SME “แน็คเก็ต” สแน็คช่วยชุมชน บนเส้นทางสู่ความสำเร็จผ่านเซเว่นฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่ามูลค่าขนมขบเคี้ยวหรือสแน็คในบ้านเรานั้น ยอดขายปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ต่างเข้ามาสู่ธุรกิจนี้

น.ส.พัทธนันท์ แสงสุขเกษมศักดิ์ วัย 44 ปี เจ้าของบริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด เป็นผู้ประกอบการอีกรายที่เข้ามาสู่วงการผลิตสแน็ค ในชื่อแบรนด์ “แน็คเก็ต” (ชื่อลูกสาว) ซึ่งมีสินค้ารวมกว่า 22 รายการ อาทิ ชีสเชคไส้สับปะรด (ขนมปังกรอบไส้สับปะรด)  กล้วยน้ำว้าทอดกรอบรสหวาน, เผือกแท่งทอดกรอบรสเค็ม,ฟักทองทอดกรอบรสหวาน และมันหวานแผ่นทอดกรอบรสหวานฯลฯ

เชื่อว่าใครที่เป็นลูกค้าร้านเซเว่นฯ คงเคยลิ้มชิมรสกันไปบ้างแล้ว เพราะวางขายมานานถึง 15 ปี โดยช่วงแรก เธอส่งชีสเชคไส้สับปะรดเข้ามาขายก่อนเมื่อปี 2550 พอประสบความสำเร็จ จึงขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ

น.ส.พัทธนันท์ เล่าที่มาที่ไปของการมาทำขนมขบเคี้ยวว่า จบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์ฯ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบ MBA ที่เดียวกัน พอเรียนจบก็ทำงานด้านจัดซื้อ และด้านการตลาดในบริษัทเอกชน

สาเหตุที่มาทำชีสเชคไส้สับปะรดเพราะครอบครัวอยู่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีขนมปังไส้สับปะรดอร่อยมาก สมัยเรียนและตอนทำงานต้องซื้อมาฝากเพื่อนๆ เพราะจะหาเจ้าอร่อย ๆ ที่มีเนื้อสับปะรดเยอะ ๆ ยากมาก ต้องไปซื้อที่ปราณบุรีเท่านั้น จึงมองว่าขนมชนิดนี้น่าจะมีช่องทางการตลาด

พอปี 2547 จึงนำสับปะรดจากปราณบุรีมาทำเอง และเสนอขายตามยี่ปั้ว ร้านกาแฟ และในตลาดชุมชน พอธุรกิจเริ่มไปได้ จึงคิดขยายตลาด โดยมองไปที่ร้านเซเว่นฯ ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก และนำสินค้าไปเสนอในปี 2549  แต่กว่าจะได้ขายของจริงก็ปี 2550 เพราะทางเซเว่นฯ ต้องเข้ามาสำรวจสถานที่ผลิตว่าได้มาตรฐานและมีกำลังผลิตเพียงพอไหม โดยทางบริษัทกับทางเซเว่นฯ ใช้เวลาพัฒนาสินค้าร่วมกัน 1 ปี

“เมื่อเซเว่นฯ ให้โอกาสเราก็ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องยกระดับและพัฒนาสินค้าด้วย เดิมมีโรงงานผลิตที่ย่านบางพลัด กทม. มีเพียงมาตรฐาน อย. ก็ทำมาตรฐานให้สูงขึ้นจนได้มาตรฐาน GMP และ HACCP ต่อมาเพิ่มไลน์สินค้าจนทุกวันนี้มีทั้งหมด  22 รายการ เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาแปรรูป ช่วยทำให้ชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นเครือข่ายจาก 5 จังหวัด มีงานทำและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นห่วงโซ่กัน”

น.ส.พัทธนันท์ อธิบายว่า ตอนนี้มีสินค้าทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นแครกเกอร์ไส้สับปะรด ไส้สตอเบอร์รี่ กลุ่มที่ 2 ปั้นสิบไส้ต่างๆ ไส้ปลา ไส้ถั่ว ไส้ต้มยำกุ้ง โดยผสมข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุง กลุ่มที่ 3 กลุ่มทอดสุญญากาศ กล้วยทอดสุญญากาศ เป็นกล้วยหอมทอดจาก จ.ชุมพร กลุ่มที่ 4 ผัก ผลไม้ทอด อย่างกล้วย เผือก มัน ฟักทอง จาก จ.สุโขทัย และกลุ่มที่ 5 อาหารทะเลจาก จ.ตราด

