ปานามา เกอิชา”กุหลาบคิมหันต์”แห่งแคริบเบียน

ประเทศปานามาเป็นแหล่งผลิตสายพันธุ์กาแฟในตำนานอันโด่งดังที่ชื่อ เกอิชา/เกชา  (Geisha/Gesha Coffee)

จัดเป็นหนึ่งในกาแฟที่แพงที่สุดในโลก ด้วยผสมผสานอย่างกลมกล่อมระหว่างการทำไร่กาแฟแบบครอบครัวที่ใส่ความพิถีพิถันลงไปในทุกขั้นตอน กับสายพันธุ์กาแฟดั้งเดิมที่ผ่านการดูแลเอาใจใส่จนเข้าสู่ระดับ world-class  ทำให้กาแฟหอมกรุ่นจากทะเลแคริบเบียน คว้าหัวใจนักดื่มทั่วโลกไปครอบครองได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

การผลิตกาแฟในปานามาในแต่ละปี มีตัวเลขอยู่ที่  6,000 ตัน ถือว่าน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับเจ้าตลาดหลักล้านตันอย่าง บราซิล เวียดนาม และ โคลอมเบีย ทว่าไร่กาแฟของที่นี่จัดว่ามีคุณภาพสูง ประมาณว่า “เล็กดีรสโต” เป็นกาแฟดินภูเขาไฟ เก็บเกี่ยวด้วยมือ ผลิตจำนวนน้อยแต่ขายได้ราคาสูงลิ่ว อันเป็นเทรนด์ของตลาดกาแฟยุคใหม่

อัตลักษณ์การผลิตและแปรรูปกาแฟของปานามานั้น มุ่งเน้นดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบๆ ตัว มีแรงงานคนเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้มือปลิดผลเชอรี่กาแฟสุกเต็มที่ ภายใต้คอนเซปท์ กาแฟ ป่า และ คน กลมกลืนกันอยู่ในระบบนิเวศ ทำให้เป็นที่สนใจของจากนักธุรกิจยุโรปและสหรัฐที่ทุ่มเงินเข้ามาซื้อไร่กาแฟยุคบุกเบิกหลายแห่ง เพื่อทำไร่กาแฟออร์แกนิคและกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee)

วิธีตากกาแฟแบบดั้งเดิมของไร่ Cafe Ruiz ภาพ : Dirk van der Made

เนื่องจากเป็นราคาแพงติด ท็อปเท็น ของโลก แน่นอนว่าการเดินทางมีต้นทุนเสมอทางเศรษฐกิจ… ราคากาแฟเกอิชา ในปานามา ตกประมาณ 9 ดอลลาร์ต่อหนึ่งแก้ว แต่หากอยู่ในนิวยอร์กอาจต้องควักกระเป๋าจ่ายถึง 18 ดอลลาร์ต่อแก้ว   และพุ่งลิ่วถึง 68 ดอลลาร์ในดูไบ เห็นตัวเลขแล้วต้องร้องโอ้โห..กันเลยทีเดียว

ปานามาตั้งอยู่ในโซนอเมริกากลาง ติดทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก มีคลองปานามาที่มีชื่อเสียง ติดหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์สมัยใหม่ของโลก และมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอันงดงามไม่มีใครเหมือนอยู่มากมายทั้ง ชายหาด ภูเขา ป่าดงดิบ และไร่กาแฟ

หากมีโอกาสไปเยือนปานามาแล้ว ไม่ได้จิบกาแฟเกอิชา พร้อมกับชมวิวป่าสวยน้ำใส  ถือว่า “มาไม่ถึง” ประเทศนี้เพราะเป็นกาแฟที่มีกลิ่นหอมดอกไม้และผลไม้ตระกูลส้ม บอดี้เบานุ่มละมุนคล้ายชา เรียกว่าโปรไฟล์ดีมีเสน่ห์ทั้งประวัติ รสชาติ และราคา จึงมีการตั้งสมญาให้กาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมนี้ไว้อย่างเฉิดฉันว่า Rose Summer หรือ กุหลาบคิมหันต์

Boquete Valley แหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของปานามา ภาพ : Ayaita

