SME จะฝ่าวิกฤติ “โควิด” ต้องปรับตัวอย่างไร?

การจะฝ่าวิกฤติโควิด-19 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับสถานการณ์ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ รักษาสภาพคล่อง รักษาเครดิต ศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมเรื่องการให้บริการ และการมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็น Value Added ให้กับสินค้าและบริการของเรา

นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank กล่าวว่า มาตรการที่ SME D Bank กำลังเร่งดำเนินการในขณะนี้คือการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งลูกหนี้ของธนาคารมีทั้งหมด 60,000 ราย ได้พูดคุยกันแล้ว 90% เหลือ 10% ที่ยังไม่เจอกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามติดต่อให้เข้ามาพูดคุยเจรจากัน

นารถนารี รัฐปัตย์

สำหรับลูกหนี้ 90% บางส่วนบอกว่าสามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้ก่อนได้รับการพักชำระหนี้ ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่บางรายที่บอกว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องการให้มีการผ่อนปรน ก็ต้องมีการทำสัญญาต่อท้ายสัญญาเก่า ซึ่งจะต้องมีเรื่องเอกสาร มีเรื่องผู้ค้ำประกัน จะต้องนัดเข้ามาเซ็นสัญญา ต้องใช้เวลา ดังนั้น จะต้องรีบเข้ามาเจรจา รีบนัดผู้ค้ำประกันมาเซ็นเอกสาร เพื่อไม่ให้เกิดการค้างชำระหนี้ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการขอสินเชื่อในอนาคต

ลูกหนี้ที่เข้ามาเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้กับ SME D Bank ส่วนใหญ่จะขอเลื่อนการจ่ายเงินต้นไปก่อน จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งระยะเวลาการชำระหนี้จะยาวขึ้น ก็จะต้องเข้ามาคุยกันในรายละเอียด ส่วนบางรายที่มีระยะเวลาคุยน้อย หรือเพิ่งตัดสินใจในตอนท้ายๆ ก็จะทำแบบรวดเร็วไปก่อน คือ ขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อนสักหนึ่งปี ส่วนเงินต้นที่ไม่ได้จ่ายหนึ่งปี ขอไปค้างไว้งวดสุดท้ายก็ได้ หรืออีกแบบหนึ่ง อาจขอเกลี่ยไม่จ่าย 12 เดือน ในปี 2564 และขอเอาไปเกลี่ยบวกกับ 12 งวดสุดท้าย ในปีที่ 5 ก็ได้

นารถนารี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ในช่วง 6-7 เดือนแรกเป็นช่วงล็อกดาวน์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ 2 เป็นช่วงผ่อนปรน การค้าขายเริ่มกลับเข้ามาแล้ว กำลังจะเข้าสู่ช่วงที่ 3 ที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะเริ่มตั้งต้นใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่าจะทำธุรกิจแบบเก่าต่อไป หรือจะปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น

สิ่งที่อยากจะแนะนำตอนนี้คือ ให้สำรวจเรื่องสภาพคล่องของตัวเอง กับเรื่องที่สอง การมองหาธุรกิจใหม่ ให้มองหาตัวช่วยข้างเคียง อย่าไปเน้นการลงทุน ขณะนี้ยังไม่อยากให้มีการลงทุนที่สูง ให้ทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าส่วนไหนที่จ้างเขาทำได้ก็จ้าง ส่วนไหนที่เช่าได้ก็เช่า ต้องชะลอการลงทุนหนักๆ ไว้ก่อน ลงทุนได้ตามสถานการณ์ ต้องทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง

นอกจากนี้ โครงการสินเชื่อ SMEs One ของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท เปิดไปแล้ว 2 เฟส มีคนมาสมัครเยอะ แต่มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่ผ่านการคัดกรอง ทำให้มีวงเงินเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยของโครงการนี้อยู่ที่ 1% ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล กู้ได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาท ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาได้ 5 แสนบาท ระยะเวลากู้ 5 ปี

การเปิดรับสมัครโครงการสินเชื่อ SMEs One มีการเปลี่ยนวิธีการจากเดิมที่เปิดรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ต่างๆ ตอนนี้เปิดรับสมัครผ่านทางพันธมิตร 5 แห่ง ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในส่วนของผู้ประกอบการที่เกิดสภาพเป็นเอ็นพีแอล ให้รีบไปเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของการขอสินเชื่อ SMEs One ที่น่าจะช่วยเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้บ้าง

นารถนารี ให้คำแนะนำเอสเอ็มอีในการฝ่าวิกฤติโควิด-19 ว่า จะต้องปรับตัวให้เร็ว ตามเทรนด์ให้ทันใส่ใจตลาดว่า ตอนนี้ผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับสถานการณ์ ตอนนี้สิ่งที่สำคัญคือการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ เพื่อที่อย่างน้อยเราต้องมีกระสุนไว้ใช้ ในตอนที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ควบคู่ไปกับสภาพคล่องที่เราต้องรักษาไว้ ก็คือการรักษาเครดิต

เมื่อเราปรับเปลี่ยนและเห็นโอกาสในอนาคต เครดิตเราพร้อม ก็สามารถเข้าไปหาสถาบันการเงิน เพราะเรามีความพร้อมที่จะลงทุนและเดินไปข้างหน้า รวมทั้งต้องศึกษาหาความรู้ต่างๆ ทั้งเรื่องการเงิน การตลาด โดยสามารถศึกษาหาได้จากเว็บไซต์ทั่วไป หรือติดตามจากสื่อต่างๆ ที่จะอัปเดตเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มเติมในเรื่องของการให้บริการ กับเรื่องข้อมูลและนวัตกรรมใหม่ๆ สินค้าที่เราขายจะต้องมีความแตกต่างจากคนอื่นบ้าง มีนวัตกรรมใหม่เข้ามา สีสันที่แปลกตา ถ้อยคำใหม่ๆ หีบห่อ แม้แต่การนำส่งใส่กล่องพัสดุ อาจเขียนการ์ดขอบคุณลูกค้าพร้อมสติ๊กเกอร์รูปหัวใจ เพื่อเป็นการเพิ่ม Value Added ให้กับสินค้าและบริการของเรา

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น