ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ช่วงส่งท้ายปีชวด 2563 รับปีฉลู 2564 จากที่ใครๆ คิดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังการระบาดรอบแรกผ่านพ้นได้มา 5-6 เดือนของปีที่แล้ว น่าจะหายใจหายคอขึ้นมาได้บ้าง
แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่อย่างฉับพลัน ประชาชนตาดำๆ และผู้ประกอบการพากันร้องจ๊ากเพราะตั้งตัวไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อเศรษกิจประเทศอย่างหนัก สถานประกอบการหลายประเภทต้องปิดตัวอย่างน้อยถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด
ขณะเดียวกันยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เที่ยวนี้จะยาวนานไปอีกเท่าไร และวัคซีนป้องกันรักษาโควิด-19 จะใช้ได้ผลหรือไม่และจะฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มต้องกินเวลาไปอีกนานเท่าใด
“วรวุฒิ อุ่นใจ” รองหัวหน้าพรรคกล้า อดีตนักธุรกิจ ที่เคยฝ่าวิกฤตยุคฟองสบู่แตกหรือต้มยำกุ้งปี 2540 ชนิดล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว วันนี้สวมหมวกนักการเมืองคนรุ่นใหม่ มอง วิกฤตโควิดระลอกใหม่นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการหลายราย อยู่ในภาวะที่วิกฤติหนักกว่ารอบแรกมากๆ
“รอบแรกมีล็อกดาวน์ช่วงมีนาคม 2563 หลายธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจกลางคืนและที่เกี่ยวเนื่อง นวด-สปา สถานบันเทิง ร้านอาหาร นักร้องนักดนตรี เดือดร้อนหนัก หลังสถานการณ์รอบแรกดีขึ้น หลายๆ แห่งที่กำลังจะลืมตาอ้าปากได้เพราะว่าเรามีตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์มาหลายเดือนแล้วก็กลับมาระบาดอีก
ทีนี้อาการหนักมากเลย ธุรกิจกลุ่มเหล่านี้เดือดร้อนมากกว่าคนอื่น กลุ่มเหล่านี้น่าจะได้รับการช่วยเหลือ น่าสงสารมาก เพราะต้องปิดกิจการ อย่างนวด-สปา ถูกเนื้อตัวลูกค้าไม่ได้ กลุ่มธุรกิจดังกล่าวนี้น่าจะได้รับการเยียวยาเป็นพิเศษ มีมาตรการการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนจากรัฐบาล”
วรวุฒิ กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาจากโควิด-19 ระลอกนี้ รัฐบาลต้องคิดให้ละเอียดกว่ารอบแรก กลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยต้องชัดเจน รอบแรกอาจช่วยแบบเหวี่ยงแหเพราะกระทบหมดถ้วนหน้า แต่รอบนี้ต้องระวังๆ เพราะมีบางส่วนที่อยู่ในสภาวะใกล้ปิดกิจการหรือหนี้สินล้นพ้นตัว น่าเห็นใจมาก
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ซึ่งกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ มีฐานข้อมูลเขาอยู่แล้วในระบบประกันสังคม การเข้าไปช่วยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงก่อนอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลทำได้แต่ต้องฟังเสียงผู้ประกอบการให้มากหรือไปพบปะเขา อย่างกลุ่มธุรกิจ SME ก็ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนออกมา
“อย่าง SME คือต้องการให้แหล่งเงินทุน-ธนาคารลดต้นลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งโควิดระบาดรอบแรกรัฐบาลช่วยไป 6 เดือน รอบนี้จะช่วยได้ไหมอีก 6 เดือน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ซึ่งก็อยู่ภายใต้ กระทรวงการคลัง รัฐบาลก็ดูแลอยู่ ไปช่วยปลดล็อกให้กลุ่มธุรกิจ SME เรื่องลดต้นลดดอกเพราะถ้าแบงก์ชาติไม่สั่งธนาคารก็ไม่กล้าเพราะกลัวเกิดหนี้เสียแล้วจะถูกลงโทษ”