กาแฟในปานามา ปลูกกันมาบริเวณหุบเขา Boquete Valley”  เมืองเล็กๆ ที่มีแม่น้ำคาลเดราไหลผ่าน ล้อมรอบด้วยที่ราบสูง Chiriqui Highlands  อากาศที่นี่ค่อนข้างเย็นและหมอกลงจัดมาก จัดเป็นเมืองที่มีจุดขายในด้านธรรมชาติอันบริสุทธิ์งดงาม แต่ละปีต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมไปถึงคนไทยเราด้วย ไร่กาแฟหลายแห่งที่เก่าแก่ ก็เปิดทำธุรกิจทัวร์ มีไกด์นำชมกันถึงไร่ พร้อมชิมกาแฟสดอร่อยๆ อย่างจุใจ ถือเป็นอีกไฮไลท์ที่น่าสนใจของปานามาทีเดียว

ไม่แปลกใจเลยที่เมือง Boquete จะเป็นที่รู้จักในนาม Bordeaux of coffee” เนื่องจากมีดินที่อุดมไปด้วยเถ้าภูเขาไฟ รวมกับอากาศที่เย็นสบายของภูเขา ระดับความสูง 2,300–3,500 ฟุตจากระดับน้ำทะเล เหมาะยิ่งต่อการเติบโตของสายพันธุ์อาราบิก้า มีการปลูกกาแฟหลากหลายสายพันธุ์ทั้ง Typica, Caturra, Catuai, Bourbon, San Ramon, Pache และ Mundo Novo รวมทั้ง Geisha สายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด

ปานามาตกเป็นอาณานิคมของสเปนในศตวรรษที่ 16 แต่ประวัติแหล่งปลูกกาแฟนั้นสืบสาวย้อนหลังไปได้ราวต้นศตวรรษที่ 20  ถือว่าไม่นานเมื่อเทียบกับแหล่งปลูกกาแฟอื่นๆ ในทวีปอเมริกา อย่าง บราซิล จาไมกา กัวเตมาลา หรือ เฮติ

แต่ด้วยความมุ่งมั่น ลึกซึ้ง บวกกับความเชี่ยวชาญของทีมงานเจ้าของไร่ ที่ได้บ่มเพาะหล่อเลี้ยงกาแฟปานามาจากที่เคยไร้ชื่อเสียงให้เป็นกาแฟมีคุณภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก เรียกว่า คาเฟ่ยุคใหม่ ต้องมีกาแฟในตำนานอย่างเกอิชา เป็นนางเอกไว้คอยบริการนักดื่มสายดำที่นิยมกาแฟดริปทั้งหลาย

ตามปูมกาแฟโลกนั้น กาแฟเกอิชา เป็นหนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีต้นกำเนิดจากเขตป่าฝนของเทือกเขา “Gesha”  ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย เชื่อว่าบริเวณนี้เองเป็น “บ้านเกิด” ของกาแฟป่าหลายสายพันธุ์ที่เติบโตขึ้นตามธรรมชาติ มีบันทึกว่าได้ค้นพบอย่างเป็นทางการครั้งแรกในทศวรรษ 1930  ก่อนจะมีการส่งเมล็ดพันธุ์ไปยังอเมริกากลาง และเข้าสู่ปานามาในปีค.ศ. 1960

บันทึกบอกอีกว่า กัปตัน ริชาร์ด วัลเลย์ กงสุลอังกฤษประจำเคนยา ส่งคนพื้นเมืองเข้าไปเก็บตัวอย่างเมล็ดกาแฟป่าบริเวณเทือกเขา Gesha ของเอธิโอเปีย เมื่อปี ค.ศ. 1931  มีการนำกลับไปปลูกที่เคนย่าในปี ค.ศ. 1932 และอีก 4 ปีต่อมา ก็นำไปปลูกต่อยังในยูกันดาและแทนซาเนีย ซึ่งก็เป็นแทนซาเนียจากนี้เอง  ที่เมล็ดกาแฟถูกนำขึ้นเรือส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปยัง คอสตาริกา ในปีค.ศ. 1953

