“รถเก่าแลกรถใหม่” ควรเติมเต็มเงื่อนไข อะไร อย่างไร? : มุมมองจาก CEO เบนซ์ บีเคเค

CEO เบนซ์ บีเคเค ระบุ “รถเก่าแลกรถใหม่”เป็นโครงการที่ดี แต่การลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท สุดท้ายแล้ว
คนที่ได้ประโยชน์คือคนมีเงิน เพราะรถไฟฟ้ามีราคาแพง ถ้าต้องการให้คนเข้าถึงรถไฟฟ้า ใช้เป็นโปรโมชั่น
จะดีกว่า พร้อมแนะ ธปท.ออกเงินกู้พิเศษ สำหรับคนที่เอารถเก่ามาแลก

อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล CEO Benz BKK Group กล่าวว่า โครงการ“รถเก่าแลกรถใหม่” จำนวน 1 แสนคัน ซึ่งรถใหม่ที่จะเข้าโครงการจะต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และเป็นรถไฟฟ้า หรือ EV ถือว่าเป็นโครงการที่ดีในหลักการ เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยลด PM2.5 ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเป็นรถยนต์พลังงานสะอาด

อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล

ส่วนเรื่องประเด็นลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทุกวันนี้ก็มีค่าลดหย่อนมากมายที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว และช่วงนี้หลายบริษัทก็ลดค่าใช้จ่ายของพนักงาน ทำให้มีรายได้น้อยลง ซึ่งทุกวันนี้แทบจะไม่เสียภาษีอยู่แล้ว

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ตรงนี้ก็อาจได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องไปดูว่าภาษีก้อนนี้จะไปอยู่กับผู้ซื้อคนไหน เช่น รถยนต์คันนี้ บริษัทเอซื้อมาเพื่อให้ลูกค้าเช่า คนที่ได้ประโยชน์ตรงนี้คือผู้ให้เช่า หรือผู้เช่า ผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทเอ หรือคนที่ปล่อยไฟแนนซ์ให้บริษัทเอ

ส่วนประเด็นรถที่ซื้อใหม่ต้องเป็นรถไฟฟ้านั้น อนุพล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยขายรถโดยเฉลี่ย รถใหม่ 1 ปี อยู่ที่ประมาณ 9 แสนคัน จะมีรถปิกอัพอยู่ในนั้นประมาณ 40% มีรถเก๋ง 60% สมมติเป็นตัวเลข 1 ล้านคัน ก็จะเป็นปิกอัพ 4 แสนคัน ซึ่งรถปิกอัพยังไม่มีรถไฟฟ้า

ส่วนรถเก๋ง ราคาเริ่มต้นของรถไฮบริดโดยภาพรวมเริ่มต้นที่ 1 ล้านกว่าบาท ถือว่าไม่ถูก กลุ่มเป้าหมายต้องมีกำลังซื้อ แล้วมีเงินพอสมควร กลุ่มนี้ก็จะได้ประโยชน์ด้านภาษีแน่นอน แล้วรถไฟฟ้าก็ไม่ใช่เป็นรถคันแรกด้วย อาจเป็นรถคันที่สอง หรือรถที่เขาอยากได้ประสบการณ์สัมผัสกับเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ เดี๋ยวก็จะมีการล็อบบี้นโยบายนี้ เหมือนตอนโครงการรถคันแรก

โครงการรถคันแรกถูกทำให้เพี้ยนไป เพราะตอนนั้นเราต้องการสนับสนุนให้อีโคคาร์เกิด ตอนนี้ก็เหมือนกัน เราต้องการสนับสนุนให้รถไฟฟ้าเกิด แต่บังเอิญยังมีครึ่งหนึ่งของตลาดยังไม่พร้อม ทำให้มีผู้ได้ประโยชน์ครึ่งหนึ่ง ก็จะกลายเป็นนโยบายที่ไม่กระจาย แต่มีข้อดีก็คือถ้านโยบายนี้ออกไป อาจจะเร่งให้อีกครึ่งหนึ่งรีบสนองนโยบายของรัฐ เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้น

เราเห็นแล้วว่าใครจะได้ประโยชน์จากรถไฟฟ้า ใครคือลูกค้าของคนที่จะซื้อ ตอนนี้ปริมาณรถไฮบริดยังมีน้อยอยู่ โครงการนี้อาจมากระตุ้นให้รถไฮบริดได้รับความสนใจ และใครที่ซื้อรถไฮบริดก็ได้ส่วนลดอีก 1 แสนบาท เมื่อเกิด Volume ก็อาจทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เมื่อเกิดการลงทุน ก็เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ทำให้เกิดแบตเตอรี่ที่ดีขึ้น เกิดการขับขี่ที่ดีขึ้น ลดมลพิษ สุดท้ายแล้วรถไฟฟ้าก็ต้องมาทั้งหมด คิดว่านโยบายของรัฐคงต้องการให้รถไฟฟ้าเกิดขึ้นสักที

อนุพล กล่าวว่า โครงการ“รถเก่าแลกรถใหม่”เป็นโครงการที่ดี สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และเรื่องสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ถือว่าเป็นการจุดประกายทำให้ประชาชนและผู้บริโภคหันมาสนใจรถที่มีเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ถ้าจะต้องการทำให้คนที่มีความสนใจด้านนี้เข้าถึงรถไฟฟ้า หรือรถยนต์กึ่งไฟฟ้าที่เรียกว่ารถไฮบริดได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น คิดว่าใช้โปรโมชั่นดีกว่า

เช่น ถ้าเขามีรถเก่า เขาสามารถมาแลกซื้อได้ เอาทะเบียนรถหรืออะไรที่ต้องพิสูจน์ได้ แล้วซื้อกันได้ทันที ก็จะเป็นการกระตุ้นและจะเร็ว ในภาวะอย่างนี้ตนเองมองว่าจะต้องทำให้เกิดการขายทันที เพราะเป็นการกระตุ้นเพื่อนโยบายการเงิน แต่เรื่องภาษีเหมือนนโยบายการคลัง ซึ่งจะช้าหน่อย

“ตอนนี้คนไม่มีเงินจะซื้อ ต้องทำอย่างไรให้คนมีเงินซื้อ ต้องไปคิดโปรโมชั่นเพื่อให้ซื้อง่าย ลดแลกแจกแถม ซื้อปุ๊บได้ปั๊บ เขาอาจจะจูงใจซื้อ แล้วสถาบันการเงินยอมปล่อยไฟแนนซ์ ตนเองบอกง่ายๆ เลย ไม่ต้องใช้เงิน รถทุกคันวันนี้ออกรถได้เลย ไม่ต้องดาวน์ แล้วรัฐบาลให้ประชาชนมองการซื้อรถเป็นการเช่ารถใช้ ให้ดอกเบี้ยพิเศษไป โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนดอกเบี้ย

ใครที่เอารถเก่ามาแลก ก็ตีราคารถเก่า แล้วรถเก่าก็เอาไปทำลาย สมมติราคารถเก่า 2 แสนบาท ที่เหลือก็ถือเป็นเงินดาวน์ไปแล้ว จากนั้นก็คิดดอกเบี้ย 0% แล้วรัฐบาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเป็นเงินกู้ที่พิเศษขึ้นมา ลองทำดูจำนวนแสนคัน คนก็จะมาเข้าคิวเลย เพื่อเช็กเครดิตว่าตัวเองซื้อได้หรือไม่ ก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วก็เปลี่ยนรถได้ด้วย”

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น