ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล & Big Data มีผลอย่างไรกับการเลือกตั้งสหรัฐ & การรณรงค์ทางการเมือง

กลยุทธ์ของ Data Science ที่ใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีการพัฒนาไปมาก แต่จะระวังเรื่องการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ ซึ่งการนำ Big Data มาใช้เพื่อโน้มน้าวใจคน หรือการพัฒนาอัลกอริทึม ที่เอา AI เข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมคน สามารถเปลี่ยนใจคนได้ในวินาทีสุดท้ายของการเลือกตั้ง

ปฐม อินทโรดม ประธานสถาบันดิจิทัลเพื่อการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคม และกรรมการ บมจ. เออาร์ไอพี (ARIP) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ Digital Divide หรือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลจะทำให้มีความต่างกันระหว่างคนที่เข้าถึงดิจิทัลและเข้าถึงไม่ได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็น reverse หรือ ย้อนกลับ คือยิ่งมีข้อมูลเยอะ ก็ยิ่งเข้าใจว่าตัวเองเข้าถึงดิจิทัลมาก เข้าถึงแหล่งข้อมูลใหม่ๆ รู้ข้อมูลที่คนอื่นไม่รู้มากขึ้น ก็จะทำให้แต่ละคนมีโลกคนละใบ นี่คือสิ่งที่สังคมอเมริกาและเมืองไทยกำลังเจออยู่ในเวลานี้

ปฐม อินทโรดม

คนที่อยู่ในโลกแต่ละใบก็จะไม่มาบรรจบกัน และจะเชื่อมั่นในข้อมูลที่ตัวเองมี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะสังคมแบบนี้จะทำให้คนที่เสพสื่อผ่านสื่อดิจิทัลสร้างคนที่สุดโต่งออกมามากขึ้นเรื่อยๆ คนที่มีแนวความคิดทั่วไป มีความคิดเป็นเหตุผล มีตรรกะที่ดี จะไม่ได้รับความนิยม เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าสุดโต่ง หรือมีนโยบายอะไรที่แหวกแนว รุนแรงมากๆ คนเหล่านี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น พวกสุดโต่งจะได้รับความนิยมเสมอ เมื่อมีการเลือกตั้ง กลุ่มนี้จะได้คะแนนเลือกตั้งที่มากกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด อย่างที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามทำ

“พวกสุดโต่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยแตกแยกลงมาถึงระดับครอบครัว ซึ่งตอนนี้ในอเมริกากำลังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพ่อกับลูก แม่กับลูก ไม่คุยกันแล้ว หลายๆ บ้านให้ลูกออกจากบ้านไปเลย เพราะความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละฝ่ายก็เชียร์ฝ่ายของตัวเองไม่ลืมหูลืมตา ท้ายสุดก็กลายเป็นการปะทะกันทางความคิด ไม่ต่างจากบ้านเราเลย กระแสชูสามนิ้ว ก็ทำให้หลายๆ บ้านมีปัญหาแบบเดียวกันเป๊ะ ทั้งที่บ้านเรายังไม่มีเลือกตั้ง”

ปฐม กล่าวว่า การนำ Big Data มาใช้โน้มน้าวใจคน หรือมากกว่านั้นคือการพัฒนาอัลกอริทึม ที่เอา AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาจับพฤติกรรมของคน และสามารถเปลี่ยนใจคนได้ในวินาทีสุดท้ายของการเลือกตั้ง ซึ่งการที่คนอเมริกันออกไปเลือกตั้งล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกระแสโควิด-19

แต่เชื่อว่าคนจำนวนมากรู้ว่าโค้งสุดท้ายของการหาเสียงจะมีการกระหน่ำเรื่องของโซเชียลมีเดีย เรื่องของเฟกนิวส์ เรื่องของ AI ที่จะกระหน่ำข้อมูลที่จะทำให้เราเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย เขาจึงไปเลือกตั้งเสียก่อน เพื่อตัดตัวเองออกจากวงจรนั้น เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่แล้วชัดเจนเลยว่า สัปดาห์สุดท้ายเป็นช่วงที่คนเปลี่ยนใจมากที่สุด เพราะถูกเคมบริดจ์ แอนนาไลติกา กระหน่ำข้อมูลใส่

