สร้างสื่อปลอดภัย & สร้างสรรค์อย่างไร? ในยุค Digital Disruption

ภาพจาก Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ให้ทุกคนเปิดรับสื่อที่มีสติ อย่ารีบเชื่อ อย่าเร่งแชร์ และช่วยกันเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสม พร้อมให้ทุนสนับสนุนผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในปี 2558 มีกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีเม็ดเงินในการสนับสนุนน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายๆ กองทุน โดยปีหนึ่งมีเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พยายามใช้เงินจำนวนน้อยนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ธนกร ศรีสุขใส

ผลงานเด่นๆ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ ทาง อสมท. หรือช่วงที่เกิดโควิด-19 เราก็ผลิตสื่อที่รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ป้องกันภัยโควิด-19 นอกจากนี้งานละครที่เราให้ผลิต ก็มีแพลตฟอร์มต่างประเทศจะเอาไปเผยแพร่ หรือทางเน็ตฟลิกซ์ก็มีเผยแพร่แล้ว ส่วนไลน์ทีวีอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไข

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนและครอบครัว ไม่ใช้เพียงรู้เท่าทันสื่อ แต่สามารถนำองค์ความรู้ในการเปิดรับสื่อไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย ปีที่แล้วมีโครงการที่ค่อนข้างใหญ่คือไซเบอร์บูลลี่อิ้ง

มีการจัดเวทีสัญจรคือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เดินสายไปพบภาคเครือข่าย ประชาชนทั่วไป เพื่อไปให้ความรู้ ให้ทุกคนมีความรู้เท่าทันสื่อ มีสติในการเปิดรับ อย่าแชร์อะไรง่ายๆ ต้องมีหลักในการตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งการรู้เท่าทันสื่อจะบรรจุในหลักสูตรการในเร็วๆนี้ แยกเป็นระดับตั้งแต่เด็กเล็ก ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชนทั่วไป

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทำหลายกิจกรรมมาก การตรวจสอบเรื่องการระรานทางไซเบอร์ โดยจัดสรรทุนให้กับวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ซึ่งขึ้นกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่สอนหลักสูตรต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์รู้ทันการโฆษณาชวนเชื่อ เรามีเครื่องมือที่จะตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม โดยร่วมมือกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ของเยอรมนี ทำโครงการโคแฟค นอกจากนี้ยังให้ทุนให้ทำแอปพลิเคชั่น Smart Mom สำหรับคุณแม่ที่จะสอนลูกเล็กๆ อย่างไร

ดร.ธนกร กล่าวว่า ทุกวันนี้ มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียไปในวัตถุประสงค์ที่อาจนำไปสู่การแตกแยก นำไปสู่ความขัดแย้ง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต้องการสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อม หรือระบบนิเวศสื่อที่ดี ปีนี้เราพยายามจัดทำโครงการรณรงค์ไม่ต้องการให้มี Hate Speech เราทำกิจกรรมเชิงบวก สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดอย่างแรกคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ง่ายที่สุด เบื้องต้นคือเราต้องการให้ทุกคนเป็นผู้เปิดรับสื่อที่มีสติ อย่ารีบเชื่อ และอย่าเร่งแชร์ ให้ตั้งสติก่อน บางเรื่องน่าเชื่อถือ แต่เมื่อตรวจสอบจริงๆ แล้วจะพบว่าไม่ใช่เลย

สอง เราต้องยอมรับว่าทุกคนเป็นผู้รับสารและในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้ส่งสื่อด้วย เราจึงรณรงค์ขอการมีส่วนร่วมกับคนไทยทุกภาคีเครือข่าย ขอให้เป็นผู้สร้างสรรค์ เลือกแต่สื่อดีๆ เราอยากเห็นทุกคนเป็นสื่อที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทำสื่อเชิงบวก

สาม เราอยากให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสม และสี่ เราอยากเห็นคนผลิตสื่อที่มีคุณภาพ นำผลผลิตทางด้านความดี ความงาม ของดีในประเทศไทยไปเผยแพร่ทั่วโลกผ่านกระบวนการสื่อสร้างสรรค์

ส่วนเรื่องขอทุน ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเพจกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือทางเว็บไซต์ โดยทุนในปี 2564 ตอนนี้เหลือเพียงขั้นตอนนำหลักเกณฑ์ต่างๆ เสนอให้คณะกรรมการกองทุน ที่เรียกว่าบอร์ดใหญ่ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งเราตั้งปฏิทินว่ากลางเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ เราจะเปิดให้มีการขอรับทุน ซึ่งต้องเสนอผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ปีนี้เราจะเปิดรับสมัครประมาณ 30 วัน แล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทุนในเดือนกุมภาพันธ์ และประกาศผลช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน จากนั้นจะทำสัญญาแล้วดำเนินการได้เลย

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น