“ซองเดอร์” ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงฝ่าวิกฤติ “เติบโตทีละก้าว” จากโอท็อปสู่เอสเอ็มอี

“ซองเดอร์” (Xongdur) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธัญพืชออร์แกนิค (Organic) มีแนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยยึดมั่นหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันในตัว และใช้ความรู้คู่คุณธรรม ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะประสบกับวิกฤติต่างๆ แต่สามารถนำพาบริษัท ให้เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

สุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ รองประธานบริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จํากัด กล่าวว่า ซองเดอร์ เริ่มดำเนินการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2543 เพราะสนใจเรื่องสุขภาพ จึงศึกษาว่าอาหารน่าจะเป็นยาได้ และคิดพัฒนาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ จ.สุพรรณบุรี  ซึ่งอุดมสมบูรณ์ มีข้าวและธัญพืชต่างๆ มากมาย โดยเริ่มต้นจากเป็นสินค้าโอท็อป แล้วพัฒนามาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  โดยธุรกิจเติบโตมาตลอด20 ปี

การดำเนินธุรกิจของซองเดอร์ “เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป” ไม่หวังผลกำไรสูงสุด ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ “การเดินมาทีละก้าวกินข้าวทีละคำ และมีความมุ่งมั่น ในการช่วยแก้ปัญหาสุขภาพให้คนไทย โดยใช้  “อาหารเป็นยา”

“การทำธุรกิจแบบที่เราคิด คือ ให้อาหารเป็นยา เราจึงติดกระดุมเม็ดแรกด้วยเกษตรอินทรีย์ (Organic) โดยเชื่อว่า คือ ทางรอดของมวลมนุษยชาติ เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้องแล้ว เม็ดต่อๆ ไปก็จะถูกต้องไปเรื่อยๆ เราเห็นคนเจ็บป่วยล้นโรงพยาบาล เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน สุดท้ายก็คือไต การที่เราสูญเสียงบประมาณของประเทศจำนวนมากไปกับการดูแลคนป่วย ถ้าทำอาหารให้เป็นยาได้ ก็จะช่วยชาติได้ด้วย”

สำหรับสินค้าของ Xongdur ปัจจุบันแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป Cereal bar เพื่อสุขภาพ อาหารเช้าธัญพืชสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารเสริมสำหรับเด็ก  ผลิตภัณฑ์ล้วนมาจาก เกษตรอินทรีย์ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องแดง ข้าวกล้องงอก งาดำ ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ วัตุดิบในสุพรรณบุรี มีไม่เพียงพอ  ต้องนำมาจากภาคอีสาน จังหวัดรอบๆสุพรรณบุรีด้วย โดยบริษัท มีเครือข่ายเชื่อมโยงหลายแห่ง

         

ส่วนการตลาด เน้นจำหน่ายในระเทศเป็นหลัก ซึ่งยอดขายไปได้ดี เพราะคนสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพ  ส่วนต่างประเทศ มีส่งออกไปในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย  เมียนมา ฮ่องกง ญี่ปุ่น

ภารกิจอีกด้านหนึ่ง ที่รองประธานบริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด ทำควบคู่ไปกับการประกอบธุรกิจ คือ การช่วยเหลือ ดูแลสังคม และการทำงานกับ เกษตรกร เช่นขณะนี้ เกิดวิกฤตโควิด หลายคนกลับบ้านไปสู่ภาคการเกษตร

ทางซองเดอร์มีประสบการณ์ จึงอยากช่วยเหลือผู้ที่กลับคืนสู่พื้นถิ่น บ้านเกิด โดยช่วยสร้างงาน สร้างเครือข่าย สร้างช่องทางให้มีรายได้ เป็นการช่วยเศรษฐกิจฐานราก ยุคนี้ต้องปรับเปลี่ยนความคิดของชุมชนและเกษตรกร ให้ปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในยุคใหม่ โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

       

สำหรับวิกฤตโควิด-19  ซองเดอร์ ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ด้วยองค์กรไม่ใหญ่ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด 20 ปีที่ดำเนินธุรกิจ จึงกระทบไม่มาก แต่ก็ต้องปรับตัวเช่นกัย โดยในช่วงนี้ ยอดขายลดลง จึงให้ทีมงานทำวิจัยและพัฒนาสินค้า ปรับสินค้าให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ แต่อยู่บนฐานของวัตถุดิบในชุมชน เช่นฤดูแล้ง เกษตรกรควรจะปลูกอะไร ต้องการวัตถุดิบอะไรก็ไปวางแผนกับผู้ปลูก รวมถึงการเรียนรู้การทำตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในยุคนี้

“ธุรกิจของซองเดอร์ในวิกฤติโควิด ยอดขายลดลงไปบ้าง แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่แล้วก็ยังถือว่าเราอยู่ได้ และเราก็พร้อมที่จะพัฒนาต่อไปด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง  คือ ยึดหลัก “อยู่อย่างคนจนที่มีปัญญา” ดังในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสไว้” สุวรรณา กล่าว


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น