ทำอย่างไร จึงจะช่วยให้สภาพคล่องกระจายทั่วถึงในภาวะหนี้ท่วม!!

 ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ท่ามกลางภาวะหนี้ท่วม โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 80% ก่อนจะเกิดวิกฤติโควิด-19 และหลังเกิดโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นเป็น 83% เนื่องจากรายได้หดหาย คาดว่าสิ้นปีนี้ หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 87% เนื่องจากรายได้ประชาชาติ หรือรายได้ที่มาจากภาคการท่องเที่ยวนั้นหดหาย

ดังนั้น เมื่อมีการกู้ยืมในระดับรายครัวเรือน หรือรายบุคคล ก็สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความสามารถในการมีรายได้มาชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่รายได้หดหายไปเยอะ ส่วนตัวครัวเรือนซึ่งเป็นลูกจ้างประจำ หลายคนตอนนี้ทำงานไม่เต็มเวลา ก็จะได้รับค่าจ้างน้อยลงไปจากที่เคยได้รับ อีกทั้งโอทีก็ไม่มีแล้ว ทำให้เอสเอ็มอีต่างๆ กู้ยืมไม่ได้ และยอดปฏิเสธสินเชื่อก็เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในส่วนของครัวเรือน แรงงาน และผู้ประกอบการคนตัวเล็ก คือเลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปก่อน หรือลดค่างวดลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง ดอกเบี้ยยังคงวิ่งอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการ 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นการประคองกันไป แต่หนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ก็มีการปล่อยกู้ออกไปเพียง 70,000 ราย คิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 120,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลคงทราบเรื่องนี้แล้ว เพราะมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมที่ จ.ภูเก็ต ได้รีบนำมาตรการช่วยเหลือของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีวงเงิน 57,000 ล้านบาท มาช่วยค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการซอฟต์โลนของ ธปท. ที่ช่วยเหลือและค้ำประกันเพียง 2 ปี โดย บสย. จะช่วยค้ำประกันต่อในปีที่ 3 เป็นระยะเวลาอีก 8 ปี รวมกับระยะเวลาที่ ธปท.ช่วยเหลือและค้ำประกันใน 2 ปีแรก รวมเป็นทั้งหมด 10 ปี เพื่อที่จะช่วยกระจายสภาพคล่องทางการเงินไปได้อย่าง
ทั่วถึงมากขึ้น

สำหรับภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในขณะนี้ก็คือ การท่องเที่ยว โรงแรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ แต่สินค้าอุปโภคบริโภค น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะคนยังกินยังใช้อยู่ แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเมนู หรือสินค้า เพื่อให้เหมาะสมกับการประหยัด โดยสินค้าจะต้องราคาไม่แพง และต้องมีการลดราคา ถ้าไม่ลดราคาก็จะขายยาก

ส่วนการที่ธนาคารกรุงไทย พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามวิธีการพิจารณาของงบประมาณ แต่ธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นองค์การของรัฐประเภทหนึ่ง จะมีผลกระทบก็ในเรื่องของสถานภาพของพนักงาน กรรมการ หรือผู้บริหาร ที่ไม่ได้อยู่ในนิยามของคำว่ารัฐวิสาหกิจ แต่รัฐยังใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่าการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจากรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรของรัฐชนิดหนึ่ง จะกระทบต่อธุรกรรมอะไร หรือหน่วยงานใดบ้าง

สำหรับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่บ่มเพาะ ร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยเอสเอ็มอีใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม มาช่วยให้เอสเอ็มอีแข็งแรง และมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีกำไร มีต้นทุนลดลง สามารถใช้ช่องทางใหม่ในการดำเนินการได้

ตอนนี้ สสว.กำลังปั้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ที่เรียกว่า สมาร์ตเอสเอ็มอี โดยเสริมสมาร์ตเซอร์วิสเข้าไป ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ไปช่วยในการพัฒนา รวมทั้งช่วยในเรื่องของข้อมูล โดยเริ่มต้นด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ให้เอสเอ็มอีเหล่านี้สามารถขายของให้ภาครัฐได้ โดยผ่านสมาคม ชุมชนต่างๆ เพื่อให้คนเหล่านี้มีแรงซื้อจากภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *