“ไทย” ต้องเตรียมรับมือนโยบาย “โจ ไบเดน” อย่างไร?

ตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อ  “โจ ไบเดน” ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ไทยเราจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือนโยบายของ โจ ไบเดน อย่างไรบ้าง

ทั้งนโยบายด้านการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  นโยบายการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน และความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์

อาชนัน เกาะไพบูลย์

เกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้  รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์  ผู้อำนวยการ The international competitiveness research cluster หรือ กลุ่มคลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แสดงทัศนะ ถึงนโยบายของ โจ ไบเดน ด้านแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ว่า เป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะตอนนี้วัคซีนเริ่ม ออกมาให้บริการแล้ว จะทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดผ่อนคลายลง และถ้าเอาชนะได้เร็วก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น

เพราะขณะนี้สหรัฐอเมริกาได้เริ่มทำตามแผนของฝ่ายสาธารณสุขและทีมแพทย์อเมริกันแนะนำ พร้อมสร้างความร่วมมือกับนานาชาติโดยผ่านองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็จะสามารถจัดการกับไวรัสได้ดีขึ้น คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกก็จะกลับมาเป็นปกติเร็วขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อประเทศไทยและประชาคมโลกด้วย

“ส่วนด้านการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับสาธารณสุขของไทยนั้นไม่น่าจะส่งผลเท่าไหร่ต่อสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นที่เคยมีการผลิตชุดป้องกันการติดเชื้อของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกแต่ก็เป็นการผลิตเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในระยะสั้นเท่านั้น บริษัทที่ผลิตไม่ได้ผลิตออกมามากมายจนสามารถส่งออกเป็นล่ำเป็นสัน จึงไม่น่าจะส่งผลเท่าใด”

ส่วนที่รัฐบาลควรเข้ามาจัดการ ก็คือ ด้านการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด มากที่สุด และภาคการท่องเที่ยวต้องใช้กำลังคนและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ขณะเดียวกันต่างชาติที่ถูกบล็อกถูกล็อคไม่ได้เที่ยวก็มีความอัดอั้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในระดับต้นๆ ที่น่าเที่ยว และต่างชาติ ชื่นชอบ หากเศรษฐกิจโลกฟื้นแล้ว ประทศไทยต้องพร้อมรับนักท่องเที่ยวก่อน แต่ขณะนี้ ยังไม่เห็นรัฐบาลเข้าไปช่วยจัดการเรื่องการท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า การท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น กลุ่มคลัสเตอร์ของ มธ. ทำวิจัยเรื่องนี้ก็เรียกร้องมาตลอด รัฐบาลควรจะออกมารับมือเมื่อคนต่างชาติเริ่มออกมาเที่ยวซึ่งจะได้ประโยชน์มหาศาล รัฐบาลควรประคองภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมเพราะใช้แรงงานมีทักษะ ต้องอุ้มคนงานจำนวนมากไว้ให้ได้ โดยอาจให้เงินกู้เพื่อให้คนงานโรงแรมอยู่ได้หรือตั้งกองทุน ช่วยเหลือให้เขามีสายป่านทางการเงินต่อธุรกิจไปได้

“ไม่ใช่ให้เขายืนอยู่ลำพัง คือ ต้องเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูผู้ประกอบการทางด้านท่องเที่ยวโดยเร็วและรัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าวัคซีนที่ฉีดให้คนต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย นั้นจะเป็นวัคซีนของบริษัทไหนของชาติใดประกาศให้ชัดผู้ประกอบการจะได้เตรียมแผนรับมือแต่เนิ่นๆ”

ด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านั้นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ได้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบแล้ว 3.9 ล้านล้านดอลลาร์  ส่วน โจ ไบเดน อัดฉีดอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และจะยังมีตามมาอีก อีกทั้งมีแนวโน้มจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จาก 7.5 ดอลลาร์ เป็น 15 ดอลลาร์ ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้คนอเมริกันได้รับประโยชน์ทุกภาคส่วนเป็นการเพิ่มรายได้ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ไปอมริกาจำนวนมาก ซึ่งคนอเมริกัน มีเงินมากขึ้นก็จะซื้อสินค้าไทยมากขึ้นตามไปด้วย จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า  รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์กำลังพูดถึง เรื่องตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งไปตกค้างอยู่นอกประเทศในช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องเตรียมไว้เพราะเมื่อโอกาสส่งสินค้ามาถึงแต่ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ หรือค่าใช้จ่ายมีราคาแพงขึ้น ก็เสียโอกาส

“นโยบายการค้าของโจ ไบเดน ที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นในระยะสั้น 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งข้างหน้า อาจยังไม่สามารถออกมาตรการอะไรได้โดยง่ายเพราะต้องทำพร้อมกันกับอีกหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าทั่วโลก

แต่ที่ต้องระวัง  คือเกี่ยวกับเรื่องการใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ (ด้านสิทธิมนุษยชน) ซึ่งไทยเคยถูกใช้มาตรการกีดกันการค้ามาแล้ว อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ระวังค่าเงินบาทแข็ง จะทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกันอย่างเช่นที่เวียดนามกำลังเจออยู่ในขณะนี้เพราะสหรัฐอเมริกาใช้กฎหมายในการเข้าไปควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะเรื่องการบิดเบือนค่าเงิน”

อย่างไรก็ตาม โจ ไบเดน ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้โลกอยู่ในบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดีขึ้นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น แต่ไทยก็ต้องเตรียมตัว ไว้ด้วย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมรัฐบาลก็ต้องหันหน้าเข้าหาภาคเอกชน แม้ว่าเวลาจะยังมาไม่ถึงในระยะเวลาอันสั้นแต่ต้องเตรียมไว้เพราะภาคเอกชนคือขุนศึกเขารู้อยู่แล้วจะทำยังไง ภาครัฐเป็นกองหนุนที่ดี ไม่ออกมาตรการให้ภาคเอกชนที่ทำให้ปฏิบัติได้ยากมากขึ้น เพราะถ้ารัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันด้านการผลิต-ส่งออกโดยคำนึงสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าประเทศอื่นก็จะทำให้เราได้ตลาดเพิ่มขึ้นมหาศาล


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น