอร์ V60 ซึ่งผลิตจากเซรามิคเนื้อดีจากย่าน“อาริตะ ยากิ” แหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาชั้นนำของญี่ปุ่น ข้ามน้ำข้ามทะเลไปโด่งดังในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ก็ในซีแอตเติ้ล ซึ่งถือเป็นเมืองต้นกำเนิดวัฒนธรรมกาแฟยุคใหม่ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว  จากนั้นก็กลายเป็นดริปเปอร์ยอดนิยมที่บาริสต้าส่วนใหญ่นำไปใช้ร่วมการแข่งขันรายการชิงแชป์การชงกาแฟระดับโลก

ปีค.ศ. 2019 ฮาริโฮะก็เปิดตัวดริปเปอร์โลหะขึ้นมา ผลิตจากสเตนเลสอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษกรอง เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และต้องการปริมาณขยะลง

แม้รุ่น V60 เป็นตระกูลดริปเปอร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลิตออกมาทั้งวัสดุที่ทำจากเซรามิค แก้ว พลาสติก และโลหะ จนแทบจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของร้านกาแฟแบบพิเศษไปแล้ว ทว่าในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้เอง ฮาริโอะเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดดริปเปอร์บางส่วนให้กับ 2 คู่แข่งในวงการที่กำลังแรงขึ้นมาอย่าง “คาลิตะ เวฟ” (Kalita Wave) ดริปเปอร์ทรงก้นแบน และ “โอริกามิ” (Origami)  ดริปเปอร์มากสีสันที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่น

ดริปเปอร์โอริกามิ ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะการพับกระดาษ ภาพ : instagram.com/origami_cup

คาลิตะ เวฟ  และโอริกามิ ต่างมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การออกแบบรูปทรงและการเลือกสรรวัสดุที่มีคุณภาพมาใช้ จนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นกลายเป็นดริปเปอร์ประจำการตามร้านกาแฟยุคใหม่จำนวนหนึ่งไปแล้ว ในบ้านเราก็เห็นมีโรงคั่วหลายเจ้าที่มีดริปเปอร์ คาลิตะ เวฟ กับโอริกามิ   มาใช้ดริปกาแฟแบบพิเศษเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้า

เพราะสายน้ำมิอาจหยุดไหล… แน่นอนว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเป็นเยี่ยงนี้เสียแล้ว ผู้นำตลาดอย่างฮาริโอะคงอยู่นิ่งเฉยต่อไปอีกไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญยิ่งที่นำไปสู่การเปิดตัวดริปเปอร์โฉมใหม่ล่าสุดของค่ายอย่าง Hario W60″  ถือเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ของดริปเปอร์ที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากรุ่นคลาสสิค V60”

ปีเต้ ลิคาต้า แชมป์โลกบาริสต้าปี 2013 กับดริปเปอร์ W60 ภาพ : hario.com

ดริปเปอร์รุ่นใหม่ W60 ของค่ายฮาริโอะ ยังผลิตออกมาในจำนวนจำกัด ประเดิมวางจำหน่ายบนเว็บอย่างเป็นทางการของบริษัททั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นจุดๆแรก ในสนนราคา 32-44 ดอลลาร์สหรัฐ   สามารถเข้าไปรับชมวิธีการใช้ได้ทางช่องยูทูบของฮาริโฮะชื่อ HARIO Official Channel กันได้ โดยมีแชมป์โลก ปีเต้  ลิคาต้า เป็นผู้ดริปกาแฟให้ดูกันนั่นเอง


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *