คัมภีร์บทใหม่ ‘พีอาร์’ ยุค Digital & New Normal

ปี 64 ผู้ที่อยู่ในแวดวงการสื่อสาร การตลาด ต้องตามผู้บริโภค ตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ต้องผสมผสานช่องทางทั้งดิจิทัล ออนไลน์ ออฟไลน์ มาใช้งานให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ผู้บริหารจะละทิ้งเรื่องการสื่อสารไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในช่วงวิกฤติ

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพีอาร์ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2563 สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิด New Normal ขึ้นมา พฤติกรรมของผู้บริโภคและคนที่ใช้การสื่อสารมีการเร่งมากขึ้นในเรื่องของดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่มาในระยะเร่งด่วน จากคนไม่เคยซื้อของออนไลน์ก็เปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์กัน ดังนั้นปี 63 จึงเป็นปีที่มีการปรับตัวในเรื่องการสื่อสาร การตลาด การประชาสัมพันธ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ใครที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องไปทำอย่างอื่น

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล

ส่วนใครที่อยู่รอดมาถึงวันนี้ คิดว่าน่าจะไปต่อได้ในปี 2564 เพราะการระบาดใหม่ของโควิด-19 ก็เป็นตัวสัญญาณบ่งชี้ว่าปี 64 คงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ ปี 63 เป็นปีที่ปรับตัวเร่งด่วน ส่วนปี 64 เป็นปีที่พัฒนาขึ้น เพราะทั้งผู้บริโภค ผู้รับสาร มีการพัฒนา เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เพราะฉะนั้นปี 64 ผู้ที่อยู่ในแวดวงการสื่อสาร การตลาด ต้องตามผู้บริโภคให้ทันและอย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจปราบเซียนได้ เนื่องจากวิกฤติโควิดรอบใหม่ที่มาปลายปีและรุนแรง ก็ดับฝันการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่

สำหรับเทรนด์การประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร การตลาด ในปี 64 จะเปลี่ยนก็แต่ในเรื่องของรูปแบบเนื้อหา หน้าที่ของเราคือต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน สิ่งนี้สำคัญที่สุดถือเป็นคัมภีร์เลย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการสื่อสารจากจอสี่เหลี่ยมที่เป็นทีวี หรือจอสี่เหลี่ยมจากมือถือ

นักสื่อสารการตลาดจะต้องตามผู้บริโภคไปถึงที่นั่น แต่ความแตกต่างของแต่ละช่องทาง อย่างสมัยก่อนเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ลักษณะการนำเสนอเนื้อหาก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่พอเป็นบนมือถือ เนื้อหาก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะความอดทนของผู้บริโภคในการรับสารก็มีจำกัดมากขึ้น

เปรมศิริ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ การสื่อสารเป็นเรื่องที่ผู้บริหารละทิ้งไม่ได้เลย เพราะในภาวะวิกฤตินั้น ความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเราเมื่อไร ธุรกิจเราจะล้มเหลวทันที ตรงนี้เป็นหัวใจของการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ผู้บริโภค คนที่มาเกี่ยวข้องกับเราว่าถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติ เราก็ยังไปต่อได้ ดังนั้นจึงอยากจะเตือนผู้บริหารว่าอย่าละทิ้งเรื่องการสื่อสาร เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยิ่งวิกฤติเรายิ่งต้องพูดจากันมากขึ้น นอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้าใจกับคนในองค์กรด้วย

เรื่อง Big Data และเทคโนโลยี ถือว่ามีความจำเป็นมากสำหรับการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ ทุกวันนี้เทคโนโลยีก็เอื้ออำนวยในการจัดเก็บระบบข้อมูล ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ทำให้เรารู้ว่าผู้บริโภคของเราอยู่ตรงไหน และผู้บริโภคของเราไปถึงไหนแล้ว ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

และในช่วงปีใหม่ 2564 สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความต้องการสูงมาก องค์กรธุรกิจใหญ่ๆ อย่างแวดวงอสังหาริมทรัพย์จะตอบโจทย์ผู้บริโภคทันที ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนในการออกแบบได้ เขาจะเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน ให้ลูกค้าสามารถ Work From Home ในพื้นที่เท่าเดิม แต่ในฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์มากขึ้น

ในแวดวงการสื่อสาร สิ่งที่ทุกธุรกิจองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงก็คือจะต้องผสมผสานช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารมาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล ออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อนำมาใช้งานให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึง และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น