ในปีค.ศ. 1963 ปาชี เซอร์ราซิน  ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า  ดอน ปาชี แห่งไร่  Don Pachi Estate  ซึ่งทำงานให้กระทรวงเกษตรปานามา เป็นผู้นำสายพันธุ์เกอิชาจากสถานีวิจัยพืชเกษตรของคอสตาริกา เข้าไปปลูกยังเขต  Boquete  ของปานามา เนื่องจากเห็นว่าเป็นพันธุ์กาแฟที่สามารถต้านทานต่อโรคราสนิมที่กำลังระบาดไปทั่วอเมริกากลางได้ในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม การปลูกกาแฟเกอิชาในปานามาในระยะเริ่มแรกนั้น ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ออกจะล้มเหลวด้วยซ้ำ เพราะการนำสายพันธุ์กาแฟที่เติบโตได้ดีในพื้นที่สูง ไปปลูกยังพื้นที่ต่ำซึ่งมีการระบาดของโรคราสนิมรุนแรงนั้น ปรากฎว่าเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิต กลับให้รสชาติไม่ดีเอามากๆ   ทำให้กาแฟเกอิชาถูกทอดทิ้งและหลงลืมมานับสิบๆ ปี

ในปี ค.ศ. 1998  มีเหตุฝนตกหนักในพื้นที่ Chiriqui  เกิดโรคราระบาดไร่กาแฟย่าน Boquete  หลายแห่งตกอยู่ในภาวะสูญเสีย ต้นกาแฟล้มตายไปถึงครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงไร่กาแฟซึ่งครอบครัวอเมริกันได้เข้าไปลงทุนซื้อเอาไว้ด้วย  มีเพียงกาแฟ 3 สายพันธุ์เท่านั้นที่เหลือรอดจากวิกฤติการณ์ หนึ่งในนั้นคือ เกอิชา  สถานการณ์นี้…ถือเป็นจุดพลิกผันที่นำไปสู่การ “กำเนิดใหม่”  ของกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมในตำนาน

เรื่องราวเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1964  รูดอล์ฟ เอ. ปีเตอร์สัน แบงเกอร์ชื่อดังชาวแคลิฟอร์เนีย ได้ซื้อไร่กาแฟนปานามาชื่อ  Hacienda La Esmeralda หวังใช้เป็นที่พักพิงยามเกษียณอายุ แต่ด้วยภารกิจที่แบกรับไว้ในฐานะประธานแบงก์ ออฟ อเมริกา  ทำให้ในปีค.ศ. 1973 เขาจึงมอบหน้าที่การบริหารไร่ให้กับ ไพรซ์ ปีเตอร์สัน ลูกชายที่จบดร.สาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งความรู้ที่ร่ำเรียนมานี้เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดการบริหารไร่กาแฟ

ในปี ค.ศ. 1996 ครอบครัวปีเตอร์สัน ได้ซื้อไร่กาแฟอีกแห่งชื่อ Esmeralda Jaramillo แล้วก็เป็นแปลงหนึ่งของไร่นี้ที่พวกเขาค้นพบต้นกาแฟสายพันธุ์เกอิชา

การค้นพบกาแฟหายากเช่นนี้ ก็เหมือนกับการถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่เลยทีเดียว ครอบครัวปีเตอร์สันนำต้นกล้าเกอิชาไปปลูกในจุดที่สูงสุดของไร่ หลังจากใช้เวลาฟูมฟัก 6-7 ปี  การชิมเพื่อแยกกลิ่นและรสชาติ (cupping ) ก็เริ่มต้นขึ้นโดย แดเนียล ปีเตอร์สัน

เหนือความคาดหมาย เกอิชาให้กลิ่นผลไม้และดอกไม้ซับซ้อน ทั้งลูกพีช มะกรูด และดอกมะลิ

ในปีค.ศ. 2004  เกอิชาที่ส่งเข้าแข่งขันในนามไร่ Hacienda La Esmeralda เริ่มต้นสร้างความตื่นตะลึงให้วงการ  เมื่อคว้ารางวัลประมูลกาแฟยอดเยี่ยมของปานามา (Best of Panama Auction) และอีกมากมายในการประกวดระหว่างประเทศ กลายเป็นกาแฟที่ผลิตจากไร่เดียวที่แพงที่สุดในโลก สร้างชื่อเสียงให้ Hacienda La Esmeralda ในฐานะไร่กาแฟคุณภาพสูง

รางวัลบางส่วนของไร่ Hacienda La Esmeralda ภาพ : https://auction.bestofpanama.org

ขณะที่กาแฟเกอิชา ก็ตื่นจากหลับใหลกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของโลกกาแฟอีกดวง นับจากนั้นมา ธุรกิจกาแฟพิเศษของปานามาก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง

กาแฟเกอิชาทำลายสถิติโลกเรื่องราคาประมูลกาแฟเป็นว่าเล่น แรกนั้นมีราคาประมูลที่  21 ดอลลาร์ต่อปอนด์  ราคาขยับขึ้นเป็น 130 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในปี ค.ศ. 2007 ก่อนทะยานขึ้นสูงถึง  601 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในอีก 10 ปีต่อมา