วรวุฒิ กล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวยอย่างอังกฤษ ถ้าสั่งล็อกดาวน์จะจ่ายเงินให้แรงงานอย่างน้อย 75% ต่อเดือนที่เขาเคยได้รับ แต่ไทยคงไม่สามารถทำได้ ส่วนการช่วยเหลือด้วยการแจกเงินเยียวยาของไทยนั้นเป็นวิธีการที่ง่ายเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาธุรกิจ SME ของไทยมีปัญหาขาดการสนับสนุนน้อยจากรัฐบาลมาตลอด เพราะมักจะเอื้อแต่กลุ่มทุนใหญ่ ทั้งๆ ที่กลุ่ม SME จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่ม SME เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะเห็นได้ว่าจีดีพีของเขาเติบโตเพราะกลุ่ม SME สร้างมูลค่าถึง 60-70% ขณะที่ไทยเองมีกลุ่ม SME ประมาณ 4 ล้านราย คำนวณเป็นประชากรได้ประมาณ 20 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรประเทศแต่สร้างจีดีพีให้กับประเทศไทยได้เพียง 30% เท่านั้น
เพราะภาครัฐไปสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่มากกว่า เช่นการผลิตเบียร์คราฟท์จำหน่าย ต้องมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มทุนเล็กก็ไม่สามารถผลิตขายได้ ทั้งๆ ที่ ก็มีความสามารถและผลิตได้มาตรฐานโลกเหมือนกัน
“ผมมีความห่วงใยกลุ่มโรงแรม กลุ่มท่องเที่ยว เพราะถ้าเขาปิดตัวไปจะกระทบเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ คือล้มแบบโดมิโน เช่น ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่การก่อสร้าง กลุ่มอาหารต่างๆ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบตามมาถ้าโรงแรม การท่องเที่ยว ล้มละลายหมดเนื้อหมดตัว เกิดการล้มลงเช่นนี้ วิกฤติเศรษฐกิจดิ่งลงปากเหวจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงต้องพยายามไม่ให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดล้มทั้งระบบเพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบหมด”
วรวุฒิ เสนอแนวทางไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากพิษโควิด ไว้ 3 ข้อ คือ 1.สร้างโอกาสให้อยู่รอด โดยเฉพาะกลุ่ม SME รัฐควรดูแลด้วยมาตรการด้านการเงินที่เหมาะสม รวมถึงแก้กฎระเบียบที่กีดกันรายเล็ก
2.ติดอาวุธให้ SME ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี การทำระบบบัญชีที่ถูกต้อง เช่น อาจมี แอพพลิเคชั่น ด้านการทำบัญชีให้ใช้ฟรี สร้างศูนย์ข้อมูลวิจัยให้กลุ่มธุรกิจได้พัฒนาขึ้นไป เช่น กลุ่มสินค้าโอท็อปต้องมีศูนย์ข้อมูลประจำตำบล เป็นต้น
3.ต้องมีแต้มต่อ ให้ผู้ประกอบการ เช่นตัวอย่าง รัฐบาลจีนสนับสนุนผู้ส่งออกสินค้าด้วยการช่วยสนับสนุนค่าขนส่ง ซึ่งทำให้ราคาสินค้าจากจากจีนถูกและขายได้จำนวนมากๆ ซึ่งไทยเองก็สามารถส่งออกได้แต่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยให้มากขึ้น หรือการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กับรายเล็ก แต่บ้านเรา “ยิ่งจนดอกเบี้ยยิ่งแพง ยิ่งรวยดอกเบี้ยยิ่งถูก” คือ เอื้อรายใหญ่ ทำให้รายเล็กเสียเปรียบ จึงต้องมีแต้มต่อให้ผู้ประกอบการรายเล็ก
สุดท้าย ในวิกฤติแบบนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว “หมดทุกอย่างได้ แต่อย่าหมดกำลังใจ” วรวุฒิ ให้แง่คิดทิ้งท้าย