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ กลยุทธ์ของ Data Science มีการพัฒนาไปเยอะมาก อัลกอริทึมต่างๆ ในการจับพฤติกรรมผู้บริโภคก็มีการพัฒนามากขึ้น แต่การใช้งานจะไม่เหมือนครั้งที่แล้ว ที่เฟซบุ๊กถูกปรับมหาศาล แสนห้าหมื่นล้านบาท กรณีมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้เพื่อผลประโยชน์ในทางเมือง

ดังนั้นการทำแคมเปญในการเลือกตั้งครั้งนี้จะต่างจากครั้งที่แล้ว การทำเฟกนิวส์ การปล่อยข่าวบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเพื่อทำให้คนหันมาเลือกข้างตัวเองจะแอบทำในลักษณะใต้ดินมากขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ต่างจากบ้านเราคือทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น

“ผมว่าท้ายสุดเจ้าของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ถึงเวลาต้องมาจับเข่าคุยกันแล้วว่า จะหาทาง Compromise ในสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างไร ถ้าปล่อยไว้เขาจะเป็นต้นตอที่ทำให้สังคมอเมริกาเกิดการปะทะกัน ทุกวันนี้กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ไม่ได้แค่ปะทะกันทางโลกออนไลน์ แต่มาปะทะกันในโลกออฟไลน์ ในความเป็นจริงกันแล้ว เราเห็นกันแล้วในหลายรัฐ ถ้าทรัมป์แพ้ เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวาย ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนเห็นภัยอันตรายของการใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะที่สุดโต่งแบบนี้” ปฐม กล่าว

ปฐม กล่าวว่า การเลือกตั้งอเมริกาครั้งนี้ ให้บทเรียนเราหลายๆ ข้อ โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด ถ้าครอบครัวแตกแยกเพราะโซเชียลมีเดีย เพราะถูกกระแสที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล ทำให้เกิดความเกลียดชังกันในครอบครัว ตนเองคิดว่าเรื่องนี้ซีเรียส เป็นเรื่องใหญ่ กลายเป็นว่าคนในครอบครัวไม่คุยกัน และที่สำคัญคือคนในครอบครัวทุกคนกลับคิดว่าตัวเองคือเสียงข้างมาก เราต้องลืมคำนี้ไปก่อน ลืมว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมาก เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีการเลือกตั้ง

“ผมคิดว่าเราต้องตระหนักในเรื่องนี้ อย่ามโน พอเราเห็นพวกเราเยอะๆ เห็นในโซเชียลมีเดีย มีคนมาอยู่ในกรุ๊ปเป็นล้านๆ คน เพราะฉะนั้นเราคือเสียงข้างมาก มันไม่ใช่ ต้องคิดตรงนี้ก่อน และต้องเปิดใจรับฟังคนอื่นบ้าง น้องรุ่นใหม่ก็ต้องฟังรุ่นคุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่าว่าเขาคิดอย่างไร ทำไมเขาถึงมีเหตุผลอย่างนี้ แล้วประเทศเราผ่านอะไรมาบ้างถึงเป็นแบบนี้ เช่นเดียวกันคุณปู่คุณย่าคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องฟังรุ่นลูกรุ่นหลานว่าทำไมเขาถึงรู้สึกกังวลกับอนาคตของเขา เขากลัวอะไรว่าจะทำให้อนาคตเขาไม่สดใสเท่าที่ควร เรื่องพวกนี้ควรต้องเอามาคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทะเลาะกันอย่างที่ผ่านมา” ปฐม กล่าว

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น