วางแผน “ทรัพยากรองค์กร” อย่างไร ..ช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

ERP เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยเรื่องการบริหารจัดการองค์กร โดยจะช่วยวางแผนการทำงานและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำ Big Data ให้เข้ามาอยู่ใน Single Database เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

ศิริวรรณ ติรเลิศ Executive Director บริษัท บริด ซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า การวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร หรือ ERP (Enterprise Resource Planning) เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราสามารถเข้าไปบริหารจัดการองค์กรได้ โดยจะรวบข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ขององค์กร ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายคลัง ฝ่ายผลิต ฝ่ายวางแผนการผลิต ฝ่ายบัญชี ฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายบุคคล ที่จะมีข้อมูลต่างๆ มากมาย เกี่ยวโยงกับ Big Data ให้เข้าสู่ระบบเดียว หรือ Single Database

ศิริวรรณ ติรเลิศ

ในบ้านเราการใช้ ERP อาจต้องใช้เวลา เพราะส่วนใหญ่จะไปให้ความสำคัญในส่วนของบัญชีก่อน เมื่อมีการนำ Big Data มาใช้ ก็จะเริ่มเขยิบจากการดูเฉพาะบัญชีอย่างเดียว มาเป็น ERP โดยสมบูรณ์ เพราะทุกอย่างอาจต้องมีการรวมศูนย์ของข้อมูล ไม่ใช่ฝ่ายขายก็มีข้อมูลฉบับหนึ่ง ฝ่ายจัดซื้อก็มีข้อมูลอีกฉบับหนึ่ง ข้อมูลก็กระจัดกระจาย

ประโยชน์ที่จะได้รับจาก ERP คือ เราจะมีตัวเครื่องมือ (Tools) เป็นซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยเราในการบริหารจัดการในองค์กร เพราะทรัพยากรในองค์กรเรามีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา บุคลากร วัตถุดิบต่างๆ เราจึงต้องวางแผนการทำงานและวางแผนการใช้ทรัพยากรของเราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดกำไรสูงสุด

ERP ไม่ใช่เรื่องของซอฟต์แวร์อย่างเดียว แต่คือเรื่องของบุคลากรหรือที่ปรึกษาที่เข้าไปช่วยในการวางระบบการบริหารจัดการในองค์กรให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญมากๆ ที่จะผลักดันและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมหรือองค์กรในบ้านเราพยายามใช้เทคโนโลยีที่สามารถเอามาใช้งานได้ และทำให้ผู้ประกอบการสามารถได้ข้อมูลที่สามารถนำมาตัดสินใจได้จริงๆ ทั้งเรื่อง Accuracy และ Accountability

ศิริวรรณ กล่าวว่า องค์กรที่จะใช้ ERP ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่ บริษัทที่เป็น Small Business ที่ผู้บริหารมีวิชั่นเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการ การควบคุมการทำงานต่างๆ ก็สามารถใช้ ERP ได้ ซึ่งคอนเซ็ปต์หลักในการเสนอลูกค้ามี 4 ปัจจัยหลักที่เราต้องดู คือ 1.เรื่อง Single Database ที่พัฒนามาจาก Big Data ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญ ไม่ใช่ข้อมูลขยะ

2.การทำงานต้องไม่ซ้ำซ้อน บางทีฝ่ายขายมีข้อมูลชุดหนึ่ง ฝ่ายจัดซื้อมีอีกชุดหนึ่ง และฝ่ายบัญชีมีอีกชุดหนึ่ง การทำงานจะซ้ำซ้อนเยอะแยะมากมาย แล้วความผิดพลาดก็จะตามมา 3.สามารถตรวจสอบย้อนกลับในส่วนของรายละเอียดต่างๆ ได้

เพราะ ERP ไม่ใช่เฉพาะการบริหารจัดการเฉพาะในส่วนของฝ่ายขาย ฝ่ายคลัง ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต แต่ต้องลงมาถึงปลายทางคือ เรื่องของ Financial Statement (งบการเงิน) ให้กับฝ่ายบริหาร เพื่อจะได้ดูว่าตอนนี้สุขภาพทางการเงินขององค์กรเป็นอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นใจในข้อมูลที่กำลังจะแสดงออกมาเป็นผลในรายงานว่า ข้อมูลนี้มีที่มาที่ไป มีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ 4.เรื่องเรียลไทม์ หรือทันต่อเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“สุดท้ายทุกองค์กรหนีไม่พ้นต้องใช้ ERP เพียงแต่เราจะเริ่มช้าหรือเร็ว ถ้าเราเริ่มได้เร็วก็มีข้อได้เปรียบ ผู้บริหารจะเห็นข้อมูลได้ชัดเจน Big Data จะเข้ามาช่วยเพื่อให้เราเอาข้อมูลจำนวนมากมาทำให้เป็นข้อมูลที่เกิดประโยชน์กับฝ่ายบริหารในการตัดสินใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิต รีเทลเทรดดิ้ง หรือเซอร์วิส สุดท้ายหนีไม่พ้นการใช้ ERP โดยเราต้องดูความเหมาะสมกับองค์กรของเรา ดูสเกลการโตขององค์กร และระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่องค์กรใช้ เช่น ถ้าใช้วินโดว์ต้องมีลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง”

ศิริวรรณ กล่าวว่า คอนเซ็ปต์การทำธุรกิจจะมี 3 ปัจจัยหลัก เรื่องแรกคือควอลิตี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสินค้าที่เราผลิตออกมาแล้วได้คุณภาพ เพราะสิ่งนี้มองเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ควอลิตี้คือความแน่นอนของการทำงาน เราต้องพยายามที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน ในเรื่องควอลิตี้ของข้อมูลและการปฏิบัติงานของเรา ว่าทำอย่างไรที่เราจะสามารถมั่นใจว่าการปฏิบัติงานของเราจะเป็นไปตามที่ได้วางแผนหรือตามที่มีการคาดหมายเอาไว้ ซึ่ง ERP เอง เวลาเราวางระบบ เราจะมองเรื่องควอลิตี้เป็นหัวใจเลย

ถัดมาเป็นเรื่องของต้นทุน เวลาเราไปเป็นที่ปรึกษาให้ทุกองค์กร เราจะเจอว่าเขาค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องการได้มาซึ่งข้อมูลในส่วนของต้นทุน เพราะเขาจะมองได้ในภาพรวม ภาพใหญ่ๆ ปลายปี ว่าลงทุนไปเท่านี้ ได้กำไรเท่านี้ แต่เราจะไม่เห็นเลยว่าปัญหาจริงๆ ของเราอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่สามารถลงไปดูในแต่ละการผลิต หรือในแต่ละเซอร์วิส หรือในแต่ละการขายของเราว่าต้นทุนจริงๆ อยู่ที่เท่าไร สุดท้าย คือ เรื่องของเดลิเวอรี่ หรือการส่งมอบ ถ้าเราส่งมอบไม่ได้ตามที่กำหนด ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเลือกทีมที่จะเข้ามาซัพพอร์ต ให้แมทช์กับตัวเอง โดยผู้ประกอบการต้องลงทุนในเรื่องของเวลา และเรื่องการใช้ทรัพยากรบางส่วน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ด้วย   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น