สำหรับสินค้าที่ขายดี อันดับหนึ่ง กลุ่มกล้วย มัน เผือก ฟักทองทอด รองลงมา กลุ่มอาหารทะเล ปูกรอบ กุ้งกรอบผสมสมุนไพร  อันดับ 3 เป็นกลุ่มกล้วยหอมทองกรอบ

เจ้าของบริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ฯ แจงว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ 1. อร่อย 2.ได้คุณภาพ 3.เป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดยบริษัทซื้อสินค้าจากชุมชนปีละหลายร้อยตัน อย่างกลุ่มผักผลไม้ทอดกรอบ รับซื้อ 100 ตัน กลุ่มอาหารทะเล 30 ตัน ส่วนปั้นสิบกับกล้วยหอมทอด 20-30 ตัน สับปะรด 70-100 ตัน

เธอว่า ก่อนหน้านี้ขายส่งตลาดยี่ปั๊วยอดขายหลักหมื่นหลักแสนต้นๆ แต่พอมาขายกับทางเซเว่นฯ แตกต่างกันเยอะมาก

“อย่างปีที่ผ่านมายอดขาย 41 ล้านบาท และเราได้ช่วยชาวบ้านด้วย  แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่หยุดนิ่ง เซเว่นฯ เป็นช่องทางที่ยั่งยืนถ้าเราพัฒนาตัวเอง เซเว่นฯ ให้โอกาสกับเอสเอ็มอีที่พัฒนาตัวเอง”

ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด เจ้าของบริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ฯ แจกแจงว่า การค้าขายกับเซเว่นฯมียอดขายที่ดีขึ้น อีกทั้งปี 2563 เป็นจังหวะที่บริษัทมีสินค้าใหม่ๆ อย่างอาหารทะเลทอดกรอบ

“ช่วงโควิด-19 เซเว่นฯ ไม่มีคืนของเลย ถ้าไม่ได้เซเว่นก็แย่เหมือนกัน ตั้งแต่ค้าขายกับเซเว่นฯ ชีวิตเราดีขึ้นทุกอย่าง เราโตมากับเซเว่นจริงๆ อันนี้คือรูปธรรม ส่วนนามธรรมค้าขายแล้วสบายใจเพราะเขาไม่เอาเปรียบ เขาช่วยเหลือ และสนับสนุน เขามองเราเป็นส่วนหนึ่ง แม้จะเป็นองค์กรเล็กๆ เขาเห็นใจและไม่ทิ้งเรา” เธอบอกและเล่าต่อไปว่า ค้าขายกับเซเว่นฯ มา 15 ปี จ่ายเงินตรงเวลาตลอด ซึ่งช่วยได้เยอะมากเพราะบริษัทต้องนำเงินสดไปซื้อของกับชุมชน และวิสาหกิจชุมชน

ในปีนี้ น.ส.พัทธนันท์ บอกว่า จะนำสินค้าที่ขายอยู่แล้วนำมาพัฒนา อย่างตัวขนมปังชีสไส้สับปะรด ไส้สตอเบอร์รี่ และขนมปั้นสิบ เนื่องจากแพ็กเกจเก่า ล้าสมัย จะปรับแพ็กเกจใหม่ ปรับสูตร พัฒนาให้อร่อยขึ้น

เธอให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่อยากมาขายในร้านเซเว่นฯว่า “ต้องดูก่อนว่าสินค้ามีความพร้อมในการขายไหม มาตรฐานได้ไหม ต้องคุยกันให้เคลียร์ ต้องขอคำแนะนำและหลักเกณฑ์ในการทำงาน  เพราะทางเซเว่นฯ ทำงานเป็นขั้นตอน ถ้าสินค้าเราพร้อมมีมาตรฐาน เซเว่นฯ เปิดโอกาสและสนับสนุนผู้ประกอบการอยู่แล้ว”

นับเป็นผู้ประกอบการอีกรายที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มยอดขายและให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น