ในปี ค.ศ. 2018 กาแฟเกอิชาจาก Lamastus Family Estates  ไร่กาแฟอันเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ก็สร้างสถิติราคาประมูลไว้ที่ 803 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ตามด้วยไร่ Elida Estate ที่ราคา 1,029 ดอลลาร์ต่อปอนด์  ล่าสุดในเดือนกันยายนปีนี้เอง ไร่กาแฟ Ninety Plus ในปานามา ก็ทำลายสถิติโลกใหม่ในการประมูลที่ดูไบในราคา 10,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม

ในเวลาไม่กี่ปี สายพันธุ์เกอิชา ก็ถูกนำไปปลูกทั่วปานามา มีลูกค้ารายใหญ่ให้การต้อนรับมากมายทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ยุโรป จีน เกาหลีใต้ ดูไบ ออสเตรเลีย และในอีกหลายประเทศ  เนื่องจากรสชาติที่ไม่ธรรมดา ความต้องการสูง ทั้งแคมเปญการตลาดที่ช่วยผลักดันราคาให้เพิ่มขึ้นส่งผลให้ไร่กาแฟหลายแห่งในทวีปอเมริกาอย่าง โคลอมเบีย  กัวเตมาลา  เอล ซัลวาดอร์ และ ฮอนดูรัส  เริ่มตามรอย นำสายพันธุ์เกอิชามาปลูกกันบ้าง

สารกาแฟพร้อมจำหน่ายของไร่ Gesha Village Coffee Estate ในเอธิโอเปีย ภาพ : www.instagram.com/geshavillage/

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ชื่อกาแฟ Geisha นั้นมาได้อย่างไรกัน ไฉนเขียนเหมือนกันคำเกอิชาในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงสตรีผู้ชำนาญทางศิลปะและให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ถึงกับมีการนำภาพสตรีเกอิชามาทำเป็นแบรนด์กาแฟกันไปเลยก็มี ทั้งๆ ที่ควรมีชื่อและเขียนให้ถูกต้องตามแหล่งกำเนิดเดิมในเทือกเขา Gesha  ของเอธิโอเปีย

ความสับสนในเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปยังปีค.ศ.1936 ในจดหมายที่กงสุลอังกฤษส่งไปถึงกระทรวงเกษตรในกรุงลอนดอนนั้น  มีการระบุถึง เทือกเขา Geisha และ กาแฟ  Geisha ไว้ในจดหมายด้วย แน่นอนว่าไม่มีเทือกเขาชื่อ Geisha ในเอธิโอเปีย จะมีก็แต่ชื่อ Gesha จึงสันนิษฐานกันว่าสาเหตุที่ชื่อเพี้ยนไปนั้นเกิดจากความผิดพลาดของกงสุลอังกฤษ และเมื่อกาแฟเดินทางไปถึงอเมริกากลาง ชื่อ Geisha ก็ติดตามไปด้วย

เมล็ดกาแฟเกอิชาจากไร่ TrulyAll ในโคลอมเบีย วางขายบนเว็บ amazon.com

อย่างไรก็ตาม ย่าน Gesha  ของเอธิโอเปีย ก็มีการทำไร่ปลูกกาแฟกันมาจนถึงปัจจุบัน มีไร่กาแฟชื่อ Gesha Village Coffee Estate เปิดตัวขึ้น เพื่อผลิตสายพันธุ์ในตำนานตามชื่อแหล่งกำเนิดเดิม Gesha  Coffee” ทำให้กาแฟสายพันธุ์นี้มีแหล่งผลิตที่สำคัญแยกกันเป็น 2 สายหลักๆ  คือ สายปานามาจากอเมริกากลาง และ สายเอธิโอเปียจากกาฬทวีป

พูดถึงเรื่องชื่อเสียงเรียงนาม สายแรกนั้นโด่งดังเป็นพลุแตก  ส่วนสายหลังเพิ่งแจ้งเกิด …เอาเข้าจริงๆ แล้ว สำหรับคอกาแฟแล้ว อยากรู้เหมือนกันว่า รสชาติและกลิ่นจะแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน  ผู้อ่านท่านใดเคยลองเทสแล้ว โปรดช่วยบอกต่อด้วยนะครับ


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น